6 เม.ย.2565 – นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ระบุว่า
…..ทนายความท่านหนึ่งได้โพสต์เกี่ยวกับผู้ต้องหาคนหนึ่งในคดีคุณแตงโมว่า ข้อหาแจ้งความเท็จ(ม.๑๗๒)ถ้ารับสารภาพคาดการณ์จากประสบการณ์การทำคดีในศาล ๙๐ % ศาลท่านเมตตารอลงอาญาให้เพราะจำเลยรับสารภาพ แต่ถ้าสู้คดี ๙๐ % ผิดจริงติดคุกเพราะไม่มีเหตุลดโทษ
.
…..ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติเรื่องรอการลงโทษไว้ในมาตรา ๕๖ และเรื่องการลดโทษไว้ในมาตรา ๗๘
…..มาตรา ๕๖ ผู้ใดกระทําความผิดซึ่งมีโทษจําคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจําคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้น้ัน
…..(๑) ไม่เคยรับโทษจําคุกมาก่อน หรือ
…..(๒) เคยรับโทษจําคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
…..(๓)เคยรับโทษจําคุกมาก่อนแต่พ้นโทษมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในคร้ังหลังเป็นความผิดท่ีได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
…..และเมื่อศาลได้คํานึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกําหนดโทษหรือกําหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจําคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างเพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาโดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้ ฯลฯ
.
…..มาตรา ๗๘ เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหน่ึงของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทําความผิดน้ันก็ได้
…..เหตุบรรเทาโทษนั้นได้แก่ผู้กระทําความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทํานองเดียวกัน
……ตามบทบัญญัติในมาตรา ๕๖ มีความหมายชัดเจนว่า การที่ศาลจะรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่นั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการที่จำเลยจะให้การรับสารภาพหรือไม่
…..แม้จำเลยจะให้การปฏิเสธถ้าเข้าหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖ ศาลก็รอการลงโทษให้ได้
…..แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖ ศาลก็ไม่รอการลงโทษให้
.
…..ส่วนการให้การรับสารภาพที่เป็นเหตุบรรเทาโทษและศาลจะลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ นั้น ต้องเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลคือมีส่วนที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง
…..แต่ถ้าเป็นการรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน เช่น เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ในขณะกำลังกระทำความผิด และมีพยานบุคคลหรือพยานวัตถุเป็นภาพถ่ายยืนยันได้มั่นคงว่าจำเลยกระทำความผิดจริง แม้จำเลยรับสารภาพ ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงไม่ได้เป็นเหตุบรรเทาโทษที่ศาลจะลดโทษให้
……สรุปว่า การรอการลงโทษกับการลดโทษกฎหมายบัญญัติไว้ต่างมาตรากันไม่เกี่ยวข้องกัน
…..การรับสารภาพไม่ใช่เหตุที่ศาลจะรอการลงโทษ และถ้าไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษก็ไม่ใช่เหตุที่จะศาลลดโทษให้
…..แม้จะให้การปฏิเสธ แต่ถ้ามีเหตุบรรเทาโทษกรณีอื่นๆ ตามมาตรา ๗๘ ศาลก็จะลดโทษให้ และถ้าเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๕๖ ศาลก็รอการลงโทษให้
……ความเห็นทางกฎหมายควรต้องยึดถือตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นหลัก มิฉะนั้นประชาชนที่ไม่รู้กฎหมายจะเกิดความสับสน