สำหรับคนในแวดวงแพทย์และคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการหมอ แต่สนใจเบื้องหลังของเรื่องราวการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารวิกฤติโควิด-19 นั้น การเสวนาบน Clubhouse เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็น “ปรากฏการณ์” ที่สร้างความตื่นเต้นพอสมควร
บางคนเรียกเหตุการณ์คืนนั้นว่าเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” กันเลยทีเดียว
เพราะนายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะมาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนและพร้อมจะตอบข้อสงสัยของคนในบ้านเดียวกัน
และที่สำคัญคือ คาดว่าท่านในฐานะ “คนวงใน” ใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาตอบข้อสงสัยและคำถามมากมายเกี่ยวกับกระบวนการวางนโยบายเรื่องบริหารวิกฤติโควิด-19
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องวัคซีน
เป็นวงสนทนาที่อุ่นหนาฝาคั่ง เปิดห้องกระจายเสียงเพิ่มคนเข้ามาร่วมฟังและซักถาม
ประเมินว่ารวมกันแล้วน่าจะประมาณสองหมื่นคน
ในภาวะวิกฤติโควิดวงการแพทย์มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในฐานะเป็นแกนสำคัญของการนำเสนอนโยบาย การแนะนำทิศทางการแก้ไขปัญหา และที่น่าจะเป็นปัจจัยหลักคือ การที่จะต้องเป็นฝ่ายตั้งรับปลายทางคือการรักษาคนป่วย
เมื่อถึงจุด “คนไข้ล้นโรงพยาบาล” ท่ามกลางการถกแถลงระหว่างแพทย์ที่มีมุมมองแตกต่างกัน
ทั้งที่เป็นแพทย์ระดับผู้ใหญ่ ทั้งแพทย์ที่มีบทบาทในฐานะที่ปรึกษา ศบค.และที่เป็นนายแพทย์อิสระ
รวมไปถึงแพทย์นักวิชาการ
และแพทย์หน้างาน
ที่ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นหรือแนววิเคราะห์สถานการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน
เป็นวิกฤติทางความคิดและมุมมองท่ามกลางวิกฤติของสถานการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทยก็ว่าได้
ทำให้การตั้งกลุ่มสนทนาในเวที “Clubhouse ริมน้ำ” คืนนั้นมีหลากหลายอารมณ์และเต็มไปด้วยคำถามและคำตอบ
คุณหมอมานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งใน moderators ของการสนทนาวันนั้น
สรุปประสบการณ์ Clubhouse ริมน้ำในมุมมองของ moderator คนหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เมื่อคืนหลายคนได้รับฟังข้อมูลจากท่านคณบดีไปแล้ว หลายคนชื่นชม หลายคนพอใจ หลายคนคาใจ หลายคนยังผิดหวัง เห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นที่เกิดขึ้นใน social network และสรุปที่ส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย”
คุณหมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ให้ข้อสังเกตว่า
“…ผู้ฟังบางกลุ่มสะใจ (ในสิ่งที่กลุ่มตัวเองได้ทั้งฝ่ายเชียร์และฝ่ายเชียต) บางกลุ่มอารมณ์ค้าง…” แต่สำหรับหมอนิธิพัฒน์แล้ว
“ผมพึงพอใจที่ความคิดใหม่มาปะทะความคิดเก่าแบบยั้งมือไว้ไมตรี แต่ระวังกลุ่มผลประโยชน์ที่เฝ้าดูอย่างกระหยิ่มอยู่ภายนอก เพราะหวังให้การเห็นต่างเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติจริงไปสู่พลังที่อ่อนแอในการชี้นำสังคมให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤติสุขภาพไปได้อย่างดีที่สุด”
น่าสนใจว่านานๆ ทีวงการแพทย์รุ่นต่างๆ จะมีโอกาสมาตั้งวงแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง (แบบรักษาน้ำใจ)
“ต้องขอบคุณโควิด-19 ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวของทุกวงการในลักษณะที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน”
คุณหมอนิธิพัฒน์ย้ำถึงความสำคัญของเนื้อหาเพลงตอนหนึ่งที่ว่า “ศิริราชคือพี่น้อง ความถูกต้องเรายึดมั่น…”
แต่ท่านก็เสริมว่าความถูกต้องไม่มีอะไรที่สัมบูรณ์เหมือนคำสอนของตถาคต
“ที่เหลือมันเป็นความถูกต้องแบบสัมพัทธ์ที่เหมาะสมในช่วงเวลาหนึ่งด้วยเงื่อนไขแบบหนึ่ง แต่ไม่อาจใช้ไปได้แบบคงทนถาวรเหมือนสียี่ห้อหนึ่งโฆษณา…”
คุณหมอบอกต่อว่า
“อีกส่วนหนึ่ง ผมก็เบื่อของเก่าเป็นทุนเมื่อเวลาทอดนานด้วยแหละ ดังนั้นของเก่าอาจไม่ใช่ของดีเสมอไป ของใหม่ก็ไม่ใช่จะดีเสมอไป การผสมผสานให้ลงตัวดูจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืน…”
(พรุ่งนี้: เสวนาของหมอหลายรุ่นว่าด้วยทางออกโควิด).