เมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่หน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน กรุงเทพฯ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นัดหมายทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ยืนหยุดขัง” 112 นาที เป็นวันที่ 24 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังจากการทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งระบุว่าจะจัดขึ้นทุกวันจนกว่าเพื่อนจะได้รับอิสรภาพ นำโดย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ผู้ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมเสื้อแดง เมื่อปี 2553
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีนักวิชาการและผู้มีชื่อเสียงหลายรายเข้าร่วม อาทิ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ รวมถึงนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ตนอยากขอให้นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และเยาวชนที่กำลังอดอาหาร รักษาชีวิตให้อยู่ไปนานๆ ส่วนตัวไม่คิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะจบอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ถ้าศึกษาจากประวัติศาสตร์ จากกรณี มหาตมะคานธี ประท้วงโดยการอดอาหาร ถึง 18 ครั้ง ใช้เวลา ตั้งแต่อายุ 40 กว่า ถึงอายุเกือบ 80 ปี รวมแล้วเป็นเวลาเกือบ 40 ปีในการต่อสู้ ดังนั้นอยากให้เยาวชนคนหนุ่มสาวใช้ความอดทน ขันติ บารมี
“ขอให้รักษาชีวิตไว้ในการทำงานเพื่อทั้งคนรุ่นตัวเอง ทั้งคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะมาอีกหลายรุ่น ส่วนคนรุ่นผมกำลังจะหมดอายุแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือสนับสนุนให้เขาเดินหน้า รักษาชีวิตต่อไป ผมกังวลต่อชะตากรรมของเขา การอยู่รอดและทำงานระยะยาว ดีกว่าการเสียชีวิตไปในตอนนี้ เขายังมีประโยชรน์ ต่อทั้งคนรุ่นเขา และคนรุ่นที่กำลังก้าวขึ้นมา อนาคต สังคม ประเทศชาติ อยู่ที่คนรุ่นใกล้พวกเขา รุ่นที่กำลังจะก้าวขึ้นมา ดังนั้นต้องรักษาชีวิต เพื่อเดินหน้าต่อไป ยามนี้ คนรุ่นใหม่ ต้องใช้สติปัญญาในการฝ่าข้ามไปสู่สังคมที่ดีกว่าที่เป็นมา” ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ ยังนำหนังสือประวัติศาสตร์ของโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ฝากไปกับนายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เพื่อมอบให้นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน และญาติของนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวุัฒนกุล หรือรุ้ง เพื่อส่งมอบต่อไป นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์ ยังอ่านจดหมายผ่านโทรโข่งหน้าศาลฎีกา
ความดังนี้
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
16 เมษายน 2564/2021
ถึงเพนกวิน ถึงรุ้ง และถึงมิตรเยาวชนคนรุ่นใหม่
1.
ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ มาถึงเพนกวิน รุ้ง และพวกเราทุกคน
ผู้ที่กำลังต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของคนรุ่นใหม่ของชาติ และของราษฎรไทย
ก็เพื่อให้พวกเราทั้งหลาย ได้รักษาชีวิตไว้เพื่อการทำงานสำหรับ “คนอื่น ๆ” ต่อไปอีกยาว ๆ นาน ๆ
การต่อสู้ของพวกรุ่นของคุณทั้งหลาย ที่ดำเนินมาด้วยหลักและอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ด้วยหลักและอุดมการณ์แห่งเสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ
ด้วยหลักและอุดมการณ์ของอารยะขัดขืน อหิงสา สันติประชาธรรม
ด้วยหลักและอุดมการณ์ของมหาตมะคานธี ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ของเนลสัน มันเดลา ของป๋วย อึ๊งภากรณ์
หลักและอุดมการณ์ของประชามหาชนทั่วสากลโลก นั้น
2.
