การจัดการเรียนการสอน แบบ “Research-based learning” (RBL) โดยให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ใช้กระบวนการวิจัยในตั้งคำถามและหาคำตอบควบคู่กับครูในโรงเรียน ครูชุมชน และครูพ่อแม่ เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็ก ตามสูตรครู 3 เส้า หรือ สูตร 30-30-40
การจัดการเรียนการสอน แบบ “Research-based learning” (RBL) โดยให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ใช้กระบวนการวิจัยในตั้งคำถามและหาคำตอบควบคู่กับครูในโรงเรียน ครูชุมชน และครูพ่อแม่ เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็ก ตามสูตรครู 3 เส้า หรือ สูตร 30-30-40
ผู้เขียน ภูษิมา ภิญโญสินวัฒน์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
การจัดการเรียนการสอนตามสูตรครู 3 เส้า หรือ สูตร 30-30-40 คือ จุดเริ่มของผลสำเร็จกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ จ.สตูล แต่ตามที่ ผู้เขียนเขียนในบทความก่อนหน้าว่าการขยับปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ด้วยวิธีดังกล่าวไม่ง่าย ดังที่มีหลายความท้าทายเกิดขึ้น โดยเฉพาะการชักชวนคนในชุมชน รวมถึงคุณครูมาร่วมกระบวนการและออกแบบหลักสูตรด้วยกัน
แรงร่วมมือในการผลักดันการศึกษา เป็น “วาระจังหวัดสตูล”
การตระหนักว่า “การศึกษาเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน ไม่ใช่แค่หน้าที่ของโรงเรียน” ของหลายภาคส่วน ทำให้เกิดความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับหัวใจของการเรียนรู้ตามสูตรครู 3 เส้า และนำมาสู่การผลักดันเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดจนเป็น “วาระจังหวัดสตูล”
มี “ทีมจังหวัด” ประกอบด้วย สมาคมผู้ปกครองของจังหวัดสตูล ทีมวิชาการ โรงเรียนแกนนำ นักวิจัยท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล รวมทั้งกลุ่มคนนอกวงการการศึกษาอย่างกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่จังหวัดสตูล (Young Entrepreneur Chamber of Commerce – YEC) และหอการค้าจังหวัด แม้ไม่ได้มีบทบาทโดยตรงกับเรื่องการจัดการศึกษา แต่ก็เข้ามามีส่วนร่วมเชิงรุกในการพัฒนาการศึกษาจังหวัด ซึ่งเริ่มตั้งแต่การร่วมกันตั้งเป้าหมาย วางแผนกลยุทธ์ ทำงานร่วมกันกับกลุ่มคนด้านการศึกษา ทำให้นวัตกรรม RBL ครูสามเส้า และหลักสูตรภูมิสังคมของคนสตูลกลายเป็นที่ยอมรับ โรงเรียนหลายแห่งได้นำนวัตกรรมนี้ไปใช้กับบริบทของตนเองและกระจายในวงกว้างมากขึ้น
นอกจากนี้ ทีมจังหวัดนำโดยกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล ได้สร้างแพลทฟอร์ม “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ปี 2563” เพื่อจัดการและแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายการศึกษาและผลการทำงานจริงของโรงเรียน โดยทุก ๆ คน สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับหน้างานของตนเองได้ เช่น ครูอาจใช้ข้อมูลดังกล่าวกับการวางแผนการจัดการโครงงานร่วมกับเด็ก ทีมวิชาการของพื้นที่ใช้ข้อมูลคอยติดตามสนับสนุนการทำงานของครู คนภายนอกสามารถติดตามเส้นทางความสำเร็จของการจัดการศึกษาของโรงเรียนผ่านข้อมูลนั้น ๆ เพื่อคอยสนับสนุนโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
ความท้าทายระหว่างทางเดินสู่ความสำเร็จของการศึกษาสตูล
