-- advertisement --


“นักบิน” อาชีพในฝันของหลายคน ต้องเจอฝันร้ายไม่ต่างจากหลายอาชีพในช่วงโควิด-19 ระบาด กัปตันปิยะ ตรีกาลนนท์ ซีอีโอ บริษัท บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอซี ก็เช่นกัน และยิ่งไปกว่านั้นกัปตันปิยะ ซึ่งเคยรับราชการในกองทัพอากาศ เป็นนักบินพระที่นั่ง นักบินไทยแอร์เอเชีย แต่ปัจจุบันพลิกบทบาทมาเป็นเจ้าของโรงเรียนสอนนักบินมาแล้ว 18 ปี ต้องประคองธุรกิจเพื่อปั้น “นักบิน” ให้สามารถทำตามฝันของตัวเอง ท่ามกลางช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของธุรกิจการบิน

18 ปี นับจากวันที่เดินออกจากการเป็นลูกจ้างสายการบินไทยแอร์เอเชีย มาลงทุนเปิดโรงเรียนสอนนักบิน มีนักเรียนจบไปเป็นกัปตันแล้วกว่า 2,000 คน ส่วนใหญ่ไปทำหน้าที่เป็นนักบินการบินไทย และไทยแอร์เอเชีย และหากไม่มีโควิด-19 เวลาแห่งความรุ่งเรืองคือในปี 2564 นี้ ที่โรงเรียนของกัปตันปิยะ จะมีนักเรียนการบินหลายร้อยคน ที่ส่งมาจากมหาวิทยาลัยเอแบค มหาวิทยาลัยรังสิต คนที่อยากมาเรียนเพื่อเตรียมสอบเป็นนักบิน และมีนักบินที่การบินไทย และไทยแอร์เอเชียส่งมาเรียน

มากไปกว่านั้น คือจะมีนักบินจากประเทศในเอเชียที่บีเอซี ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทซีเออี บริษัทเทคโนโลยีการบิน และโรงเรียนสอนการบินระดับโลก ส่งต่อนักบินในเอเชียมาเรียนในไทย โดยเฉพาะแอร์เอเชีย ที่มีฐานการบินใหญ่ในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย  ด้วยจุดเชื่อมโยงที่บีเอซี มีผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งคือ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยแอร์เอเชีย

จากวันแรกที่เริ่มเปิดธุรกิจโรงเรียนสอนนักบิน บีเอซีมีเครื่องบิน 1 ลำ เมื่อธุรกิจการบินเฟื่องฟูนับตั้งแต่โลว์คอสต์แอร์ไลน์ได้รับความนิยม ปัจจุบันมีเครื่องบินฝึกบิน 47 ลำ แต่ตอนนี้มีแค่ 10 ลำที่ยังถูกใช้สอนนักเรียนการบินประมาณ 60 คน ส่วนที่เหลือรออยู่ที่ลานจอดข้างรันเวย์ย่านรังสิต พร้อมๆ กับที่กัปตันปิยะต้องลดพนักงานจาก 300 คน เหลือ 101 คน ครูการบินจาก 80 คน เหลือ 28 คน ตามแผนลดค่าใช้จ่ายให้ได้ 70% ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อประคองธุรกิจไปต่อให้ได้อีก 3 ปี

“อีกไม่นานธุรกิจการบินจะฟื้น” นั่นคือความหวังของกัปตันปิยะ ที่ส่วนหนึ่งมาจากซีเออี ซึ่งมีพันธมิตรสายการบินอยู่ทั่วโลกในฐานะผู้จำหน่ายเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) วิเคราะห์ไว้ว่าในปี 2565 ธุรกิจการบินจะกลับมาคึกคักเหมือนปี 2562 หลังจากปี 2563-2564 ธุรกิจการบินต้องชะงัก และนักบินถูกปลดออกจากงานจำนวนมาก เพราะผู้โดยสารหายไป

สอดคล้องกับการประเมินของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Transport Association หรือ IATA) ที่ว่า การเดินทางของผู้โดยสารทั่วโลกจะกลับมา หลังจากมีวัคซีนโควิดแล้ว 2 ปี และบรรยากาศการเดินทางจะคึกคักไม่ต่างจากปี 2562



เครื่องบินที่จอดรออยู่ จะได้กัปตันคนเดิมกลับมา แต่ไม่ใช่ทุกลำจะเจอกัปตันคนเดิม เพราะกัปตันจำนวนหนึ่งอายุใกล้เกษียณ หรือเกษียณพอดี และบางคนไปทำอาชีพอื่น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือนักบินใหม่ประมาณ 500 คน คำแนะนำของกัปตันปิยะคือ ใครอยากเป็นนักบินต้องเตรียมพร้อม และเริ่มเรียน เพราะใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง โดยมีค่าเรียน 2-2.5 ล้านบาท

ขณะที่ความต้องการนักบินใหม่ทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น คาดว่าจะมีจำนวน 260,000 คน แต่มีความจริงในโลกหลังยุคโควิดที่ต้องยอมรับให้ได้คือ แม้น่านฟ้าเปิดแล้ว แต่ชีวิตกัปตันอาจไม่ได้สวยหรูเหมือนเดิม โดยเฉพาะค่าตอบแทนที่อาจลดลงไปถึง 30-50% จากปกติรายได้เป็นหลักแสนบาท แต่ตัวเลขนี้ก็ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น

“ลูกกัปตันก็เริ่มเรียนปีนี้ เพราะตอนนี้มองเห็นแสงสว่าง และเห็นโอกาสแล้ว ตราบใดที่ผู้โดยสารยังต้องการกัปตันเพื่อบังคับอากาศยานเพื่อความปลอดภัย ธุรกิจนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป”

นี่คือสถานการณ์ยากลำบากที่กำลังเผชิญอยู่ของอาชีพนักบิน แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าวิกฤติจะต้องผ่านไปด้วยความหวัง และการเตรียมพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะได้ไม่พลาดโอกาสที่เกิดขึ้นในอนาคต


ผู้เขียน : สุกรี แมนชัยนิมิต

กราฟิก :  Pradit Phulsarikij

-- advertisement --