ทั้งเพนกวิน ทั้งรุ้ง และทั้งมิตรเยาวชนคนรุ่นใหม่ คงทราบดีว่า
“การอดอาหารประท้วงครั้งยาวนานที่สุดของมหาตมะคานธี
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2485/1942 นั้น
มหาตมะ คานธี ในวัย 74 ปี เขียนจดหมายจากคุก
ถึง … ผู้สำเร็จราชการแห่งบริติชอินเดีย
ขู่อดอาหารประท้วงรัฐบาลอังกฤษ ที่จองจำเขาโดยปราศจากข้อกล่าวหา
อังกฤษคาดเรื่องนี้อยู่แล้ว และไม่แยแสเขา
คานธีประกาศอดอาหารเป็นเวลา 21 วัน
เริ่มต้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2486/1943
แต่ความเห็นของรัฐบาลในการจัดการกับคานธี
และการอดอาหารของเขานั้น แข็งกร้าว
…ผู้สำเร็จราชการแห่งบริติชอินเดีย เขียนไว้ว่า ‘ความคิดของผมชัดเจนเสมอ
นั่นคือคานธีควรได้รับอนุญาตให้อดอาหาร จนตาย’
3.
“ในจดหมายโต้ตอบของคานธีกับ… ผู้สำเร็จราชการแห่งบริติชอินเดีย
กล่าวหาว่าการอดอาหารของเขาเป็นการกรรโชกทางการเมือง
มหาตมะโต้กลับว่า
‘ชนรุ่นหลังจะตัดสินระหว่างคุณ ในฐานะผู้แทนแห่งรัฐบาลทรงอำนาจทั้งปวง
กับผม ในฐานะบุรุษต่ำต้อยคนหนึ่ง
ผู้พยายามรับใช้ประเทศของเขา และมนุษยชาติ ผ่านสิ่งนี้’…
เมื่อครบกำหนดสามสัปดาห์ ตามที่ประกาศไว้
มหาตมะ คานธี เลิกอดอาหารเวลา 9 นาฬิกา ของวันที่ 3 มีนาคม
มหาตมะ คานธีนอนบนเตียงในห้องขัง
ประนมมือ หลับตาทำสมาธิ ต่อหน้าแพทย์หกคน
และผู้ต้องขังคนอื่น ๆ … ร่วมสวดมนต์
หลังจากนั้นสโรชินี ไนดู กวีหญิงร่ายกลอนของรพินทรนาถ ฐากุร
มหาตมะ คานธีกล่าวขอบคุณแพทย์… ก่อนจิบน้ำส้ม ผสมน้ำแก้วแรก
ที่กัสตูร์บา ภรรยาส่งให้มหาตมะใช้เวลา 20 นาที จิบน้ำส้มจนหมดแก้ว
การอดอาหารครั้งนี้ เป็นครั้งที่ยาวนานที่สุดของมหาตมะคานธี
และเขารอดชีวิตจากความอำมหิตของรัฐบาลมาได้
เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ด้วยวิธีอหิงสา
ตราบจนถูกลอบสังหารในวันที่ 30 มกราคม 2491/1948” (credit: Subhatra Bhumiprabhas)
4.
ครับ สัตยาเคราะห์ (Satyagraha – Voice of Truth)
คือวิธีการต่อสู้แบบอหิงสา (Ahimsa) ของท่านมหาตมะคานธี
ที่ท่านถือปฏิบัติเพื่อชาติ และประชาราษฎรอินเดีย
…ต่อสู้จนประสบชัยชนะระหว่างปี 2412-2491 (1869-1948)
ท่านคานธีอดอาหารทั้งหมด รวมแล้ว 18 ครั้ง
ระหว่างปี 2456 ถึง 2491 (1913 – 1948) เปนเวลา 35 ปี
จากอายุ 44 ปีถึงอายุ 79
แนวความคิดและวิธีการนี้ มีอิทธิพล ส่งต่อไปยังนักต่อสู้คนอื่น ๆ เช่น
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง – สหรัฐอเมริกา
เนลสัน มันเดลา – อัฟริกาใต้ และ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของไทยเรา
ทั้งยังส่งผลต่อมาถึง คนไทย อีกหลาย ๆ คน อย่างเช่น ฉลาด วรฉัตร ฯลฯ
5.
