สวัสดีค่ะ พวกเราเป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2564 (รุ่นที่ 14)
ในส่วนหนึ่ง วิชาเรียน across life span วิชาสมรรถนะการประกอบกิจกรรมตลอดช่วงชีวิต พวกเราได้มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และพวกเรายังได้รับเกียรติจากพี่ ๆ แผนกเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและทีมสหวิชาชีพในศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ มาบรรยายและแนะนำรูปแบบการทำงานทั้งภายในโรงพยาบาลและภายนอก และหนึ่งในทีมของแผนกเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ นั่นก็คือนักกิจกรรมบำบัด เราได้รับเกียรติจากนักกิจกรรมบำบัดรุ่นพี่ คือ พี่ไอซ์ ณัฐพัชร์ สรรพธนาพงศ์ ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมหิดล
รุ่นที่ 6 ที่พาเดินเยี่ยมชมสถานที่ในแต่ละแผนก และบรรยายสรุปการทำงานภาพรวมของทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล ทำให้นักศึกษาได้รับทั้งความรู้และแรงบันดาลในการศึกษาต่อในสายงานกิจกรรมบำบัดและมีมุมมองที่เพิ่มมากขึ้นในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต เช่น การเรียนต่อเฉพาะทาง ต่อปริญญาโท ทางด้านจิตวิทยา เพื่อทำความเข้าใจในทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาของจิตใจคนมากขึ้นและนำมาปรับใช้
แนะนำโรงพยาบาล
โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนจะเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิ ขนาด 300 เตียง และ เป็นศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โดยโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการทางการแพทย์ ตลอดจนการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน และควบคุมโรค รวมถึงการบำบัดรักษาเฉพาะด้านแก่ผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพ เป็นสถาบันฝึกอบรมทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุให้สามารถดูแล และให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายที่ดี มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และมีความสุขกับครอบครัว ชุมชน และสังคม และนอกจากนี้โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนยังไม่เพียงแต่เป็นศูนย์ในการให้บริการผู้สูงยุแต่ยังมีการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย
อ้างอิงรูปภาพ : https://baanlaesuan.com/app/uploads/2020/03/bkt-hospital-rm-002.jpg
ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
เมื่อพวกเราได้เข้าไปในโรงพยาบาลเรารู้สึกว่าโรงพยาบาลมีขนาดใหญ่และกว้างขวางมาก พี่ไอซ์ได้พาพวกเราเข้าไปที่ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งพี่ไอซ์ได้พาพวกเราเข้าไปนั่งที่ห้องบรรยายเพื่อทำการแนะนำโรงพยาบาล และบอกเล่าถึงกระบวนการทำงาน ขั้นตอนการให้การบริการแก่ผู้ที่เข้ามารับบริการที่ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
ทีมสหวิชาชีพ
เนื่องจากศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุมีการปฏิบัติงานในการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลที่เป็นทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ (ประจำอยู่ 2 ตำแหน่ง) แพทย์อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุและแพทย์ประสาทวิทยา, เภสัช, พยาบาล, นักกายภาพบำบัด, นักกิจกรรมบำบัด, แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีน โดยในขณะที่เราได้เดินเข้าไปนั้นเราก็จะเห็นห้องต่าง ๆ มากมายภายในศูนย์ ที่มีทั้งเครื่องออกกำลังกายต่าง ๆ หรือบางห้องก็มีป้ายติดที่หน้าห้องว่าเป็นห้องกายภาพบำบัด ซึ่งทำให้เรายิ่งอยากเข้าไปเดินดูภายในห้องต่าง ๆ นั้นมากขึ้น
ตัวอย่างห้องในศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
1.ห้องกิจกรรมบำบัด เป็นห้องฝึก ADLs ( Activities of Daily Living – การดำเนินกิจวัตรประจำวัน ) จำลองคอนโดเล็กๆ เตียง ที่ทำอาหาร โต๊ะกินข้าว เพื่อที่หลังจากฝึกบำบัดแล้วได้ใช้ชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้มีการให้บริการในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นรักษา ส่งเสริม ฟื้นฟู ป้องกันการหกล้ม โรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ โดยประเมินผู้สูงอายุเพื่อพบแพทย์แผนปัจจุบัน มีการบริหารกล้ามเนื้อต่าง ๆ เช่น ใบหน้า คอและอื่นๆ มีการใช้อุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้ผู้สูงอายุ
