หลังจากมีปัญหาการจัดสรรโควตานมโรงเรียน จนตัวแทนสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอไรซ์ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปี 2565 นั้น ล่าสุดมีการเคลื่อนไหวจากชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ร่วมกับตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่มวกเหล็กออกแถลงการณ์โต้ตอบถึงความไม่ชอบธรรมดังกล่าว
นายสุรักษ์ นามตะ ประธานชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด เผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ภาคกลางทั้ง 15 สหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ ส่วนใหญ่รวบรวมน้ำนมดิบส่งขายให้กับ อ.ส.ค. เป็นหลัก โดย อ.ส.ค.นำน้ำนมดิบไปผลิตนมพาณิชย์และนมโรงเรียน การที่มีบางคนออกมาคัดค้านการเข้าร่วมโครงการอาหารนมโรงเรียนของ อ.ส.ค.จึงถือเป็นการไม่สนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ แล้วยังไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีรายได้ที่มั่นคงในอาชีพอีกด้วย
“โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2563/2564 นี้ อ.ส.ค.ได้ทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายน้ำนมดิบ (MOU) กับสหกรณ์สมาชิกทั่วประเทศจำนวน 681 ตัน/วัน แต่โดยความเป็นจริงแล้ว หลายคนไม่รู้ว่า อ.ส.ค.ต้องรับซื้อน้ำนมดิบเกิน MOU ประมาณ 7-10% ทุกปี หรือคิดเป็น 20% ของน้ำนมดิบรวมทั้งประเทศ ถือเป็นหน่วยงานที่รับซื้อน้ำนมดิบที่ผลิตจากฟาร์มโคนมเกษตรกรมากที่สุดในประเทศไทย”
ประธานชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน อ.ส.ค.ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นที่พึ่งของเกษตรกรเลี้ยงโคนมไม่น้อยกว่า 4,600 ฟาร์มจากประมาณ 19,200 ฟาร์มทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรและสหกรณ์โคนมที่เป็นเครือข่ายของ อ.ส.ค.มีการเติบโตเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ ส่งผลให้เกษตรกรมีความยั่งยืน และมั่นคงในการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนม คุณภาพของผลิตภัณฑ์นมผ่านกระบวน การผลิตจากโรงงานที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ จึงถือได้ว่า อ.ส.ค.เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ และจำเป็นต้องอยู่คู่กับเกษตรกรเลี้ยงโคนมของประเทศต่อไป ขณะที่โครงการนมโรงเรียนมีเจตนารมณ์ให้เด็กได้ดื่มนมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง จึงขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่ดูแลส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร ความเป็นธรรมและสิทธิที่พึงได้ให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินธุรกิจเพื่อดูแลเกษตรกร
“ส่วนกรณีมีการกล่าวถึงบทบาท อ.ส.ค.ว่ามาทุ่มตลาดนมโรงเรียน ขอให้ อ.ส.ค.ทบทวนบทบาทในการดำเนินงาน ผมคิดว่าเป็นคำกล่าวที่คิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวของผู้กล่าวอ้าง เป็นการสร้างกระแสข่าวต่อสาธารณะทำนองอ้างถึงหลักธรรมาภิบาล ในฐานะที่ติดตามการดำเนินงานโครงการนี้มาตลอด กลับเห็นว่าการบริหารจัดการโครงการฯ การที่เกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น เพราะมีการแย่งชิงโควตาเพื่อให้ได้สิทธิเข้ามาดำเนินการในโครงการของผู้ประกอบการ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรโดยตรง” นายสุรักษ์ กล่าว.