สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนาในหัวข้อ “วิถีชีวิตใหม่ รถรับ-ส่งนักเรียน อย่างไร ให้ปลอดภัยห่างไกลโควิด” เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อหาแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการใช้บริการรถรับ-ส่งนักเรียน รวมถึงการหามาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับ-ส่งนักเรียนที่พบสถิติการเกิดอุบัติเหตุ และเด็กนักเรียนเสียชีวิตจำนวนมาก
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียนของเด็ก เยาวชน เนื่องจากมีสถิติทุก 1 ชั่วโมง จะมีคนเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน 2 ราย โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงนั้นเป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติและเป็นที่รักของครอบครัว
ข้อมูลจากระบบบูรณาการการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2561 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 10-24 ปี ซึ่งเป็นวัยเรียนมากถึง 5,131 คน หรือคิดเป็นภาพรวมมากถึงร้อยละ 25.7 ในจำนวนนี้พบว่ารถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะอันดับ 1 ที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ซึ่ง สสส.ได้เจาะลึกลงไปถึงอุบัติเหตุที่เกิดนั้น เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ความจำเป็นในการเดินทาง เช่น รถรับ-ส่งนักเรียนที่ไม่สะดวก ส่งผลให้ทางเลือกในการเดินทางมีอย่างจำกัด บางครอบครัวจึงซื้อจักรยานยนต์ สำหรับใช้ในการเดินทาง โดยส่วนใหญ่อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นระหว่างการใช้รถจักรยานยนต์เดินทางไป-กลับโรงเรียน ปัญหานี้จำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขด้วยการจัดหารถโรงเรียนที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตลงได้
รุ่งอรุณกล่าวต่อว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในปี 2561 พบว่า ภาคตะวันออกเป็นภาคที่มีสถิติอุบัติเหตุมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็น 1 ใน 4 อันดับแรกที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในภาคกลาง สสส.และภาคีเครือข่ายจึงดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม” ในการหาทางออกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดการสูญเสียจากการใช้บริการรถรับ-ส่งนักเรียน ซึ่งหลังจากนี้จะขยายวงกว้างพูดคุยแก้ปัญหาเข้าไปในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
“จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถือเป็นต้นแบบในการสร้างเครือข่ายลดอุบัติเหตุ จึงได้เลือกให้เป็นต้นแบบสำหรับการขยายผล เพื่อให้เป็นโมเดลสำคัญในการทำงาน ซึ่งสามารถเชื่อมประสานกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้วยจิตอาสา จนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ” รุ่งอรุณกล่าว
รุ่งอรุณกล่าวด้วยว่า ในการแก้ไขอุบัติเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมของคน สภาพรถ ท้องถนน ของรถโรงเรียน จะต้องสร้างความปลอดภัยในช่วงเดินทางไป-กลับ ผู้ประกอบการจะต้องยกระดับมาตรฐานตัวรถเพื่อให้เกิดความปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุก็ต้องให้ลดการบาดเจ็บ ลดความรุนแรงให้ได้มากที่สุด “ที่นั่งในตัวรถเกาะติดกับตัวรถ เด็กไม่กลิ้งกระดอนออกจากที่นั่ง ในช่วงโควิด-19 ระบาด ไม่สามารถจัดที่นั่งเว้นระยะห่างได้ ก็ต้องดูแลใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อชดเชย ป้องกันเด็กและเยาวชน
เรื่องนี้ต้องใช้ความตั้งใจและจริงใจในการแก้ไขปัญหา ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องด้วยการเชื่อมประสานทุกฝ่าย พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กก็ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน การให้ความสำคัญกับรถรับ-ส่งนักเรียนจอดรับเด็กขึ้น-ลง เพื่อลดอุปสรรคเด็กขึ้น-ลงไม่เรียบร้อย ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกันต้องรู้เท่าทันปัญหาเป็นหัวใจสำคัญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นตัวอย่างที่ดี นำวิธีปฏิบัติในทุกมิติ พฤติกรรมการป้องกันโควิด-19 เพื่อเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดอื่นๆ ในการทำงาน ลดจำนวนผู้เสียชีวิตที่อยู่ในวัย 10-24 ปี ซึ่งเป็นเยาวชน
