ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG ลงนามเอ็มโอยูกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ยกระดับมาตรฐานการพัฒนาและผลิตสกัดกัญชง กัญชาใช้ทางการแพทย์ เชิงวิจัยพร้อมสนับสนุนแบบครบวงจร ครอบคลุมต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ หนุนเกษตรกรเพาะปลูก ตั้งโรงสกัด แล็บทดสอบ เทคโนโลยีการผสมและผลิต การจัดจำหน่าย ตลอดจนส่งเสริมสถาบันการศึกษาให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้นำธุรกิจดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรและบริการที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ภายใต้แนวคิด ‘ดูแลคุณในทุกช่วงชีวิต’ (Lifetime Health Guardian for All) เผยว่า จากวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานกัญชงและกัญชาในประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการนำไปใช้ในทางการแพทย์ ที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี เพาะปลูก การสกัดสารสำคัญ การนำสารสกัดไปใช้เพื่อการผลิตเวชภัณฑ์ยาที่ได้มาตรฐาน
ล่าสุดได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) กับศูนย์วิจัย ยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสนับสนุนการเพาะปลูก วิจัย สกัด และตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพระดับ Medical Grade สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาพืชกัญชงและกัญชาเพิ่มมากขึ้น
โดยพร้อมสนับสนุนด้านการจัดหาเทคโนโลยีในการจัดตั้งโรงสกัดสารจากกัญชา ที่มีมาตรฐานในระดับการแพทย์ (Medical Grade) สามารถสกัดสารสำคัญต่างๆ อย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ตลอดจนการตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบระดับสารสำคัญต่างๆ ตรวจสอบสารปนเปื้อน เพื่อนำไปสู่การออกใบรับรองมาตรฐานระดับ Medical Grade นอกจากนี้จะสนับสนุนการจัดหาเทคโนโลยีด้านการผสมสารสกัดจากพืชกัญชง กัญชาและการพัฒนาเวชภัณฑ์ยาเพื่อใช้ทางการแพทย์ รวมถึงดูแลด้านการตลาด และการจัดจำหน่าย
“ในระยะแรกเรามุ่งไปที่การสนับสนุนด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยสนับสนุนการปลูก และการจัดตั้งโรงสกัดสารจากกัญชาที่ได้มาตรฐาน จากนั้นจะเป็นการขยายการปลูก และกำลังการผลิต คาดว่าโครงการนี้จะมีมูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท โดยอาจมีพันธมิตรร่วมกันลงทุน โดยเชื่อว่าความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์กับการแพทย์ไทย ที่จะเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงทางเลือกในการรักษาโรค โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนภาควิชาการ เพิ่มขีดความสามารถการวิจัย ส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์บุญ กล่าว
ด้านศาสตราจารย์ ดร.สถิรกร พงศ์พานิช คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ (Drug Dependence Research Center (DDRC) เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 49 ปี โดยองค์การอนามัยโลกได้แต่งตั้งให้เป็น WHO Collaborating Centre for Research and Training in Drug Dependence (WHOCC) แห่งเดียวในประเทศไทย
‘ศูนย์วิจัยยาเสพติด’ มีวิสัยทัศน์เป็นองค์กรชั้นนำในการศึกษาวิจัย การสร้างนวัตกรรม และการเชื่อมโยงข้อมูล/องค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล ด้านปัญหายาเสพติดรวมถึงผลเกี่ยวเนื่อง และผลกระทบด้านสุขภาพที่สำคัญ ‘ศูนย์วิจัยยาเสพติด’ ได้ขยายการดำเนินงานไป ณ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ – สระบุรี ภายใต้โครงการวิจัยกัญชา : เชิงสังคมและเชิงวิทยาศาสตร์และแนวทางกฎหมายตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ สนับสนุนทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) จึงเป็นที่มาของการวิจัยกัญชาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การเพาะปลูกแบบชีวภาพ รวมทั้งการสร้างระบบ วิธีการ ติดตามควบคุมกัญชา
สำหรับการวิจัยและพัฒนากัญชาของศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีสารสกัดในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมดูแลที่ดี ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเตรียมดินและปุ๋ยชีวภาพ เพาะปลูกในอุณหภูมิและระดับความชื้นที่เหมาะสม การพัฒนาสายพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ การสกัดสารที่สำคัญต่างๆ และการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
ศาสตราจารย์ ดร. จิตรลดา อารีย์สันติชัย รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยยาเสพติด แห่งนี้ ในระยะแรกประสบความสำเร็จในการปลูกแบบชีวภาพ ควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการปลูกกัญชา การพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ที่สามารถเพาะปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) ภายใต้สภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ตลอดจนได้ทดลองเพาะปลูกกัญชาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเพาะปลูกในพื้นที่ในร่ม (Indoor) และเพาะปลูกในโรงเรือน (Greenhouse) ตลอดถึงการศึกษาปรับปรุงสายพันธุ์ ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกรูปแบบต่าง ๆ และวิธีการจัดเก็บสารสกัดที่สำคัญต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มุ่งสู่เมดิคัลเกรด เพื่อประโยชน์สูงสุดทางการแพย์
“เรายินดีที่ THG เข้ามาร่วมมือและให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการผลิต สกัดกัญชงและกัญชารวมถึงกระท่อมและพืชเสพติดอื่น เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในระดับพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งต่อยอดสู่การจัดตั้งโรงสกัด การจัดตั้งห้องแล็บเพื่อเป็นศูนย์ทดสอบ การจัดหาเทคโนโลยีด้านการปรุงและการผลิต รวมถึงการจัดจำหน่าย เพื่อดำเนินการอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” ศาสตราจารย์ ดร.จิตรลดา กล่าวทิ้งท้าย