วันอังคาร ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564, 06.00 น.
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมเวทีระดมสมองออนไลน์ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาต่าง ๆ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “ปรับหลักสูตรการศึกษาอย่างไรให้ตอบโจทย์สังคมไทย สังคมโลก” โดยถ่ายทอดสดผ่านทาง
สื่อออนไลน์
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรฯ ได้จัดทำกรอบแนวคิดพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเปิดรับสมัครโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มีความสมัครใจเพื่อดำเนินการทดลองใช้กรอบหลักสูตรใหม่ ปรากฏว่ามีโรงเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมการทดลองใช้หลักสูตรรวมทั้งสิ้น 267 โรงเรียนใน 8 จังหวัด และครอบคลุมทุกโรงเรียนในสังกัด ทั้งนี้ กระทรวงได้ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของครูผู้สอน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ปกครองผู้เรียน และประชาชน ในการร่วมพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้ จึงได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนใน 3 ทาง คือ 1) จัดเวทีระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นจำนวน 7 ครั้ง จากกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรด้านการศึกษา กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กลุ่มนักเรียน/เยาวชน กลุ่มครู กลุ่มผู้บริหารโรงเรียน กลุ่มอาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ กลุ่มผู้ประกอบการเอกชน2) รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนร่วมในการทดลองหลักสูตรในพื้นที่นำร่อง จำนวน 267 โรงเรียน และ 3) รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามผ่านทางเว็บไซต์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเวทีระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นวันนี้ ถือเป็นเวทีแรกในการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาหลักสูตร
ทางด้าน นายอัมพร กล่าว สิ่งที่เราได้ระดมความคิดในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน ทำให้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ปรับปรุงการเรียนการสอนของนักเรียน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สังคมต้องการคือการมีงานทำที่ตอบโจทย์สังคมและโลกให้สามารถเกิดขึ้นได้ โดยการปรับหลักสูตรครั้งนี้คงไม่ใช่การเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เป็นการต่อยอดหรือเน้นในสัดส่วนที่เรายังขาดหายไปในหลักสูตรเก่า ให้ผู้เรียนเกิดทักษะ เกิดความรู้ความสามารถ และทำได้เก่งมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยหรือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดหลักสูตรที่สมบูรณ์และมีคุณค่าจะต้องสอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและผู้ใช้หลักสูตร ซึ่งทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตรงจุดนี้ จากการระดมความคิดร่วมกันก็เหมือนเราได้พิมพ์เขียวที่ดีและกรอบแนวคิดที่ดีมาเป็นแนวทาง ทางคณะกรรมการฯ ก็จะนำเอาข้อเสนอแนะไปปรับใช้ให้ดียิ่งขึ้น ผมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้มาร่วมเสวนาในวันนี้ ซึ่งข้อคิดเห็นของทุกคนจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาต่อไปในอนาคตเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขณะที่ ดร.สิริกร กล่าวว่า การปรับหลักสูตรเป็น 6 สมรรถนะ ประกอบด้วย การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูงการสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน สมรรถนะเหล่านี้จะทำให้เด็กคิดได้ทำเป็น เห็นคุณค่า ซึ่งเราได้พยายามทำอย่างรอบคอบ เพราะเราต้องการเติมเต็มให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ทำให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม ได้เรียนรู้สิทธิเสรีภาพของตนเอง และมีส่วนร่วมในสังคมแบบมีวิจารณญาณ นอกจากนั้น รมว.ศธ. ยังได้เสริมในเรื่องของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความเป็นไทย ให้เด็กมีความคิดเท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างสันติวิธี รวมทั้งมีจิตวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์นวัตกรรม ถนอมธรรมชาติให้อยู่กับเราไปนานๆ และเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งของประเทศไทยและของโลก
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงาน เมื่อเดือนสิงหาคมเราได้ทำการยืนยันกับโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการนำร่องในการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ใน 8 จังหวัดของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต่อมาในระหว่างเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะรับฟังความคิดเห็นใน 3 ทาง คือ จากโรงเรียนที่ได้ทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร รวมถึงมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งในครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรก และมีการเปิดรับฟังจากเว็บไซต์ CBE Thailand ที่จะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันในช่วงต้นเดือนกันยายน ทางคณะกรรมการฯได้เห็นชอบร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 โดยให้ทดลองใช้หลักสูตรในโรงเรียนนำร่อง จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 เราจะรับสมัครโรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ในส่วนนี้เราต้องมีความรอบคอบเนื่องจากว่าเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนบางโรงในเขตพื้นที่สีแดงอาจจะยังไม่พร้อมในการใช้หลักสูตรใหม่ เราจึงเปิดรับสมัครโรงเรียนที่สมัครใจ มีความพร้อมและอยากจะทำตรงนี้ ซึ่งเราจะประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรใหม่นี้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จากนั้นในเดือนมีนาคมเราจะทำการสรุปผลวิจัยและการรับฟังความคิดเห็นแล้วนำไปปรับปรุงหลักสูตร เพราะฉะนั้นทุกเสียงที่ได้แสดงความคิดเห็นเข้ามาเป็นเสียงที่มีค่า ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตครู เช่น คณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ ทุกเสียงต่างก็มีคุณค่าในการนำไปปรับหลักสูตรให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
“สุดท้ายในส่วนของการปรับใช้หลักสูตร ในเดือนพฤษภาคม ปี 2565 เราจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในระดับประถมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อม จากนั้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 จะใช้หลักสูตรใหม่ในระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อม และโรงเรียนประถมศึกษาที่เหลือ จากนั้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 เราจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะครบทุกโรงเรียน ดังนั้นเราจะใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งในขณะนี้ร่างกรอบหลักสูตรระดับประถมศึกษาของช่วงชั้นแรกได้จัดทำเสร็จสิ้นแล้วเหลือเพียงการวิพากษ์ที่จะจัดขึ้นในทุกวันเสาร์ที่จะนำมาประกอบการปรับ เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด รวมทั้งมีการนำข้อมูลจากประเทศที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฯลฯ นำมาทบทวนและปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยต่อไป” ดร.สิริกร กล่าว