นอกจากนี้ ในสถานการณ์การระบาดของโควิด ยังต้องให้ความสำคัญกับมาตรการการป้องกันโรคและความปลอดภัย ด้วยการจำกัดผู้โดยสาร ใส่หน้ากากทุกครั้ง ลดการพูดคุย ไม่รับประทานอาหารในรถ ช่วยป้องกันและลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้” รุ่งอรุณกล่าวพร้อมยกตัวอย่าง สังคมเมืองหลายๆ พื้นที่มีทางเลือกอื่นให้เลือกใช้ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน รถประจำทาง แต่ในต่างจังหวัดหลายพื้นที่รถโดยสารเป็นรถดัดแปลง ความปลอดภัยไม่มีมากนัก
ศุภกร การสมบัติ
อ.ศุภกร การสมบัติ หัวหน้าฝ่ายกิจการนักเรียนและงานบุคคล โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยเป็นตัวแทนของ รร.ขนาดใหญ่ มีนักเรียน 4,200 คน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประโยชน์ต่อการรับ-ส่งนักเรียน ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา การจัดรถรับ-ส่งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ถือเป็นรถต้นแบบของจังหวัด พัฒนาระบบต่างๆ ด้วยมาตรการเรื่องรถรับ-ส่งนักเรียน รถเอกชนไม่ได้มีลักษณะเป็นรถรับ-ส่งจากโรงเรียน แต่เดิมเราไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปดูแลรถรับ-ส่ง เครือข่ายผู้บริโภคเข้ามาทำโครงการ ทำให้ทาง รร.เห็นว่าเป็นภาระหน้าที่ของผู้บริหาร รร.ที่จะเข้ามาดูแลร่วมกัน
การดูแลรถรับ-ส่งนักเรียนกลายเป็นภารกิจหนึ่งในงานที่ครูจะต้องดูแลโดยตรง ด้วยการประสานงานกับผู้ประกอบการตั้งเป็นชมรมรถรับ-ส่งนักเรียน รร.อยุธยาวิทยาลัย มีกลุ่มไลน์ให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่ม ปีที่แล้วนักเรียนใช้บริการรถรับ-ส่ง 1,200 คน จากนักเรียน 4,200 คน หรือ 28% นักเรียนจาก 16 อำเภอและจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาเรียน ทางเลือกในการใช้รถรับ-ส่งนักเรียนสะดวกที่สุดสำหรับผู้ปกครอง เมื่อเปรียบเทียบนักเรียนใช้รถประจำทางต้องใช้เวลานาน รถนักเรียนจะมารับถึงบันไดบ้าน ส่งกลับถึงบันไดบ้าน ทาง รร.ขึ้นทะเบียนรับรองเป็นรถรับ-ส่งนักเรียนเพื่อไปตรวจสภาพรถ
ที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักเรียนทั้งหมดเกิดขึ้นกับเด็กที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยปัจจัยหลักยังมาจากการขับรถเร็ว ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดจากรถรับ-ส่งนักเรียนยังไม่พบ แต่ทางโรงเรียนยังเล็งเห็นถึงความสำคัญ ได้ออกมาตรการร่วมกันกับผู้ประกอบการรถรับ-ส่งนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยมีเด็กนักเรียนขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียนประมาณ 200 คน โดยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มนี้กว่า 10 กรณี ทางโรงเรียนจึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจมาให้ความรู้กับนักเรียนหน้าเสาธง พร้อมตั้งกลุ่มไลน์เพื่อพูดคุยกับผู้ประกอบการรถรับ-ส่งนักเรียนทุกคัน เพื่อเป็นการป้องกันและหาทางออกร่วมกันหากเกิดปัญหาขึ้น
ชลดา บุญเกษม
ชลดา บุญเกษม หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขนส่งจัดรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ถูกต้องเข้าสู่ระบบ เป็นไปตามมาตรฐานด้วยหลักการพ่อแม่ผู้ปกครองฝากลูกหลานเดินทาง เราเป็นศูนย์เชื่อมประสานแต่ละหน่วยงานแบบบูรณาการ การจัดรถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัย การขึ้นทะเบียน ขอใบรับรองจาก รร.เชื่อมระหว่าง รร. ขนส่ง การตรวจสภาพรถยนต์เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เหตุการณ์ที่คนขับรถลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียน และเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้ามีระบบที่ดีจะตรวจสอบได้ว่ามีเด็กตกหล่นอยู่ในรถหรือไม่ กลไกลดความเสี่ยงมีการขับเคลื่อนขนส่งจังหวัดให้การรับรองดูแลเรื่องความปลอดภัย มาตรฐานรถ การบังคับใช้ กม.
