กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทรงย้ำถึงความสำคัญของบทบาทของครูที่ต้องเผชิญความท้าทายในการสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 และพระราชทานปาฐกถาพิเศษ เนื่องในการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา ในหัวข้อ การทรงงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และการพัฒนาครูและสถานศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการประชุมในรูปแบบผสมผสานทางออนไลน์และการเชื่อมสัญญาณ ณ วังสระปทุม โรงแรมสยามเคมปินสกี สถานทูตไทยประจำประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนและติมอร์-เลสเต และศูนย์ราชการจังหวัดพังงา
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเนื่องในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 ว่า ขอแสดงความยินดีกับครูผู้ได้รับรางวัล ซึ่งถือครูผู้อุทิศตนที่ช่วยในการพัฒนาเด็กเยาวชนเพื่อให้ประเทศและภูมิภาคเรามีอนาคตที่ดีขึ้น และรู้สึกดีใจที่พิธีพระราชทานรางวัลในครั้งนี้จัดขึ้นพร้อมกับการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคที่เน้นบทบาทที่สำคัญของครูที่จะสร้างการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการพัฒนาคนรุ่นใหม่จะเป็นจริงได้อยู่ที่ครู เพราะครูต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) แต่ครูยังเป็นปัจจัยสำคัญทำให้นักเรียนมีความพร้อมสำหรับอนาคต ทุกวันนี้ครูได้รับผิดชอบในการปรับตัวตามสถานการณ์ New Normal โดยครูต้องพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และมีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี
นอกจากนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐกถาพิเศษเนื่องในการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา ในหัวข้อ การทรงงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และการพัฒนาครูและสถานศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ในสถานการณ์โควิด-19 พวกเราควรพยายามให้ความมั่นใจได้ว่านักเรียนมีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย ในสถานการณ์เช่นนี้นักเรียนสามารถเรียนทางออนไลน์แต่อาจไม่สะดวกโดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงอยากแลกเปลี่ยนกรณีองค์กรภาคประชาสังคมที่สามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น การจัดหาถุงยังชีพ ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลาง เดิมเป็นอุปกรณ์ยังชีพจึงมีแนวคิดว่าน่าจะมีแบบฝึกหัด อุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียน ซึ่งเรียกว่า ถุงยังชีพเพื่อการศึกษา โดยมีครู อาสาสมัคร และพระนำของเหล่านี้ให้กับนักเรียนที่บ้าน ในสถานการณ์โควิด-19 ข้าพเจ้าได้เพิ่มหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ แบบฝึกหัด สมุดให้กับนักเรียน รวมถึงการใช้ศาลากลางเปรียญเป็นศูนย์กลางกระจายอาหารเพื่อให้ครอบครัวไปรับ ในความคิดของข้าพเจ้า นักเรียนต้องได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ และได้รับสารไอโอดีนและธาตุเหล็กเพื่อดูแลสุขภาพในทุกช่วงวัย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียในการพัฒนาการศึกษา
“ แม้จะมีสถานการณ์โควิดแต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป และหลังจากสถานการณ์โควิด ชีวิตอาจจะไม่เหมือนเดิมไม่เฉพาะนักเรียนเท่านั้นแต่รวมถึงประชาชนควรจะต้องศึกษาหาความรู้และทักษะใหม่ ๆ ในการประกอบการอาชีพและในการศึกษาในยุค New Normal ข้าพเจ้าสังเกตว่ามีนวัตกรรมการเรียนรู้แบบใหม่เข้ามา หากเรายังไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ เราควรใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือ เราควรจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราสร้างและประดิษฐ์ และจะใช้นวัตกรรมเหล่านั้นเพื่อพัฒนาสังคมต่อไป ที่สำคัญคือการหาวิธีเพื่อรักษาตัวเองและผู้อื่นให้ปลอดภัยจากโควิด-19 เราต้องปกป้องตนเองและผู้อื่น”
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การศึกษาทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากสถานการณ์โควิด-19 และโรงเรียนต้องมีวิธีการจัดการในรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป จึงมีการนำวิธีการเรียนการสอน อาทิ ทางออนแอร์ผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ทางออนไลน์ ออนไซท์ในห้องเรียน ออนดีมานด์ เรียนผ่านระบบแอปพลิเคชั่น และออนแฮนด์ซึ่งครูผู้สอนจะไปแจกเอกสารการเรียนให้แก่นักเรียนที่บ้าน ทั้งนี้เราไม่อาจปล่อยให้โรงเรียนปิดต่อไปได้อีก กระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนที่จะเปิดเรียนเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายน และได้มีการฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และครูทั่วประเทศแล้วเพื่อเตรียมพร้อมให้เปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย พร้อมการพัฒนาครูผู้สอนให้มีทักษะจำเป็นในการบรรลุศักยภาพสูงสุด ซึ่งเราเชื่อว่าครูคือหัวใจในการฟื้นฟูระบบการศึกษาและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา โดยรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จาก 11 ประเทศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า สำหรับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 มีประวัติที่น่าสนใจดังนี้
