คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผย ผลการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้สูงถึงร้อยละ 68 และป้องกันการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 98
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวานนี้ (9 มี.ค. 65) ว่า ขณะนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาหาประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ต่อเนื่องมาจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565
โดยผลการศึกษา พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2565 จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านการตรวจด้วยวิธี RT-PCR และ ATK จำนวนทั้งสิ้น 16,532 ราย ส่วนใหญ่เป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ถึงร้อยละ 70-80 และเป็นสายพันธ์เดลต้าเพียงร้อยละ 20-30 โดยมีผู้เสียชีวิต 17 ราย ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็น 58,508 ราย และเป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 95 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยมีผู้เสียชีวิต 22 ราย ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักมีโรคประจำตัวร่วมอยู่ด้วย และไม่ได้ฉีดวัคซีนสูงถึงร้อยละ 76 โดยไม่พบการเสียชีวิตในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 หรือ 4 เข็มเลย และหากเปรียบเทียบช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และโอไมครอน จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน มีอัตราการเสียชีวิตลดลงกว่า 16 เท่า
ขณะเดียวกัน เมื่อวิเคราะห์หาประสิทธิผลของวัคซีน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็มมากกว่า 14 วันขึ้นไป สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณร้อยละ 71 ส่วนวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 93 ในวัคซีนทุกสูตร และที่สำคัญ คือ ช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 97-99 ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 และ 3 เข็ม
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์โอไมครอนเป็นหลัก แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนอีกครั้ง กลับพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม นั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เหมือนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนในสูตรใดก็ตาม จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนได้สูงถึงร้อยละ 68 และยังช่วยลดการเสียชีวิตได้มากถึงร้อยละ 98 ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอิสราเอล ที่ใช้วัคซีนชนิด MRNA เป็นหลัก ซึ่งได้เผยแพร่ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็มแล้ว จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 50-75 และป้องกันการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 85-99
คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาดังกล่าว จึงควรเร่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ครอบคลุมโดยเร็ว ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีระดับหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์โอไมครอน แต่ที่สำคัญ คือ จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้เข้ามารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคเรื้อรัง ควบคู่ไปกับมาตรการการป้องกันตนเอง โดยการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่จะดีขึ้น