เด็กนักเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปัญหาการเข้าถึงรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากการเดินรถยังไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำให้เกิดธุรกิจรถรับส่งนักเรียนในพื้นที่มีจำนวนมาก ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ารถที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ ส่วนหนึ่งไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงตั้งกลไกคุ้มครองสิทธิประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขนส่งจังหวัด ตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนพนักงานขับรถ เป็นต้น ให้ปรับปรุงรถรับส่งนักเรียนเป็นไปตามข้อกำหนด พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนหากเกิดปัญหาจากการใช้รถรับส่งนักเรียน เสนอให้ภาครัฐออกนโยบายให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการใช้รถรับส่งนักเรียนในทุกประเด็น เพราะจะทำให้ทุกโรงเรียนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
สุเทพ กุมุท หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักขนส่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า รถรับส่งนักเรียนมีมานานแล้ว มีการจัดระเบียบรถโรงเรียนตั้งแต่ปี 2546 แต่อยู่ในบรรยากาศล้มลุกคลุกคลาน เนื่องจากรถรับส่งนักเรียนเป็นรถนอกระบบ เป็นรถผู้ปกครอง รถของชาวบ้านว่างก็นำมารับส่งเด็กนักเรียน ในช่วงแรกๆ ขนส่งมีความลำบากใจมาก เนื่องจากรถที่นำมารับส่งนักเรียนนั้นมีปัญหากับรถโดยสารประจำทาง แต่เมื่อมีรถโรงเรียนจำนวนมากขึ้น ขนส่งต้องเข้าไปจัดการด้านนโยบาย การออกแบบให้รถมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นำมารับส่งนักเรียนได้อย่างถูกต้อง เมื่อเปิดเทอมขนส่งออกตรวจดำเนินการเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต
ต่อมาในปี 2560 มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาร่วมประสานงานกับทางโรงเรียน ในช่วงแรกทาง รร.มีข้อจำกัดในความรับผิดชอบรถจากที่ไหนก็ไม่รู้นำเด็กมาส่งที่ รร. ขอดูแลเฉพาะเด็กอยู่ใน รร. ถ้านอก รร.ไม่ขอรับผิดชอบ เกิดเป็นช่องว่างของโรงเรียนในภาพการขนส่ง ถ้าจะเปรียบเทียบโรงเรียนเสมือนกับตลาดหลักทรัพย์ รับส่งนักเรียนก็เหมือนกับนักเล่นหุ้น ต้องเข้ามา โรงเรียนในตลาดหลักทรัพย์สร้างเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ประกอบการรถโรงเรียนได้ปฏิบัติทั้งหมด ทำอย่างไรให้โรงเรียนมีบทบาทเหมือนในตลาดหลักทรัพย์ จึงได้มีการหารือกันให้รถอยู่ในระบบ ให้ทางขนส่งดำเนินการให้ถูกต้องตาม กม. ถ้าโรงเรียนยื่นเงื่อนไขรถกลุ่มนี้ก็ต้องทำตามทั้งหมด
มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค โรงเรียนเครือข่ายนำทีมดูงานที่สุพรรณบุรี ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ รร.เกิดแนวคิดเรื่องความปลอดภัย ใช้บริบทวิชาการ มีการคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบ เมื่อ รร.ขนาดใหญ่เข้าร่วมบริหารจัดการและเห็นความสำคัญของรถรับส่งนักเรียน ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย สำนักงานขนส่งจังหวัดของบประมาณจากกองทุนความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน การใช้สื่อถึงพนักงานที่ทำหน้าที่ขับรถส่งนักเรียนมีการจัดอบรม รวบรวมรถรับส่งนักเรียนทั่วทั้งจังหวัด จัดตั้งเป็นกลุ่มไลน์ การสร้างเครือข่าย มี 5 กลุ่ม มีประธาน เลขาฯ บริหารจัดการกลุ่ม รร. มูลนิธิ ขนส่ง มีการนำเสนอปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการดูแลรถรับส่งนักเรียนเป็นกรณีพิเศษ
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วง 2 ปีนี้ ตัวรถรับส่งนักเรียนต้องมีการปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย มีการตรวจโรคคนขับจำนวน 382 คน เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ปกครอง โรงเรียน เมื่อส่งเด็กนักเรียนแล้วพนักงานขับรถจะต้องทำความสะอาดเบาะรถ ราวประตูจับ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และเมื่อส่งเด็กกลับถึงบ้านแล้ว หลังจากนั้นก็ต้องทำความสะอาดภายในและนอกรถ และห้ามพนักงานนำสินค้ามาขายให้กับเด็กรับประทานบนรถ ดูแลเด็กทุกคนให้สวมหน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ ขณะนี้บาง รร.เปิดสลับวันเพื่อลดความแออัดภายในห้องเรียน ดังนั้น เด็กที่มารถโรงเรียนก็จะมาสลับวันก็ลดความแออัดภายในรถโรงเรียนได้ ขนส่งก็ต้องตรวจตรารถโรงเรียนห้ามเสริมเบาะนั่ง
“ผมขอการันตีตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่เคยมีรถโรงเรียนชนกันบนท้องถนนที่ จ.อยุธยา ยกเว้นเป็นรถโรงเรียนจากจังหวัดอื่นเข้ามาประสบอุบัติเหตุในจังหวัดอยุธยา ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นเรานำมาเป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขทุกปัญหา”
รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ตามมาตรฐาน
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคใน 6 ภาค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รวบรวมข้อมูลความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่สภาพรถรับส่งนักเรียนไม่ได้ตามมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ดังนี้
1.มีการดัดแปลงเพื่อรับเด็กนักเรียนให้ได้จำนวนมากขึ้น เช่น โครงสร้างรถไม่แข็งแรง มีการต่อเติมท้ายรถยื่นออกมา หรือไม่มีเหล็กกั้นกันตกในตอนท้ายของรถสองแถว เพราะส่วนใหญ่ให้บริการรับส่งนักเรียนครั้งละหลายโรงเรียนในละแวกเดียวกัน
2.ขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมีในรถ
3.พฤติกรรมเสี่ยงและประมาทของคนขับรถ เช่น ขับรถเร็ว การลืมเด็กไว้ในรถ
4.กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนขับรถ ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกัน หรือมาตรการความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งการพัฒนาให้รถรับส่งนักเรียนมีมาตรฐาน จำเป็นต้องมีการลงทุนในการปรับปรุงสภาพรถ จึงทำให้เป็นข้ออุปสรรคสำคัญในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพรถรับส่งนักเรียนของผู้ประกอบการในปัจจุบัน