วันอังคาร ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 06.00 น.
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบระยะเวลา 10 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2573) วงเงิน 9,619 ล้านบาท รวมไปถึงการสนับสนุนที่ให้เพิ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในเขตพื้นที่การศึกษาอีก 6 แห่ง จากเดิมมีอยู่ 12 แห่งรวมเป็นจำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินงานของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในช่วงที่ผ่านมานั้นพบว่าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านการเตรียมความพร้อมกำลังคนระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ลงทุนจากประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) และโครงการอื่นๆ ของประเทศ
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จึงอยากให้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปยังโรงเรียนต่างๆ โดยใช้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นฐานหรือศูนย์กลางในการพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสในการเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างมี STI (Science Technology & Innovation)ต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงรายนั้นได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนแบบ Onsiteตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 โดยมีการจัดการเรียนการสอนแบบ hybrid ทั้ง Onsiteสำหรับนักเรียนที่แจ้งความประสงค์และได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองในการเข้ามาเรียนที่โรงเรียน และ Online สำหรับนักเรียนที่แจ้งความประสงค์ในการเรียนที่บ้าน และในส่วนของการได้รับวัคซีนของครูและบุคลากรนั้นก็ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 99% และนักเรียนได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 100%
“ต้องขอชื่นชมทางโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงรายเป็นอย่างมากที่ได้ดำเนินการเปิดโรงเรียนแบบ Onsite ตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สามารถจัดการเรียนการสอนอย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันก็สามารถสอนเด็กให้มีความรู้ ความสามารถเทียบเท่าระดับนานาชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งอยากจะฝากเพิ่มว่าเรามีเด็กเก่งแล้ว มีครูที่เก่งแล้ว เราจะต้องสอดแทรกเรื่อง Coding เรื่อง STI รวมถึงเรื่องคุณธรรมเข้าไปด้วย เพื่อให้เขานำไปต่อยอดใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ทั้งนี้กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยในการพัฒนานักเรียน ครู ผู้บริหารด้านทักษะภาษาอังกฤษ โดยสนับสนุนทุนการศึกษาในการไปศึกษาต่อในหลักสูตรพัฒนาภาษาอังกฤษระยะสั้นสำหรับนักเรียน การสนับสนุนความร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษาและมหาวิทยาลัยของประเทศนิวซีแลนด์ รวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโอตาโก ประเทศนิวซีแลนด์ นักเรียนและครูกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยได้รับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษโดยมหาวิทยาลัยโอตาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้นักเรียนมีศักยภาพด้านภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาต่อและให้ครูมีศักยภาพด้านการสอนภาษาอังกฤษ