กาชาดไทยลงพื้นที่แม่ฮ่องสอนติดตามโครงการสอนเสริมภาษาไทยและติดตามสถานการณ์ช่วยเหลือประชาชนตามชายแดน
นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนางจิราภรณ์ โมสิกรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ อาทิ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรัย ผู้บริหารโรงเรียนในสังกัด โรงเรียน ตชด. ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน และประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุมกับนายกฤษฏา บุญราช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด และคณะทำงานทางวิชาการแก้ไขปัญหาการสอนเสริมภาษาไทยของสภากาชาดไทยซึ่งประกอบด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กรรมการสภากาชาดไทยหัวหน้าคณะทำงานฯและผู้แทนเครือข่ายจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กองทุนส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ห้องประชุมอาคาร สว. โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อติดตามตรวจเยี่ยมโครงการสอนเสริมภาษาไทยซึ่งเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ร่วมกับหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ได้จัดครูอาสาสมัครและอาสาสมัครสอนเสริมภาษาไทยทั้งการอ่าน เขียน พูดภาษาไทยให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่ตั้งแต่ปีการศึกษา2563 โดยจัดทำคู่มือสำหรับสอนเสริมภาษาไทยให้แก่เด็กนักเรียนชั้น ป1-ป6 ที่มีปัญหาด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย และได้ฝึกหัดให้นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ เอกประถมศึกษา ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครช่วยสอนเสริม ในโรงเรียนเขตพื้นทีอำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย จำนวน 15โรงเรียน รวมนักเรียนเป้าหมายที่มีปัญหาด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย จำนวน 1,098 คน โดยสามารถยกระดับทักษะด้านการอีานการเขียนภาษาไทยได้ จำนวน 284 คน
นายกฤษฎา บุญราช ประธานในที่ประชุม และคณะทำงานจากส่วนกลางได้ชี้แจงและซักซ้อมความเข้าใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมว่าเป้าหมายสำคัญของสภากาชาดไทยในการนำคณะทำงานแก้ไขปัญหารการสอนเสริมภาษาไทยมาจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและค้นหารูปแบบพร้อมทั้งวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ในการพัฒนาและสร้างทักษะการอ่าน การเขียนภาษาไทย การใช้ภาษาไทย ให้กับทั้งเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารและเด็กนักเรียนในพื้นที่ปกติให้ดียิ่งขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหานักเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินผลการเรียนภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ
โดยมอบหมายให้เหล่ากาชาดจังหวัดทุกจังหวัดเป็นกลไกหลักในการประสานงานและผนึกกำลังร่วมกันระหว่างส่วนราชการและภาคส่วนต่างๆในการทำงานร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่
นอกจากนี้นายกฤษฎา บุญราช ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้คณะทำงานด้านวิชาการของสภากาชาดไทยได้จัดทำร่างคู่มือการสอนภาษาไทยเพื่อให้อาสาสมัครสภากาชาดไทยซึ่งไม่ใช่ครูประจำการนำไปสอนเสริมแก้ไขปัญหาด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทยสำหรับเด็กนักเรียนเเละเยาวชนโดยจะได้นำร่างคู่มือดังกล่าวทดสอบการสอนภาษาไทยให้แก่เด็กนักเรียนชาติพันธ์ุ(กะเหรี่ยง)ชั้น ป1-ป6 ในพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนก่อน เพื่อประเมินผลว่าคู่มือดังกล่าวมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาด้านการอ่านการเขียนภาษาไทยของเด็กนักเรียนชาติพันธ์ุในพื้นที่ด้วยหรือไม่ สำหรับคู่มือการสอนเสริมที่หน่วยงานการศึกษาของจ้งหวัดแม่ฮ่องสอนที่ได้ทำอยู่แล้วนั้น ก็เสนอให้คณะทำงานของสภากาชาดไทยได้นำคู่มือการสอนเสริมของจังหวัดมาพิจารณาความเหมาะสมร่วมกับร่างคู่มือการสอนภาษาไทยของสภากาชาดไทยด้วยก็น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นผลดีต่อโครงการฯ รวมทั้งได้แนะนำให้เหล่ากาชาดแม่ฮ่องสอนจัดทำถุงยังชีพการศึกษา เสริมปัญญาเยาวชน ซึ่งบรรจุอุปกรณ์การเรียนหนังสือไปแจกจ่ายแก่เด็กนักเรียนที่ครอบครัวมีรายได้น้อยและมีฐานะยากจน นอกจากนี้นายกฤษฎา ยังแจ้งที่ประชุมว่าจะได้ประสานงานกับบริษัท ปตท.เคมีคอล มหาชา จำกัด ให้สนับสนุน ถังน้ำสะอาดขนาดบรรจุ 1,500 ลิตร ไปตั้งประจำในบริเวณโรงเรียนและชุมชนเขตพื้นที่สูงที่ห่างไกลและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งด้วย
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานพร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้บริหารของโรงเรียน โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์ หอกระจายข่าวหมู่บ้าน และสถานีวิทยุย่านคลื่นความถี่ระบบเอ.เอ็ม.ที่เข้าถึงพื้นที่ได้ เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการสอนการเรียนรู้ภาษาไทยให้กับผู้ปกครองและเด็กนักเรียนอีกช่องทางหนึ่งด้วย พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังหารือร่วมกันถึงแผนการพัฒนาทักษะอาชีพต่างๆ ให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเรียนการสอนพื้นฐานอาชีพ อันจะส่งผลให้กิจกรรมของโครงการ สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสภากาชาดไทยและคณะทำงานจากส่วนกลางมีแผนจะลงพื้นที่โรงเรียนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2565นี้
ในโอกาสเดียวกันนี้ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมาร์ ได้รายงานผลการช่วยเหลือประชาชนตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบบริเวณชายแดนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบันว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มอบหมายให้เหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนทุกกลุ่มไปยังพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมยและอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยขณะนี้ได้ช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคตลอดจนการรักษาพยาบาลในห้วงเวลาที่ผ่านมาไปแล้ว ได้แก่ แจกถุงยังชีพ ชุดบำรุงสุขภาพ กระสอบทรายสร้างบังเกอร์ ข้าวสาร อาหารปรุงสุก เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย รวมมูลค่า 408,200 บาท
โดยท้ายการประชุม นางจิราภรณ์ โมสิกรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และคณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ได้กล่าวว่าพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของสภากาชาดไทยและพร้อมที่จะขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เกิดความต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาให้เป็นรูปธรรมต่อไปและขอบคุณสภากาชาดไทยที่เลือกพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาคู่มือของสภากาชาดไทยในครั้งนี้
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่