จุดเริ่มต้นทั้งหมดของเรื่องนี้เกิดขึ้นจากข้อความหนึ่งที่โพสต์ทางอินสตาแกรมของ คัมรัน มานาฟลี ครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ในวัย 28 ปี
“ผมไม่ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนของการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล” เขาเขียนข้อความดังกล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว เพียงไม่กี่วันก่อนที่จะมีการเข้มงวดในการใช้สื่อของรัสเซีย
“ผมมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ครูหลายคนก็ทำอย่างนั้นเช่นกัน และคุณรู้ไหมว่า เพียงแค่มันไม่เหมือนกันกับความคิดเห็นของรัฐ”
สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าจะต้องเขียนข้อความดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการประชุมที่โรงเรียนมัธยมที่เขาทำงานอยู่ในใจกลางกรุงมอสโก ซึ่งเขาและครูคนอื่น ๆ ได้รับแจ้งว่า หากจะพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนกับเด็กนักเรียน ขอให้อย่าให้คลาดเคลื่อนไปจากจุดยืนของรัฐบาลรัสเซีย
ผ่านไปเพียงสองชั่วโมงหลังจากที่เขาได้โพสต์ข้อความนั้น เขาได้รับสายจากครูใหญ่ที่แจ้งให้เขาลบขอความนั้นออกทันที หรือไม่ก็ต้องออกจากงาน
มานาฟลีบอกกับบีบีซีว่า “ผมไม่ต้องการลบข้อความนั้น และรู้ทันทีว่าไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ผมจึงตัดสินใจลาออก น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว”
ในวันถัดมา เขาได้เดินทางกลับไปยังโรงเรียนเพื่อเก็บข้าวของและเซ็นจดหมายลาออก แต่เขากลับถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าไปในโรงเรียน
“พวกเขาบอกว่าได้สั่งไม่ให้ผมเข้าไป ในขณะที่เด็ก ๆ นักเรียนก็เริ่มเดินออกมายังถนนเพื่อแสดงการสนับสนุนเขาพร้อมกับกล่าวอำลา แต่แล้วก็มีคนหนึ่งเรียกตำรวจมาและบอกว่า ผมกำลังจะจัดขบวนประท้วงเพื่อคัดค้านการตัดสินใจของผู้บริหารโรงเรียน”
ทั้งนี้ วิดีโอเหตุการณ์ที่ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้เห็น แสดงภาพเหตุการณ์เพียงกลุ่มเด็กยืนรอบตัวเขา ตรบมือให้พร้อมกับรอยยิ้มก่อนที่จะพูดอำลา
ในที่สุด เขาก็ได้เข้าไปเก็บข้าวของ และในวันต่อมา เขาก็ได้เข้าพบครูใหญ่เพื่ออธิบายเหตุผลอย่างเป็นทางการว่าทำไมเขาจึงโพสต์ข้อความดังกล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ แต่เขาปฏิเสธและขอยื่นใบลาออก แต่สถานการณ์กลับเปลี่ยนแปลงไป เพราะเขากำลังจะถูกไล่ออกแทน
“สองวันหลังจากนั้น ผมได้รับแจ้งว่า ผมถูกไล่ออก เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมในที่ทำงาน” เขาเล่า
“สำหรับผม สิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดก็คือพวกเขาพิจารณาว่า การแสดงออกทางความคิดส่วนตัวของผมเป็นเรื่องผิดศีลธรรม”
บีบีซีสอบถามถึงความเห็นจากครูใหญ่ของโรงเรียนดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ขณะที่ผู้ปกครองของนักเรียนที่โรงเรียนแห่งนั้นได้รับแจ้งว่า ข้อความที่โพสต์ผ่านสื่อโซเชียลของมานาฟลีถือว่าละเมิดสัญญาจ้าง แต่เขาปฏิเสธ
การปราบปรามข้อมูลเท็จ
หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ชาวรัสเซียหลายพันคน โดยเฉพาะในกรุงมอสโกและนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กออกมาแสดงความเห็นเพื่อคัดค้านสิ่งที่ทางการรัสเซียเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ด้วยการร่วมรวมรายชื่อ โพสต์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ และเดินขบวนประท้วงต่อต้านการทำสงครามต่อชาวยูเครน ขณะที่ทางการรัสเซียก็ตอบโต้อย่างหนักด้วยการจับกุมผู้ประท้วงนับพันคน พร้อมกับออกกฎหมายใหม่ต่อผู้ที่กระจายข่าวสารข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับกองทัพรัสเซีย ซึ่งต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของรัสเซีย Novaya Gazeta รายงานว่า ข้อความที่่อดีตครูสอนวิชาภูมิศาสตร์คนดังกล่าวโพสต์ทางอินสตาแกรมยังถือว่ายังไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายใหม่ ซึ่งยังคงสามารถอ่านฉบับเต็มได้ แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม
แม้ว่าความเสี่ยงต่อการแสดงความคิดเห็นจะเพิ่มสูงขึ้น แต่สำหรับคาเทีย โดลินินา (Katya Dolinina) ในระหว่างการรุกรานยูเครนที่กำลังเกิดขึ้น เธอไม่ควรปิดปากเงียบอีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ เธอค่อนข้างจะเก็บงำความคิดทางการเมืองไว้แต่เพียงผู้เดียว เพราะเธอทำงานเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์สองแห่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจโรงภาพยนตร์ในสังกัดของรัฐบาล
“ฉันรักงานของฉัน ยังสนุกกับการทำงาน และไม่ต้องการตกงาน” เธออธิบายให้บีบีซีฟังถึงเหตุผลว่าทำไมเธอจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลก่อนหน้านี้
ทว่า เมื่อสงครามได้เกิดขึ้น มันได้เปลี่ยนความคิดของเธอ เมื่อเพื่อนของเธอได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเพื่อต่อต้าน “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของทางการรัสเซีย เพื่อให้เธอลงชื่อร่วมกับคนที่ทำงานในส่วนวัฒนธรรม เธอจึงไม่ลังเลที่จะร่วมลงชื่อด้วย
“ฉันเห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า ปฏิบัติการเหล่านั้นควรจะยุติทันที มันไม่โอเคเลย” เธอเล่า
ไม่นานนักหลังจากที่เธอลงนามในจดหมายฉบับนั้น เธอได้รับสายโทรศัพท์จากหัวหน้าที่สั่งให้เธอถอดรายชื่อออกทันที หรือไม่ก็ต้องลาออก หากเธอปฏิเสธไม่ว่ากรณีใด ๆ เธอจะถูกไล่ออก อย่างไรก็ตาม โรงภาพยนตร์ต้นสังกัดของเธอยังไม่สามารถให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ได้
เธอจึงลาออกแต่โดยดี เพราะว่าเธอรู้สึกกังวลว่านายจ้างของเธอจะหาข้ออ้างอื่น ๆ มาไล่เธอออก ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อเธอในอนาคตได้ การลาออกใช้เวลาราวสองชั่วโมง แต่ก็จบลงด้วยบรรยากาศฉันมิตร
แต่เรื่องราวการลาออกของ แอนนา เลวาดนายา (Anna Levadnaya) กุมารแพทย์และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามทางอินสตาแกรมมากกว่าสองล้านราย ไม่ได้จบด้วยมิตรภาพ
ในขณะที่รัสเซียบุกยูเครน เธอยังพักผ่อนวันหยุดในต่างประเทศ ในวันนั้นเธอได้โพสต์รูปภาพถ่ายจากหน้าต่างเครื่องบิน พร้อมด้วยภาพอิโมจิเป็นนกพิราบขาวบินคาบกิ่งมะกอก พร้อมข้อความว่า “ฉันไม่เลือกการรุกราน ฉันรู้สึกถึงความหวาดกลัวที่ทุกคนจะได้รับ” และเธอยังอธิบายถึงต้นตระกูลของเธอที่มาจากยูเครน พร้อมกับเรียกร้องให้เหตุการณ์อันเลวร้ายนี้ยุติโดยเร็วที่สุด”
แน่นอนว่าด้วยผู้ติดตามจำนวนมหาศาล โพสต์ของเธอไม่มีทางรอดพ้นสายตาของศูนย์การแพทย์ของรัฐในกรุงมอสโก ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเธอ หลังจากนั้นไม่นาน เพื่อนร่วมงานเล่าให้เธอฟังในระหว่างอยู่ต่างประเทศว่า ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ที่เธอทำงานได้วิพากษ์วิจารณ์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ของเธออย่างรุนแรงต่อหน้าเพื่อนรวมงานของเธอมากกว่า 100 คนในการประชุมช่วงเช้า ซึ่งเธอได้ชมวิดีโอบันทึกบรรยากาศการประชุมด้วย
เธอบอกกับบีบีซีว่า เหตุการณ์นี้คือการสร้างความอับอายต่อเธอในที่สาธารณะ และเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่พวกเขาต้องการบอกว่า หากใครไม่สนับสนุนเจตจำนงของรัฐบาลก็ไม่สมควรที่จะทำงานกับสถาบันแห่งนี้
ในคำกล่าวของ ผอ.ศูนย์การแพทย์ดังกล่าวที่ยืดยาวหลายนาที อธิบายว่า หากว่าเธอได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การโลกอย่างดีพอ เธอก็จะสนับสนุนปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซีย หลังจากนี้เธอจะต้องยื่นใบลาออก หรือหากว่าเธอปฏิเสธ ก็จะถูกไล่ออก
ในจดหมายลาออกของเธอ ระบุเหตุผลเพียงประโยคเดียวสั้น ๆ ว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะร่วมงานกับเธอ”
เลวาดนายายังได้โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเปรียบเปรยประเด็นการแพทย์ที่แม้จะคนในสังคมรู้สึกก้าวร้าวได้ แต่ก็ไม่เทียบเท่ากับการรุกรานยูเครน
“แม้วัคซีนโควิดจะสร้างความก้าวร้าวเพราะความเห็นต่าง แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุแห่งความเกลียดชังระหว่างมนุษย์เท่าสงครามครั้งนี้ ตอนนี้มีความร้าวลึกในสังคม เพียงเพราะความเชื่อของแต่ละฝ่ายแตกต่างกัน” ส่วนหนึ่งของข้อความของเธอ
สำหรับกรณีมานาฟลี และชาวรัสเซียคนอื่น ๆ อีกหลายพันคน มีเพียงทางเลือกเดียวเท่านั้นคือ การหนีออกจากประเทศ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการจะทำได้
สำหรับโดลินินาบอกว่า “ไม่ใช่ทุกคนในรัสเซียจะเห็นต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเครมลิน แล้วสามารถหนีออกจากประเทศ สำหรับพวกเราจะอยู่ตรงนี้ ยังมีหวังและความพยายามที่จะไม่ยอมแพ้”