27 ต.ค. 2564 เวลา 6:00 น.
คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน โดย…ประพันธุ์ คูณมี
ด้วยความเข้าใจแบบคนที่มิใช่ศิษย์เก่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้วยความไม่ใส่ใจอ่านหนังสือ หรือศึกษาค้นคว้าน้อยแบบคนไทยทั่วๆ ไป จึงทำให้เรามักจะได้ยินคนบางจำพวก พยายามกรอกความใส่หูให้ได้ยินบ่อยๆ ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยของพวกเจ้า ลูกขุนนาง ราชตระกูล เป็นสถาบันของชนชั้นสูงลูกชาวบ้านอย่างเราๆ หรือ ประชาชนทั่วไป ไม่มีสิทธิ์ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนหรอก
คนภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป จึงมักไม่ค่อยจะได้รับรู้ว่าสถาบันแห่งนี้ มีประวัติและความเป็นมาอย่างไร จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีคนที่อ่านคอลัมน์ “อ่านเอาเรื่อง ผักกาดหอม” ได้เขียนถึงในไทยโพสต์ ชื่อเรื่องว่า “เดรัจฉาน” ที่จุฬาฯ” กรณีที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่มี นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายกฯ ได้ออกแถลงการณ์ โดยมติ อบจ. 27 ต่อ 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่า เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฎิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป
กรณีนี้แหละครับ ทำให้ผมต้องรีบศึกษาหาความรู้ว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และกิจกรรมที่ นายเนติวิทย์ กับพวกพูดถึง เป็นกิจกรรมที่สร้างความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมจริงหรือไม่
เมื่อเปิดเข้าไปดูในเว็บไซต์ของจุฬาฯ เพื่อทำความรู้จักกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จะพบหน้าแรกเกี่ยวกับประวัติของจุฬาฯ ว่า เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะปรากฏพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงเรียน
พระตำหนักสวนกุหลาบ พุทธศักราช 2427 ความว่า “เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉนั้น จึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้ จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้” อันแสดงให้เห็นถึงปณิธานแน่วแน่ของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่มีพระประสงค์จัดให้มีสถาบันการศึกษาแก่ประชาชนทุก โดยมิได้แบ่งแยกชนชั้นแต่อย่างใด
เมื่อติดตามศึกษาต่อไปก็พบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาการข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2442 และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน 2445 เพื่อผลิตบุคคลากรให้รับราชการ ซึ่งเมื่อมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ พ.ศ.2425
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคราชการและเอกชนต้องการบุคคลากรทำงานในสาขาวิชาการต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราช ที่จะให้มี “มหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อ 1 มกราคม 2453
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษา ในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นคือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่เล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่รับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ฐานโรงเรียนข้าราชการขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระบรมชนกาธิราชให้เจริญก้าวหน้ากว้างขวางแผ่ไพศาลต่อไป
โดยในช่วงแรกมีการจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ รัฐประศาสนศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และมีการปรับปรุงพัฒนา ยกระดับมาตรฐานการศึกษา จนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน
ได้อ่านได้ศึกษาและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับประวัติและความเป็นมาของของจุฬาฯ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แก่สามัญชนลูกชาวบ้าน หรือลูกเจ๊กจีน ชนชั้นธรรมดาๆ ที่มิได้เป็นลูกขุนนาง ราชตระกูล อย่างพวกเราชาวไทยโดยทั่วไป แม้มิได้เป็นศิษย์เก่าของจุฬาฯ ล้วนทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในหลวงรัชกาลที่ 5 และที่ 6 เป็นยิ่งนัก ที่ได้ทรงก่อตั้งมหาวิทยาลัย ขยายการอุดมศึกษาของประเทศ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกชนชั้น ได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนโดยเท่าเทียมกัน
ไม่ว่าเจ้า ขุนนางหรือไพร่ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็เปิดรับเปิดก้วาง โดยถือกำเนิดขึ้นเพื่อโอกาสและสร้างความเท่าเทียมกันในการศึกษาของประชาชน ไทย และชนทุกชั้นในสังคม หาได้มีการแบ่งแยกหรือกีดกันทางชนชั้น หรือสร้างความไม่เท่าเทียมแตกต่างกันในหมู่ประชาชนไทยในสังคมแต่อย่างใด
ยอมรับตามตรงครับว่า ความจริงเรื่องนี้ผู้เขียนเองก็เพิ่งจะทราบ ต้องขอบคุณเดรัจฉานที่ทำให้หูตาสว่าง แม้จะมีลูกชายเข้าเรียนและสำเร็จการศึกษาที่จุฬาฯ แต่ก็มิได้เข้าใจประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อย่างที่ควรจะเข้าใจ การได้ศึกษาและทำความเข้าใจในความเป็นมาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทำให้ทราบและพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน” เป็นมรดกอันล้ำค่าที่พระมหากษัตริย์ไทย ก่อตั้งขึ้นและมอบไว้ให้แก่ลูกหลานชาวไทยทุกคน ทุกชนชั้น
คนไทยคนใดคนหนึ่ง หรือบุคคลใดคณะใดที่บังอาจหลบหลู่ดูหมิ่น เหยียบย่ำทำลาย พระเกียรติคุณแก่ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มันผู้นั้นย่อมเหยียบย่ำหัวใจของประชาชนไทยทั้งประเทศ จึงมิเพียงแต่ศิษย์เก่าชาวจุฬาฯ เท่านั้นที่สมควรร่วมกันออกมาปกป้องสถาบันอันทรงเกียรติของตน คนไทยทั้งประเทศก็ไม่ควรปล่อยให้เดรัจฉานและกลุ่มคนเลวกลุ่มใดๆ ให้ออกมาเหยียบย่ำจิตใจของประชาชนคนไทยด้วยเช่นกัน