2.ห้องกายภาพบำบัด จะมีพี่ประจำศูนย์ 1 คน ภายในห้องมี timed up and go test (TUG) ติดลูกศร มีกรวย เพื่อใช้ในการประเมินความสามารถในการเดิน นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือกระตุ้นกลืน มีการให้บริการผู้สูงอายุ เพื่อฝึกเน้น ADL ร่วมกับนักกิจกรรมบำบัด
3.ห้องแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีน ซึ่งอยู่ในห้องเดียวกัน ก็มีเตียงมีอุปกรณ์ในการตรวจ ประเมิน รักษา ต่าง ๆ ให้กับผู้รับบริการในศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
งานอายุรกรรม
หลังจากที่พวกเราได้เดินดูห้องแต่ละแผนกในศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุแล้ว พี่ไอซ์ได้พาเราไปเดินดูงานอายุรกรรมภายในโรงพยาบาล โดยพวกเราได้เดินดู ห้องกายภาพบำบัด เป็นห้องแรก ที่มีทั้งเครื่องมือไฟฟ้า, manual และเครื่องมือเลเซอร์ โดยงานกายภาพบำบัดในงานอายุรกรรมนั้นก็มีการรักษาผู้รับบริการโดยทั่วไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงผู้ที่มีความพิการ นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดก็มีหน้าที่ในการช่วยในการให้บริการทางกิจกรรมบำบัดที่พอทำได้
ถัดมาพวกเราได้เดินดู ห้องแพทย์แผนไทย เมื่อพวกเราได้เดินไปในห้องเราก็ได้กลิ่นสมุนไพรอย่างชัดเจน ภายในห้องมีเตียงและอุปกรณ์ที่ใช้ในการบำบัดรักษา มีการรักษาโดยการกดจุด ประคบร้อน และมีตู้อบสมุนไพร
ห้องสุดท้ายในแผนกอายุรกรรมเราได้เดินดู ห้องแพทย์แผนจีน ภายในห้องมีอุปกรณ์ในการรักษา โดยสิ่งหนึ่งพวกเราเห็นที่รถเข็นใส่เครื่องมือนั้นมีเข็มที่ใช้แล้วใส่ไว้เป็นจำนวนมากและเห็นแก้วเล็ก ๆ ซึ่งในการรักษาของแพทย์แผนจีนนั้นมีการรักษาโดยการฝังเข็ม ครอบแก้วสมนุไพรจีน เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า กระตุ้นกล้ามเนื้อและลิ้น
ซึ่งพี่หมอประจำห้องแพทย์แผนจีนได้บอกว่า ในตอนนี้โรงพยาบาลกำลังขาดนักแก้ไขการพูด ซึ่งปัจจุบันในส่วนตรงนี้ทำการรักษาโดยนักกิจกรรมบำบัดร่วมกับแพทย์แผนจีน
มุมมองและแนวคิดที่ได้จากการศึกษาดูงาน
ผู้สูงอายุส่วนมากมักไม่บอกกล่าวปัญหามาตรง ๆ ว่าตนเองนั้นเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร เจ็บป่วยตรงไหนบ้างเพราะรู้สึกเกรงใจหรือกลัวเป็นภาระแก่ลูก หลาน ไม่อยากทำให้ครอบครัวเดือดร้อนหรือเสียเวลามาช่วยเหลือตนเอง ทำให้เป็นหน้าที่ของทั้งนักกิจกรรมบำบัด แพทย์ และทีมสหวิชาชีพที่ควรจะรับรู้ปัญหาของผู้สูงอายุและอธิบายให้แก่ครอบครัวของผู้สูงอายุได้ ทั้งในการตรวจและประเมินเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งเชื่อมโยงกับหลักการของ Client’s centered คือ การยึดผู้รับบริการ หรือผู้สูงอายุ เป็นศูนย์กลาง
การที่ทำให้โรงพยาบาลเป็นแบบ One stop services คือ มีครบและหลากหลายองค์ประกอบและหลากหลายฝ่าย นั่นคือ มาที่เดียวครบจบที่เดียวเพราะยึดผู้สูงอายุเป็นหลัก ให้เอื้ออำนวยต่อผู้สูงอายุในการเดินทางและการใช้เวลาในการรักษา ในทางด้านการรักษา บำบัดฟื้นฟู ส่งเสริม ป้องกัน และออกแบบกิจกรรมในการดำเนินชีวิต (กำลังดำเนินการทำห้องจำลองในการฝึกกิจกรรมในการดำเนินชีวิตหรือห้อง ADLs)
ที่ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ นี้มีแพทย์ประจำอยู่ 2 ฝ่าย ที่เปรียบเหมือนตัวหลักในการทำงาน นั่นคือ แพทย์อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุและแพทย์ประสาทวิทยา มีแพทย์ทางเลือกทั้งแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนไทย
การออกแบบโรงพยาบาลให้เป็น Universal Design คือ สามารถทำให้ใช้งานได้ทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย เช่น มีราวจับตามทางเดิน มีทางสำหรับผู้ใช้การ wheel chair โดยเฉพาะ ระดับทางเดินอยู่ในระดับเดียวกัน
การดูงานในครั้งนี้ทำให้นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 1 อย่างพวกเราได้มองคำว่ากิจกรรมบำบัดในมุมมองที่ชัดเจนมากขึ้นนอกเหนือจากทฤษฎีที่เราได้เรียนในห้องเรียน นอกเหนือจากการได้เข้าใจหรือเห็นถึงมุมมองทฤษฎีที่ใช้ในการทำงานกิจกรรมบำบัดแล้ว พวกเราก็ได้ทราบว่าวิชาชีพของพวกเราทำงานร่วมกับวิชาชีพใดบ้าง หรือวิชาชีพของพวกเราทำงานกันอย่างไร การดูงานครั้งนี้จึงต่อยอดหรือจุดประกายไฟที่ค่อยๆมอดดับจากการเรียนออนไลน์ให้ประทุขึ้นอีกครั้ง ขอขอบพระคุณคณะอาจารย์ที่ได้พาพวกเราไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ขอบคุณค่ะ