1. บรูไน ดารุสซาลาม เปองีรัน ฮาจี โมฮัมหมัด วาฮับ บิน เปองีรัน ฮาจี อับดุลละฮ์ เป็นอาจารย์สอนด้านการโรงแรมและการทำอาหาร วิทยาลัยด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว วิทยาเขตไอบีทีอี สุลต่านไซฟุล ไรจัล (IBTE Sultan Saiful Rijal Campus) งานร้านอาหาร การจัดเลี้ยง และการประกอบอาหารอย่างสร้างสรรค์
2. กัมพูชา นายณอน ดารี สอนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียน Quach Mengly Toulbeng, จังหวัด Kampong Cham ผู้ริเริ่มประยุกต์ใช้การบูรณาการเรียนการสอนหลากหลายวิธีการเพื่อมุ่งช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้และทักษะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเน้นแนวทางการสอนโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง
3. อินโดนีเซีย น.ส.คอรีอิยะฮ์ สอนวิชาวิทยาศาสตร์โรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 32 Bandar Lampung จังหวัดลำปุง นับเป็นครูผู้โดดเด่นด้านการสอนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ครูได้จัดการผลิตสิ่งพิมพ์ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเครื่องมือการเรียนรู้มากมายสำหรับโรงเรียนในอินโดนีเซีย
4. สปป. ลาว นางแสงเพ็ด คูนปะเสิด หัวหน้าสาขาวิชาฟิสิกส์แห่งโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์เทศบาลแขวงอุดมไซ ร่วมพัฒนาหลักสูตรการสอนวิชาฟิสิกส์สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเผยแพร่สื่อให้กับโรงเรียนอีก 14 โรง ในแขวงอุดมไซ รวมทั้งเป็นวิทยากรระดับจังหวัดในวิชาวิทยาศาสตร์และมีงานเขียนเอกสารทางวิชาการมากมาย
5. เมียนมา นายจอร์ ซิน ออง ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนมัธยมศึกษา Basic Education High School หมายเลข 8 ที่เมือง ล่าเสี้ยว (Lahio) ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ครูผู้เป็นแบบอย่างและใช้การเรียนรู้จากประสบการณ์ร่วมกับนักเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างเข้าใจและสนุก
6. มาเลเซีย นายโนร์ฮาอิลมี อับดุล มูตาลิบ ครูสอนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมศึกษา SMK Jerlun ในรัฐเคดาห์ ผู้เป็นต้นแบบขยายประสบการณ์การสอน อย่างสร้างสรรค์ในวิชาสะเต็มศึกษา ระดับประเทศและแนวทางการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 ทั้งยังบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์มาประยุกต์ใช้กับการสอนของตนเอง
7. ฟิลิปปินส์ นายมาเซโล ที โอทินเควท ครูใหญ่ของโรงเรียน Governor Bado Dangwa Agro-Industrial School ในเมืองกะพันกัน (Kapangan) จังหวัดเบงเก็ต (Benguet) ผู้ดำเนินชีวิตภายใต้ปรัชญา “ชีวิตคือการให้บริการ” เป็นผู้นำในการริเริ่มโครงการพัฒนาโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่
8. สิงคโปร์ นายหยก จูน เม็ง หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษและสังคม โรงเรียนประถมศึกษาหยูเหิง โดยนำ ICT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ บูรณาการการคิดและวิเคราะห์ การใช้ Coding และมีการทำแผนภาพการใช้ ICT บูรณาการกับโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน
9. เวียดนาม น.ส.ฮ่า หัน เฟื่อง ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมัธยมศึกษา Huong Can จังหวัด Phu Tho พัฒนาการเรียนการสอนแบบห้องเรียนไร้พรมแดนให้เด็กนักเรียนบนพื้นที่สูงและเด็กชนเผ่า และบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษเข้าไปในการเรียนการสอน เชื่อมโยงกับสังคมยุคใหม่ด้วยแนวคิดการเป็นพลเมืองโลก
10. ประเทศไทย น.ส.ประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูอาชีวศึกษาผู้สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช.วิทยาลัยเทคนิคพังงา จังหวัดพังงา มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเขียนแผนธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาธุรกิจของผู้เรียนอาชีวศึกษาได้รับรางวัลระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ “บางพัฒน์โฮมสเตย์” ที่ดำเนินการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
11. ติมอร์-เลสเต นายวินเซ็นเต มาร์กัล ดา ซิลวา ครูใหญ่ของโรงเรียน Ensino Central Tirilolo Baucau ตลอดอาชีพการงานของครูใหญ่วินเซ็นเต ได้มีส่วนร่วมสำคัญในหลายโครงการที่ส่งเสริมการศึกษาในติมอร์-เลสเต