ผลศึกษาเกี่ยวกับยาสามัญประจำบ้าน “ยาลดกรด” ที่มีสารฟาโมทิดิน (famotidine) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยโควิด19 ในกลุ่มที่วิจัย มีอาการดีขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ขณะที่ ผลวิจัยล่าสุดของสิงคโปร์ พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคที่ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะมีอาการป่วยรุนแรงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ถึงเกือบ 5 เท่า
วันนี้ (14 เม.ย.65) มีผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ด้านระบบทางเดินอาหารและตับ Gut ที่เก็บตัวอย่างผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 55 คน ซึ่งราว 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นคนผิวดำและ 1 ใน 4 ในกลุ่มที่ทำการศึกษามีเชื้อสายฮิสแปนิก
ทีมวิจัยให้ยาลดกรดที่มีสาร Famotidine ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของยาลดกรด Pepsid ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ยาลดกรดดังกล่าวหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยให้กับกลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก โดยให้ยา 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์
การวิจัยกลุ่มเล็กนี้ พบว่า ผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน หากได้รับยาลดกรดในปริมาณที่สูง จะช่วยฟื้นตัวจากอาการเกี่ยวเนื่องจากโควิด-19 เช่นการสูญเสียการได้กลิ่นและรู้รส หายใจลำบาก และปวดท้อง ได้เร็วกว่า
และการได้รับยาลดกรดที่มีสารฟาโมทิดิน ยังช่วยให้ผู้ป่วยในการศึกษามีอาการดีขึ้น ในแง่ของการลดอาการอักเสบในร่างกาย โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแต่อย่างใด
นพ.โทเบียส จาโนวิตซ์ จาก Northwell Health and Cold Spring Harbor Laboratory ของสหรัฐ ระบุว่า ทีมวิจัยหวังว่าข้อมูลการวิจัยนี้จะนำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตที่จำเป็นต่อการยืนยันผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยสารฟาโมทิดิน
คนฉีดวัคซีนเชื้อตายเสี่ยงป่วยโควิดหนักกว่าไฟเซอร์เกือบ 5 เท่า
วัคซีน 2 โดสตามภาครัฐ และได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดของซิโนแวค มีแนวโน้มที่จะมีอาการป่วยจากโควิด-19 รุนแรงกว่าผู้ที่รับวัคซีนจากไฟเซอร์ถึง 4.59 เท่า ซึ่งอาการรุนแรงในที่นี้หมายถึง ต้องการเครื่องช่วยหายใจ หรือต้องเข้าไอซียู รวมไปถึงเสียชีวิต
นอกจากนี้ ผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคยังมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้มากกว่าคนที่รับวัคซีนจากไฟเซอร์ถึง 2.37 เท่า โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลในช่วงเวลา 7 สัปดาห์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคมปี 2021 จนถึง 21 พฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สิงคโปร์เผชิญการระบาดของเชื้อเดลตา
ขณะเดียวกัน ข้อมูลครั้งนี้ยังชี้ด้วยว่า วัคซีนโมเดอร์นามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้มากกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ด้วย โดยคนที่รับวัคซีนของโมเดอร์นา มีโอกาสที่จะพัฒนาอาการรุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนจากไฟเซอร์ 0.42 เท่า และยังมีโอกาสในการติดเชื้อน้อยกว่าด้วย
หากอ้างอิงจากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ จะพบว่า ประสิทธิภาพที่มากกว่าของวัคซีนโมเดอร์นา เกิดจากความเข้มข้นของวัคซีนที่สูงกว่า และการเว้นระยะห่างระหว่างการฉีดของโดสแรก และโดสที่ 2 ที่ยาวนานกว่านั่นเอง
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามทีมวิจัยยังคงเน้นย้ำว่า ทั้งวัคซีน mRNA และวัคซีนเชื้อตาย ก็ยังคงมีประสิทธิภาพในการต้านอาการรุนแรงของโรคโควิด-19 และยังนับว่าเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการระบาดของโรคเช่นเดิม
อังกฤษ อนุมัติวัคซีนเชื้อตายจากฝรั่งเศส ต้านโอไมครอน ร้อยละ 87
ด้าน ดร.จูน เรน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสำนักงานควบคุมยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) หน่วยงานกำกับวัคซีนของอังกฤษ เปิดเผยว่า คณะผู้เชี่ยวชาญของ MHRA ได้อนุมัติวัคซีนจากบริษัท วัลเนวา (Valneva) ของฝรั่งเศส สำหรับป้องกันโรคโควิด-19
นับเป็นวัคซีนประเภทเชื้อตายตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในอังกฤษ เป็นวัคซีนตัวที่ 6 ที่อังกฤษอนุมัติให้ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 และเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติวัคซีนตัวนี้
MHRA แนะนำให้ใช้วัคซีนวัลเนวา สำหรับคนไข้อายุ 18-50 ปี เป็นวัคซีนประเภทฉีด 2 เข็ม โดยการฉีดเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 28 วัน สำหรับข้อดีอีกอย่างหนึ่งของวัคซีนวัลเนวา คือ สามารถเก็บวัคซีนไว้ในตู้เย็นตามบ้านเรือนทั่วไปที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 2-8 องศาเซลเซียส จึงเหมาะสำหรับหลายประเทศที่อาจจะไม่สะดวกในการจัดเก็บวัคซีนในอุณหภูมิต่ำกว่านี้
ไฟเซอร์ คาดพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19ได้ ทุกสายพันธุ์ก่อนสิ้นปี
ขณะที่ อัลเบิร์ต บัวร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไฟเซอร์ ระบุว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนที่ป้องกันโควิด-19 ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ก่อนสิ้นปี 2022
บัวร์ลา กล่าวว่า “ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ เราอาจจะได้วัคซีน ที่ไม่เพียงสามารถป้องกันเชื้อโอมิครอนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทุกๆ สายพันธุ์ของโควิด-19 ที่โลกรู้จักมา”
ทั้งนี้ ไฟเซอร์ยังอยู่ระหว่างคิดค้นพัฒนาวัคซีนที่จะให้ผลป้องกันโควิด-19 ได้นานถึง 1 ปี ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องมีการฉีดกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง ไม่ต่างจากวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เชื่อว่าจะช่วยลดความเบื่อหน่ายของผู้ไม่อยากรับวัคซีนหลายเข็ม.