แม้ว่าความสำเร็จทางการศึกษาของ จ. สตูล ปรากฏชัดเจนในตัวเด็ก ๆ ที่มีทักษะ สมรรถนะมากขึ้น เช่น สามารถตั้งโจทย์ว่า “ทำอย่างไรให้กองทุนหมู่บ้านให้กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง” “ทำอย่างไรจึงจะลดค่าไฟฟ้าของชุมชนได้” จนนำมาสู่ผลลัพธ์ความเปลี่ยนที่ดีขึ้นต่อครอบครัวและชุมชน และมีโรงเรียนเข้าร่วมพื้นที่นวัตกรรมเพิ่มจากโรงเรียน 10 เป็น 14 แห่งในปีที่แล้ว แต่อาจยังไม่สามารถจูงใจครูส่วนใหญ่ทั้งจังหวัดมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กได้มากนัก
โดยพบว่า ครูจำนวนหนึ่งเลือกบรรจุ หรือ ย้ายไปโรงเรียนที่ยังจัดการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม หรือ เลือกไม่ย้ายเข้าโรงเรียนอนุบาลสตูล หรือโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม เพราะเป็นกลุ่มโรงเรียนที่ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม ครูอาจจะต้องทำงานตามระบบเดิมและระบบใหม่ที่เรียกว่าระบบ 2 ซิม จนกว่าจะได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จึงต้องลงทุนด้วยเวลา ทรัพยากร และหัวใจ ดังนั้นจึงถือได้ว่า นี่คือความท้าทายของทีมจังหวัดที่จะดึงดูดครูใหม่ ๆ ที่มีใจเข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง และรักษาครูกลุ่มเดิมไว้ พร้อมร่วมพัฒนาขับเคลื่อนไปด้วยกัน
อีกความท้าทาย คือ การขับเคลื่อนการทำงานในระบบราชการ ระบบการติดตามงานจุดเน้นตามนโยบายของกระทรวง ทำให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และศึกษานิเทศก์ ยังคงต้องใช้รูปแบบการติดตามงานโครงการในรูปแบบเดิม ๆ เช่น ติดตามรายปี ติดตามเป็นรอบการทำงานประจำที่ไม่สามารถเห็นพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
เอาชนะความท้าทาย ด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม
“คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม” คือ คณะทำงานที่ประกอบด้วยกลุ่มคนในและนอกวงการการศึกษา ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ ซึ่งมีกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ขับเคลื่อนการศึกษาของ จ.สตูล
คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมเป็นหมากสำคัญที่สามารถเอาชนะความท้าทายข้างต้น โดยการรับฟังและเป็นกระบอกเสียงในกับทีมจังหวัดที่จะส่งต่อความต้องการให้กับคณะกรรมการนโยบายส่วนกลางให้รับรู้ เช่น เรื่องขวัญกำลังใจของครูที่ทุ่มเทกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนี้
อีกบทบาท คือ การคิดหานวัตกรรมการบริหารจัดการระดับพื้นที่ ร่วมตั้งเป้าหมายและทำงานแบบข้ามหน่วยงาน เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เปลี่ยนการสั่งการเป็นการให้สนับสนุนการทำงานของโรงเรียน
อีกทั้งอาจมีการต่อยอดแพลทฟอร์ม “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ปี 2563” ให้เป็นฐานข้อมูลระดับจังหวัดที่สมบูรณ์ครบถ้วน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมการบริหาร ที่สามารถเป็นต้นแบบความสำเร็จของการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่อีกด้วย
หากใช้กลไกของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เปรียบเสมือนช่องทางด่วน ทำให้ความสำเร็จของ จ.สตูลไม่หยุดอยู่แค่จากนักเรียนสู่ชุมชน แต่จะขยายไปถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ระดับส่วนกลาง ที่จะเห็น จ.สตูล เป็นต้นแบบความสำเร็จการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการศึกษา
เพราะ ทุก ๆ คนทั้งในกลไกทางการและไม่เป็นทางการร่วมด้วยช่วยกัน ส่งเสริมให้คนหน้างานอย่าง ครู ผู้อำนวยการ และทีมเขตพื้นที่ฯ ทำงานพัฒนาโรงเรียนได้ราบรื่น จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมกับเด็กและสังคม ซึ่งบทสรุปสุดท้าย ก็คือ บทเรียน จ.สตูล ทำให้เราได้เห็นแล้วว่า “การศึกษาคือหน้าที่ของทุก ๆ คน”