ชู “จะนะโมเดล” ชุมชนร่วมใจใช้พื้นที่ “ปอเนาะ” เปิด รพ.สนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 บรรเทาความรุนแรงสถานการณ์โรคระบาด จ.สงขลา ลงได้มาก พร้อมรูปแบบการใช้กติกาชุมชน สามารถจัดการเรียนการสอนไปได้ในตัว
น.ส.ศุภวรรณ ชนะสงคราม ผู้ประสานงานเครือข่าย COVID SONGKHLA WATCH เปิดเผยถึงแนวทางการจัดการโรงพยาบาลสนามโดยพลังของชุมชนในการมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา หรือ จะนะโมเดล โดยระบุว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ทางโรงพยาบาลจะนะได้รับความร่วมมือจากชุมชน ในการใช้พื้นที่โรงเรียนปอเนาะเพื่อเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม รวมจำนวน 9 แห่ง ทำให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยได้มากและทำให้สถานการณ์ไม่หนักไปกว่านี้
สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายใต้แนวทางความร่วมมือจะนะโมเดลนี้ ได้นำโรงพยาบาลสนามที่จัดตั้งขึ้นมาในช่วงการระบาดรอบก่อนหน้า มาใช้เป็นต้นแบบในการขยายไปยังพื้นที่ปอเนาะอื่นๆ ในการระบาดรอบนี้ โดยมีโรงพยาบาลสนามต้นแบบ 3 รูปแบบที่สำคัญ ประกอบด้วย
1. โรงพยาบาลสนามโรงเรียนตาดีกาบ้านท่าชะมวง (โคกแค็ด) จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยใน 3 ชุมชนที่อยู่ติดกัน และมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งนอกจากการตั้งโรงพยาบาลสนามแล้ว ชุมชนยังมีข้อตกลงในการทำ “เสมือนล็อคดาวน์” ไม่ต้องเข้าระบบราชการหรือเข้าเงื่อนไขของทางราชการจริงๆ แต่สร้างปัจจัยให้คนในชุมชนอยู่กับที่ ไม่ออกจากบ้าน ไม่ออกนอกชุมชน เช่น ช่วยกันระดมทุนทำอาหารให้ผู้ป่วย มีถุงยังชีพให้คนไม่ป่วยในชุมชน เป็นต้น
“รูปแบบการจัดการดังกล่าวส่งผลให้ไม่เกิดการแพร่เชื้อกันเองในชุมชน และไม่แพร่เชื้อออกไปติดข้างนอก ซึ่งหลังจากไม่มีผู้ติดเชื้อแล้ว โรงพยาบาลสนามดังกล่าวก็ปิดตัวไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา” น.ส.ศุภวรรณ กล่าว
2. โรงพยาบาลสนามโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับบุคลากรในโรงเรียน จำนวน 33 เตียง จุดเริ่มต้นเกิดจากมีครูและนักเรียนติดเชื้อจำนวนมาก จึงได้ประสานแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลจะนะมาตรวจ โดยทางโรงเรียนออกค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ตรวจแบบ Rapid Test เอง เพราะขณะนั้นยังไม่มีโครงการแจก ATK ให้ตรวจฟรีจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ทั้งนี้ เมื่อตรวจแล้วก็มีปัญหาว่าจะเอาผู้ป่วยไว้ที่ไหน สุดท้ายจึงสรุปว่าจะใช้พื้นที่โรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยใช้โต๊ะนักเรียนมาต่อกันเป็นเตียง ใช้ห้องพักครูเป็นห้องสำหรับผู้ป่วย ที่สำคัญคือครูที่ป่วยยังสามารถสอนนักเรียนแบบออนไลน์ได้ด้วย โดยโรงพยาบาลสนามดังกล่าวปิดตัวเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564
3. โรงพยาบาลสนามโรงเรียนศาสนบำรุง เป็นโรงพยาบาลสำหรับประชาชนในระดับอำเภอ ขนาด 200 เตียง รองรับผู้ป่วยใน อ.จะนะ ทั้งหมด ซึ่งมีที่มาจากเจ้าของโรงเรียนได้ตั้งใจสร้างโรงเรียนและอาคารเผื่อช่วยเหลือประชาชนหากประสบอุทกภัย แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 จึงปรับมาทำเป็นโรงพยาบาลสนามแทน โดยทำการปิดโรงพยาบาลสนามไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2564
น.ส.ศุภวรรณ กล่าวว่า แม้โรงพยาบาลสนามต้นแบบทั้ง 3 แห่งจะปิดไปแล้ว แต่เมื่อมีการระบาดรอบใหม่ ก็ได้มีการนำเอาโมเดลข้างต้นมาใช้ขยายโรงพยาบาลสนามในโรงเรียนปอเนาะอื่นๆ รวม 9 แห่ง โดยปอเนาะที่ใหญ่ที่สุดคือโรงเรียนบุสตานุดดีน รับผู้ป่วยได้ 350 เตียง และขยายได้ถึง 500 เตียง นอกจากนี้ยังสามารถเปิดการเรียนการสอนได้โดยแยกพื้นที่ไม่ให้ปะปนกัน
“แม้จะเอาพื้นที่ปอเนาะถึง 9 แห่งมาทำโรงพยาบาลสนามแล้วก็ยังรองรับไม่พอ แต่ก็ช่วยให้สถานการณ์ไม่หนักมาก และโมเดลเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ก็เป็นทุนทางสังคม ที่เป็นความเอื้อเฟื้อกันระหว่างชาวพุทธและมุสลิมอยู่แล้ว เพราะโรงพยาบาลสนามเปิดรับทั้งชาวพุทธและมุสลิม ไม่มีแบ่งแยก รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และครูสอนศาสนาที่เชื่อมโยงและทราบข้อมูลกันทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อฝ่ายศาสนาทราบว่าฝ่ายสาธารณสุขมีความเดือดร้อนก็มาช่วยกัน” น.ส.ศุภวรรณ กล่าว