กลุ่มเยาวชนและชาวไทยเชื้อสายมอญ บ้านนครชุมน์ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้มารวมตัวกันเพื่อเข้าเรียนรู้การย้อมผ้าด้วยเทคนิค Eco printing โดยใช้ใบไม้ที่มีอยู่ในชุมชน มาผลิตเป็นชิ้นงาน เป็นแนวทางต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอนาคต
พฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.34 น.
นายธนากร สดใส หรือ อาจารย์กอล์ฟ วิทยากรบรรยาย เปิดเผยว่า สำหรับการทำ Eco printing เป็นการย้อมผ้าที่อาศัยวัสดุธรรมชาติ มาผ่านกระบวนการนึ่ง หรืออบไอน้ำ โดยใช้สารช่วยย้อม หรือ Mordant ซึ่งจะช่วยทำให้สีที่ย้อมมีความคงทน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จึงมีเอกลักษณ์ การทำ Eco printing เริ่มจากการนำใบไม้ในท้องถิ่นมาแช่ลงในน้ำผสมผงสนิม ทิ้งไว้นานประมาณ 1 ชั่วโมง ในระหว่างนี้ให้นำผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติมาแช่ในน้ำที่ผสมสารส้ม ทิ้งไว้นานประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนำผ้าที่ผ่านการแช่สารส้มมาวาง แล้วนำใบไม้ที่ได้มาจัดวางให้ได้สัดส่วน และอยู่ตรงกลาง สำหรับเป็นลวดลาย พับทบชายผ้าทั้ง 2 ข้าง ให้เรียบร้อย ก่อนนำกระบอกไม้ไผ่มาวางบนผ้า แล้วจึงค่อยม้วนผ้ามัดด้วยเชือกให้แน่น นำม้วนผ้าที่ได้ไปนึ่งไฟ ใช้เวลานานประมาณ 45 นาที จากนั้นนำม้วนผ้าที่ผ่านการนึ่ง ไปแช่ในน้ำด่างที่มีส่วนผสมของน้ำปูนใสนานประมาณ 15 นาที ก็จะได้ผ้าที่มีลวดลายใบไม้และสีจากธรรมชาติ ก่อนนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์
ด้าน นายอิงครัต สร้อยทอง อายุ 19 ปี เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม เปิดเผยว่า ด้วยในช่วงชีวิตสมัยเป็นวัยรุ่น ตนจะติดเพื่อน ทำให้ไม่สนใจเรียน จนต้องออกจากการศึกษาในระบบ ก่อนไปทำงานรับจ้างในโรงงาน และใช้เวลาในช่วงวันหยุดไปศึกษาต่อที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อ.บ้านโป่ง กระทั่งได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งตนมองเห็นว่ากิจกรรมนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจและสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้นได้ โดยในครั้งนี้ ทางกลุ่มได้เลือกนำใบไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนหลายชนิดมาใช้ อาทิ ใบสัก กระเจี๊ยบ ตะขบ ยูคาลิปตัส โดยเฉพาะ ต้นมะตาด พืชขึ้นชื่อของชาวมอญ ที่จะนิยมนำผลมะตาด รสเปรี้ยว มาเข้าสำรับเมนูอาหาร ส่วนใบมะตาด เมื่อนำมาทำพิมพ์ลาย พบว่ามีสีน้ำตาลอ่อน ลายลายเส้นใบสวยงาม
ทางด้าน น.ส.ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคตะวันตกเขตตะนาวศรี ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้ขาดแคลนทุน หรือด้อยโอกาสนับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงงาน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความยากจนอันเป็นรากเหง้าของปัญหาอื่นๆ สำหรับเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคตะวันตก เขตตะนาวศรี จะทำงานครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ จะเป็นในเรื่องของปัญหาความยากจน ครอบครัว กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสถานะทางบุคคล ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยทางเครือข่ายก็จะเข้าไปส่งเสริมทักษะทางอาชีพ ด้วยการนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาสร้างมูลค่า อาทิ การเลี้ยงสัตว์ การประมง เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%