เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำทีมศธ. ลงพื้นที่บึงกาฬ สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของครู-นักเรียน ในสถานศึกษา ตอกย้ำปักธงศูนย์ MOE Safety Center ทั่วประเทศ รับแจ้งข่าวสารความเสี่ยง ผ่าน Application ช่วยให้การรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยของเด็ก-เยาวชนได้สรวดเร็ว ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ลดความเสี่ยง และความรุนแรง
วันนี้ (21 ก.พ.) ที่โรงเรียนปากคาดพิทยาคม จังหวัดบึงกาฬ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เข้าร่วมกิจกรรม SAFE สถานศึกษาปลอดภัยสัญจร จ.บึงกาฬ
นางสาวตรีนุช กล่าวเปิดงานว่า สถานศึกษาถือว่าเป็นบ้านที่สองของเด็กๆ และเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องสร้างให้ผู้ปกครองมั่นใจว่า นอกจากจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแล้ว เด็กนักเรียนจะต้องได้รับความปลอดภัย เมื่อมาสถานศึกษาด้วยเช่นกัน
ในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรค โควิด-19 ก็เป็นเรื่องความปลอดภัย ที่กระทรวงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดทำแผนและมาตรการเพื่อป้องกันรวมถึงแผนเผชิญเหตุหากมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นภายในโรงเรียน ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันให้เกิดการเรียนการสอนเดินหน้าต่อไปให้ได้ กระทรวงถือเป็นตัวกลาง ที่ต้องเข้าถึงผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงช่วยทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย
“ดิฉันในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในฐานะคุณแม่คนหนึ่ง ที่มีความห่วงใยถึงความปลอดภัยของลูก ดิฉันเชื่อมั่นว่า วันนี้ เด็ก และเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานของเรา จะได้รับการช่วยดูแล สอดส่อง เพื่อให้มีความปลอดภัยในชีวิตทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ และได้รับความช่วยเหลือจากทุกคน ทุกฝ่าย เพราะเรามีศูนย์ MOE Safety Center ซึ่งจะเป็นกลไกในการรับแจ้งข่าวสารที่จะเป็นความเสี่ยง ต่อความปลอดภัยของเด็กๆ และน้องๆ ในสถานศึกษา ” นางสาวตรีนุช กล่าว
นอกเหนือจากช่องทางการแจ้งข่าวสารอื่นๆ แล้ว เรามี Application ที่เป็น Platform ดิจิทัล ที่จะช่วยให้เราสามารถรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยของเด็ก และเยาวชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง สามารถเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยง และความรุนแรง
ขณะเดียวกัน platform ดิจิทัล ยังมีการติดตามความคืบหน้า มีความเป็นธรรม และโปร่งใสกับทุกฝ่าย รวมถึงจะมีการรายงาน และติดตามการแก้ไขปัญหาได้แบบทันท่วงที หรือ แบบ Real-time อีกด้วย
“ที่สำคัญ ทุกข้อมูลที่ได้รับ จะเก็บเป็นฐานข้อมูล Big-Data ที่จะนำมาวางแผน เพื่อขยายผลในการกำหนดนโยบาญด้านความปลอดภัยของสถานศึกษาในแต่ละพื้น” นางสาวตรีนุช กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า ต้องขอบคุณหน่วยงานที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงที่จะช่วยกันสร้างความปลอดภัยให้กับสถานศึกษา ในการป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม ให้เด็ก และเยาวชนปลอดจากภัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ ภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการจัดการเรียน
นอกจากนี้ นางสาวตรีนุช ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสร้างการตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกัน สนับสนุนและเห็นความสำคัญ ต่อปัญหาด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องขยายวงกว้างสู่สังคม ให้มากขึ้น
ด้าน นายอัมพร กล่าวเสริมว่า สพฐ. ยังได้จัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อขยายการรับรู้ในสังคม รวม 8 พื้นที่ หลังจากนี้ สพฐ.จะสามารถรับทราบรายงานการเกิดเหตุได้เป็นรายวัน สามารถรับรู้ถึงสาเหตุ สถานที่ รวมถึงการติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เพื่อเดินหน้า และสร้าง “สถานศึกษาปลอดภัย นักเรียน นักศึกษา อุ่นใจ”
ทั้งนี้ ภายในงาน นางสาวตรีนุช ได้ร่วม สาธิต การให้ความช่วยเหลือ เด็กจมน้ำ ซึ่งเป็นอุบัติภัยที่เกิดขึ้นบ่อยในเขตจ.บึงกาฬ และได้เยี่ยมชมนิทรรศการ และกิจกรรมการให้ความรู้ทางด้านความปลอดภัย ของโรงเรียนในสังกัด ขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดบึงกาฬ