ดร.อัตนันท์ เตโชพิศาลวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หรือ “ม.วลัยลักษณ์” (มวล.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มวล. ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดผลงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานดีเด่น (CWIE) ประจำปี 2565 รอบภูมิภาค เพื่อค้นหาตัวแทนภาคใต้ตอนบนไปประกวดระดับประเทศ
จัดโดยสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีสถาบันในเครือข่ายสหกิจศึกษาภาคใต้ตอนบน 14 สถาบัน เข้าร่วม
ผลปรากฏว่า “ม.วลัยลักษณ์” สามารถคว้ารางวัลบนเวทีดังกล่าวมาได้ จำนวน 8 รางวัลพร้อมคว้าตั๋วเป็นตัวแทนไปแข่งในระดับประเทศ โดยเฉพาะรางวัลด้านนักศึกษาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานดีเด่น ดังนี้
1) นายธันวา ทองเกลี้ยง นักศึกษาสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติสหกิจศึกษา ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) คว้ารางวัลชนะเลิศสาขานวัตกรรมสหกิจศึกษาดีเด่น
2) Mr.Sean Glenn M Pastoride นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ ปฏิบัติสหกิจศึกษา ณ Rebert Bosch Automotive Technologies (Thailand) คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการจัดการดีเด่น
นอกจากนี้ “ม.วลัยลักษณ์” ยังได้เป็นตัวแทนสถานศึกษาดำเนินการนวัตกรรมสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานดีเด่น จากการดำเนินงานผลักดันนโยบายสหกิจศึกษา 8 เดือนต่อเนื่องทุกหลักสูตรที่ไม่มีสภาวิชาชีพรองรับ
และรางวัลจากสถานประกอบการและผู้สนับสนุนอื่นๆ ที่นำเสนอโดย “ม.วลัยลักษณ์” อีก 5 รางวัล ได้แก่ นางสาวมัทนา เกอเกลี้ยง จาก บ.พาเนลพลัส จำกัด ได้รับรางวัลผู้นิเทศงานหรือที่ปรึกษาสหกิจศึกษาฯ ในสถานประกอบการดีเด่น ,นายเริงศักดิ์ พันธมาศ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ศูนย์สหกิจศึกษา มวล. คว้ารางวัลรองชนะเลิศ ด้านผู้ปฏิบัติการสหกิจศึกษาฯ ในสถานศึกษาดีเด่น
นางสาวพัชยา เถาว์แดง เครือโรงแรมอนันตราภูเก็ต คว้ารางวัลผู้ปฏิบัติการสหกิจศึกษาฯ ในสถานประกอบการดีเด่น ,เครือโรงแรมอนันตรา ภูเก็ต คว้ารางวัลสถานประกอบการขนาดใหญ่ดำเนินการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานดีเด่น และบริษัท มาร์เก็ตเธียร์ จำกัด คว้าสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กดำเนินการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานดีเด่น
ดร.อัตนันท์ กล่าวถึงระบบสหกิจศึกษาของ “ม.วลัยลักษณ์ ” ว่า ระบบสหกิจศึกษาที่นี่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเปลี่ยนจาก 4 เป็น 8 เดือน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีศักยภาพเป็นบัณฑิตพร้อมใช้ (Ready Graduate) สอดคล้องกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่เน้นบัณฑิต “เก่งวิชาการ เชี่ยวชาญการปฏิบัติ”
“ขณะนี้ได้รับผลการตอบรับที่ดีมากจากสถานประกอบการ นักศึกษามีโอกาสได้งานทำในสถานประกอบการที่ไปสหกิจต่อเนื่องและเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
ดร.อัตนันท์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นนโยบายสหกิจศึกษา 2 ภาคการศึกษาหรือ 8 เดือน จะเพิ่มโอกาสให้กับนักศึกษาหรือบัณฑิตของ “ม.วลัยลักษณ์” ในการได้งานทำหลังจากสหกิจศึกษา ที่สำคัญบัณฑิตของเราจะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานอีกด้วย