อิทธิพลและอุดมการณ์ดังกล่าว ได้ถูกส่งต่อมายังคนรุ่น “เจน Z” ในปัจจุบัน
ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดียิ่ง แต่ก็น่าเปนห่วงมาก ๆ เช่นกัน
การต่อสู้ของเพนกวิน ของรุ้ง และของมิตรเยาวชนคนรุ่นใหม่
ได้พัฒนาไปไกล เกินความคาดหมายของคนรุ่นเก่า ๆ ก่อน ๆ
พวกเรา คนรุ่นเก่าก่อน ไม่สามารถจะเรียกร้องอะไรให้มากไปกว่านี้แล้ว
พวกเราเพียงแต่หวังว่า พวกคุณทั้งหลาย จะรักษาชีวิตเอาไว้
พวกเราขอให้คุณปลอดภัย
และที่สำคัญ คือ ได้รับการประกันตัว เพื่อต่อสู้ในกระบวนการของหลักนิติธรรม
ตามหลักของการพิจารณาคดีความผิดทางอาญา
ตามหลักวิชาการที่ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งคณะนิติศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย กับในประเทศที่เป็นอารยะ
ได้พร่ำสอนให้การศึกษาต่อเยาวชนของเกือบทุกชาติ เกือบทุกภาษา
6.
โดยส่วนตัว ผมแอบตั้งความหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ว่า นักศึกษาที่เรียนดีอย่างเพนกวิน
เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการตอบปัญหาทางประวัติศาสตร์มาแล้ว
สักวันหนึ่งคงจะได้เจริญก้าวหน้าทางวิชาการ ได้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาโทปริญญาเอก
เหมือนนักศึกษารุ่นก่อน ๆ หลาย ๆ คนเคยปฏิบัติกันมา
ผมเชื่อว่าการข้ามสาขาจากรัฐศาสตร์ ไปสู่ประวัติศาสตร์นั้น
เป็นเรื่องปกติ เหมือน ๆ พวกเราหลายคนได้ทำมาแล้ว เช่นกัน
และที่สำคัญ ก็คือ ในช่วงเวลาของ “ความเปลี่ยนแปลง” อย่างใหญ่หลวงของสังคมไทยเรา
ประวัติศาสตร์ น่าจะเป็นศาสตร์ ที่ช่วยให้เราทั้งหลาย ได้มองกลับไปในอดีต
ได้เรียนรู้เรื่องราว ความเป็นมาของสิ่งที่กลายมาเป็นปัจจุบัน
ทั้งนี้และทั้งนั้น เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า
สมดังพุทธภาษิตที่ว่า “นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา” หรือ “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี”
7.
ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ สงกรานต์ปีนี้ พวกเราขอตั้งจิตอธิษฐาน
ขอให้เพนกวิน ขอให้รุ้ง และขอให้มิตรเยาวชนคนรุ่นใหม่
ที่ได้สร้างจิตสำนึกที่เป็นไท ที่เป็นอิสระให้กับตนเองมาแล้วนั้น
ได้พิจารณาที่จักรักษาไว้ซึ่งชีวิตอันมีค่าของทุก ๆ คน
ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้เดินทางต่อไป บนเส้นทางของการต่อสู้ที่แสนจะยุ่งยาก ซับซ้อน ยาวไกล
ที่จะยังคุณประโยชน์ต่อคนรุ่นของพวกคุณเอง และของคนรุ่นอื่น ๆ ที่จะตามมา
พวกเราเชื่อมั่นว่า ชีวิตของพวกคุณ
มีคุณค่ามหาศาลต่ออนาคตของประเทศชาติ ของราษฎรไทย
และของคนอื่น ๆ ตลอดจนของมนุษยชาติ
ด้วยรักและห่วงใย
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ข้าราชการบำนาญ