เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
NARIT ร่วมกับ สสวท. คัดเลือกผู้แทนเยาวชนไทยเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการดาราศาสตร์ในงาน 24th Junior Session of Astronomical Society of Japan รูปแบบออนไลน์ จัดโดยสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น เก็บบรรยากาศการนำเสนอผลงานวิชาการดาราศาสตร์ของน้อง ๆ นักเรียนในปีนี้ มาฝากกันครับ
ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้การเดินทางไปนำเสนอผลงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นยังไม่สามารถทำได้ จึงปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอในรูปแบบออนไลน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในปีนี้มียุววิจัยและครุวิจัย ภายใต้โครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการดาราศาสตร์ขั้นสูงที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมนำเสนอโครงงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ทั้งหมด 6 เรื่อง จาก 3 โรงเรียน ในหัวข้อดังนี้
1) “The study of Hydrogen to Hellium ratio and metallic element in the main sequence stars by the Spectroscopy technique” โดย นายโอลิเวอร์ ภูมิ ฮาร์ริส โรงเรียนวารีเชียงใหม่
2) “The study of methods on the Geminids Meteor Shower’s (2020) height” โดย นายธนพัฒน์ เอี่ยมประมูล โรงเรียนวารีเชียงใหม่
3) “การศึกษาระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์จากปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” โดย นางสาวพลอยใส อัครพงศ์ชนพร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ จังหวัดภูเก็ต
4) “Pulsar map” โดย นางสาวกาญจณ์ระวี ฉ่ำแสง โรงเรียนพรมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี
5) “แบบจำลองการเคลื่อนที่ของยานอวกาศระหว่างดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ” โดย นางสาวพิมพ์ชนก เกษร โรงเรียนพรมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี
6) “แบบจำลองการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยโทรจัน” โดย นายกฤษกร ศตรัตพะยูน โรงเรียนพรมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี
24th Junior Session of Astronomical Society of Japan จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา NARIT ได้เชิญน้องๆ นักเรียนพร้อมครูที่ปรึกษาเดินทางมานำเสนอผลงานพร้อมกัน ณ ห้องเออซาร์เมเจอร์ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ ช่วงระหว่างวันที่ 18-23 มีนาคม 2565 ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำน้อง ๆ และคุณครูเดินทางไปเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ไทย ได้แก่ หอดูดาวแห่งชาติ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ พร้อมพบปะนักวิจัย รับฟังการบรรยายเรื่องการเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ รวมถึงฝึกใช้งานกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติขนาด 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกล้องโทรทรรศน์ขนาด 1 เมตร เยี่ยมชมหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงนำชมห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ขั้นสูง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ชมเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ การทำงานระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์ระยะไกลอัตโนมัติ โครงการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจ ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง เยี่ยมชมโครงการสร้างดาวเทียม TSC-Pathfinder ภายใต้ Thai Space Consortium อีกด้วย