สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ทรงเปิดงานวิชาการ Thailand-Japan Student Science Fair 2020 ที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ถ่ายทอดสดจาก วังสระปทุม
พุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.14 น.
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 ก.พ. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ห้องประชุม วังสระปทุม ทรงเปิดงาน Thailand-Japan Student Science Fair 2020 แบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบถ่ายทอดสด โดยกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเจ้าภาพจัดงาน Thailand-Japan Student Science Fair 2020 เป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 24–25 ก.พ. 2564 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และศิลปวัฒนธรรมผ่านการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ (Science Project) และทำกิจกรรมภายใต้แนวคิด “Seeding Innovation through Fostering Thailand-Japan Youth Friendship” เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อเสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 400 คน ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู และนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น จำนวน 53 โรงเรียน ประกอบด้วยสถาบันโคเซ็น 7 แห่ง โรงเรียน Super Science High School 17 แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย 29 แห่ง กิจกรรมหลักคือการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์มากถึง 124 โครงงาน และมีกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ กิจกรรมศึกษาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลผ่านระบบออนไลน์ ณ หาดราชมงคล หาดปากเมง เกาะลิบง อ่าวขาม จังหวัดตรัง และกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมโดยผ่านการศึกษาดูงานเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ โดยมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตรัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เป็นสถานที่หลักในการรับสัญญาณออนไลน์จากที่ต่าง ๆ ถ่ายทอดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานทั้งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้รับชม
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดงานพร้อมกับได้ทอดพระเนตรพิธีเปิดแบบออนไลน์และการแนะนำโรงเรียนที่ร่วมเสนอผลงาน และทรงฟังการบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์ ดร.ทากะอะกิ คาจิตะ (Professor Dr. Takaaki KAJITA) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปีคริสต์ศักราช 2015 เกี่ยวกับสมบัติของการแกว่งกวัดนิวตริโน (Neutrino Oscillation) การวิจัยค้นพบว่าอนุภาคนิวตริโนมีสมบัติที่สามารถเปลี่ยนชนิดของอนุภาคนิวตริโนชนิดหนึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่านิวตริโนมีมวล อันส่งผลให้เกิดความรู้ใหม่ด้านฟิสิกส์ โดยทีมนักวิจัยจึงได้สร้างเครื่องตรวจวัดใหม่ เรียกว่า Super Kamiokande (ซูเปอร์คามิโอกานเด) หรือ Super K โดยสร้างขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรมากกว่า 190 องค์กร ซึ่งการค้นพบที่สำคัญครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านิวตริโนเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับอนุภาคมูลฐานและจุดกำเนิดของจักรวาล และทอดพระเนตรการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 2 โครงงาน ได้แก่ 1. โครงงานสาขาฟิสิกส์ เรื่องปรากฏการณ์ของการปรับปรุงลักษณะดาวเทียมกระป๋อง โดยมุ่งเน้นที่การทดลองการบิน ของ Tokyo Tech High School of Science and Technology ประเทศญี่ปุ่น อันเป็นการศึกษาการลดระดับความสูงของดาวเทียม Cansat ซึ่งจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ CMP-Convergence ซึ่งเป็นผลมาจากไจโรสโคปที่ติดมากับดาวเทียม และ 2. โครงงานสาขาวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องแบบจำลองการเพิ่มอัตราการไหลด้วยสมการ เฮลิคอยด์สำหรับการลำเลียงลิ่มเลือดในการรักษาทางการแพทย์ ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จากการวิจัยพบว่าเกลียวเฮลิคอยด์ทรงพาราโบรอยด์สามารถเพิ่มอัตราการไหลของการลำเลียงลิ่มเลือดในทางการแพทย์ได้ดีกว่าทรงกรวยและทรงกระบอก
อย่างไรก็ตาม การจัดงานครั้งนี้มีส่วนสำคัญช่วยให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านการศึกษา อีกทั้งช่วยให้นักเรียนได้สร้างเครือข่ายมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%