พิษ “โควิด-19” ส่งผลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ติดเชื้อ “รร.-มหาวิทยาลัย” หลายแห่งจึงได้ออกประกาศงดกิจกรรม และปิดชั่วคราว เพื่อทำการฆ่าเชื้อสถานที่ พร้อมออกมาตรการป้องกันโรค
จากกรณีที่มีครู และบุคลากรทางการศึกษาติดเชื้อ “โควิด-19” ทั้งในส่วนของ “สถานศึกษา” ไม่ว่าจะเป็น “โรงเรียน -สถาบันอุดมศึกษา” ต่างประกาศงดกิจกรรม งดใช้สถานที่ชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ “โควิด-19″
อย่างใน คลัสเตอร์ โรงเรียนเอกชน จ.สมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรวม 32 ราย นั้น เริ่มจากครูชาวต่างชาติ 2 ราย ในช่วง 2-4 เม.ย.2564 ได้เดินทางไปภูเก็ต มีประวัติเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง
ต่อมา 5-8 เม.ย.2564 มาสอนหนังสือและคุมสอบ 8 เม.ย.2564 มีงานเลี้ยงอำลาครู มีการโอบกอดใกล้ชิดกับนักเรียน หลังเลิกเรียนไปตรวจโควิด-19 เนื่องจากเริ่มมีอาการ และ 9 เม.ย.2564 ทราบผลตรวจพบเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ พบผู้ติดเชื้อ เป็นเพื่อนชาวแอฟริกา พูดคุย/ทานอาหารร่วมกัน ครูBuddy ไทย ตรวจนักเรียนในห้องที่สอนและคุมสอบรวม 59 ราย และ ACF ในโรงเรียน 160 ราย พบเชื้อในนักเรียน 23 ราย ในกลุ่มนักเรียน ทำให้มีผู้ติดเชื้อในครอบครัวอีก 4 ราย โดยปัจจัยเสี่ยง เกิดจากครูต่างชาติและนักเรียนไม่สวมหน้ากากอนามัยในโรงเรียน มีการสัมผัสใกล้ชิดในงานเลี้ยงอำลาครู
ขณะที่ โรงเรียนหอวัง ได้ออกประกาศ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (วันที่ 14 เม.ย.2564) ภายหลังได้รับแจ้งจากครูพิเศษ ปฎิบัติหน้าที่จัดการเรียนการสอนด้านดนตรี (ภาคปฎิบัติ)โครงการห้องเรียนพิเศษดนตรี มีผลติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ยืนยันการติดเชื้อ วันที่ 13 เม.ย. 2564 เวลา 23.30 น. โดยมีเวลาติดต่อและใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2564 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.2564 ปฎิบัติกิจกรรม ณ โรงเรียนหอวัง
ดังนี้ วันที่ 9 เม.ย.2564 สอนดนตรี(ภาคปฎิบัติ) กับนักเรียน 11 คน วันที่ 10 เม.ย.2564 สอนเปียโนกับนักเรียน 1 คน และวันที่ 11 เม.ย.2564 สอนกีตาร์เบสกับนักเรียน 1 คน
โรงเรียนหอวัง ได้ดำเนินการตาม “มาตรการป้องกัน” คือ 1. ดำเนินการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวรณที่มีผู้ติดเชื้อสัมผัสและบริเวณใกล้เคียง 2. ให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน 2564 เฝ้าสังเกตอาการ และหากพบอาการต้องสงสัยให้ไปรับการตรวจคัดกรองที่ศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด หรือพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ และรับคำแนะนำในการปฏิบัติต่อไป
3.กรณีใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้เฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน และปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด 4. งดการจัดกิจกรรมทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 14-27 เมษายน 2564 กรณีการรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 และชั้นมัธยมศึกาษปีที่ 4 ให้ดำเนินการด้วยระบบออนไลน์ ผ่านเวปไซด์ www.bangkok2.org และ www.horwang.ac.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ‘รร.หอวัง’ ออกประกาศ 2 ฉบับ หลังพบครูติด ‘โควิด-19’
- โรงเรียนสายน้ำผึ้ง แถลง พบบุคลากรติด ‘โควิด-19’ 4 ราย
- ภูเก็ตพื้นที่สีแดงโควิด เช็คยอดติดเชื้อวันนี้ ตรวจสอบคำสั่งปิดสถานที่
ต่อมา วันที่ 16 เม.ย.2564 ทาง โรงเรียนหอวัง ได้ออกประกาศเพิ่มเติม เนื่องจากพบครูติดเชื้อเพิ่มอีก 1 ราย เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่2564 เวลา 20.30 น.ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนจึงได้ดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ดังนี้ งดใช้งานอาคารดนตรี และห้องซ้อม 14 วัน เพื่อพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณที่ผู้ติดเชื้อสัมผัสและบริเวณใกล้เคียง ให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในระหว่างวันที่ 9-15 เม.ย. 2564 เฝ้าสังเกตอาการ และหากพบอาการต้องสงสัยให้ไปรับการตรวจคัดกรองที่ศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด หรือพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ และรับคำแนะนำในการปฏิบัติ
เช่นเดียวกับ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ได้ประกาศทางเพจเฟสบุ๊คของ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ – Sainampeung School เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา โดยประกาศเรื่อง ผลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ของบุคลากรในโรงเรียน ว่า มีบุคลากรของโรงเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศ จำนวน 4 ท่าน ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ขอให้ครู บุคลากร และนักเรียน ที่มีประวัติใกล้ชิดกับบุคลากรทั้ง 4 ท่าน ให้กักตัวอยู่ในที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน และสังเกตอาการ หากมีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้ หรือหายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้เคียง และหากมีผลเป็นบวก ให้รีบรายงานต่อผู้อำนวยการโรงเรียนโดยด่วน
ด้าน “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้ประกาศประกาศเรื่อง การขยายเวลาการปิดสถานที่ทำการชั่วคราว การจัดการเรียนการสอน และการปฏิบัติงาน ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” ลงวันที่ 18 เม.ย.2564 ระบุว่า ตามที่มหาวิทยาลัยได้มีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การปิดสถานที่ทำการชั่วคราว การจัดการเรียนการสอน และการปฏิบัติงาน ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” ลงวันที่ 8 เม.ย.2564 โดยให้มหาวิทยาลัยปิดสถานที่ทำการในเขตกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 ถึง 25 เม.ย.2564 รวมทั้งปรับรูปแบบการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานของบุคลากรนั้น
เนื่องจากปรากฏว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค “โควิด-19” มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการระบาดระลอกใหม่นี้ได้กระจายออกไปในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว รัฐบาลโดยข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 จึงได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เม.ย.2564
กำหนดพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม สำหรับจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นที่เป็นสถานที่ทำการที่ตั้งนอกเขตกรุงเทพมหานคร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและลดโอกาสติดเชื้อโรค “โควิด-19” แก่นักเรียน นิสิต และบุคลากร รวมทั้งให้การดำเนินงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา27 และมาตรา32 แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 จึงเห็นสมควรให้ดำเนินการดังนี้ 1.ให้ขยายเวลาการปิดสถานที่ทำการที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานครออกไปจนถึงวันที่ 23 พ.ค.2564 2.ให้ปิดสถานที่ทำการที่ตั้งนอกเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.2564 ถึง 23พ.ค.2564 ขอให้นักเรียน นิสิต และบุคลากรปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวต่อไปอย่างเคร่งครัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : โรงเรียนสายน้ำผึ้ง แถลง พบบุคลากรติด ‘โควิด-19’ 4 ราย