หลังจากที่องค์กรแนวร่วมของมุสลิมไทยซึ่งมีพรรคประชาชาติเป็นแกนนำ ออกมาประกาศเดินหน้าคัดค้าน “กฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับหลักศีลธรรม” ซึ่งรวมถึง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่รับรองสิทธิในการใช้ชีวิตคู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการยึดถือหลักคำสอนทางศาสนาแบบเคร่งจารีต โดยละเลยความเหมาะสมตามยุคสมัย
ที่ผ่านมาบางศาสนาและความเชื่อซึ่งมีอายุเก่าแก่ ทั้งยังมีผู้นับถือศรัทธาจำนวนมากทั่วโลก อย่างเช่นศาสนาคริสต์บางนิกาย ยิว และอิสลาม ต่างปฏิเสธไม่ยอมรับการครองคู่ระหว่างเพศเดียวกัน หรือการสมรสแบบอื่นใดที่นอกเหนือไปจากคู่ชายจริงหญิงแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลามนั้นถูกมองว่ามีการต่อต้านอย่างรุนแรง เนื่องจากกฎหมายชารีอะห์ในรัฐอิสลามบางแห่ง มีการตีความให้ลงโทษประหารชีวิตผู้มีพฤติกรรมทางเพศ “เบี่ยงเบน” หรือ sodomy ได้
แนวโน้มดังกล่าวทำให้คนทั่วไปมองว่า ศาสนาอิสลามและชุมชนชาวมุสลิมทั้งหมด ล้วนมีทัศนคติและจุดยืนต่อต้าน LGBTQ+ โดยมองว่าเป็นสิ่งต้องห้ามหรือ “ฮะรอม” เหมือนกันในทุกกรณี ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มีความแตกต่างหลากหลายในประเด็นดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในโลกอิสลามทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ศาสนาอิสลามกล่าวถึง LGBTQ+ ไว้อย่างไร
คัมภีร์อัลกุรอ่านระบุไว้ว่า เพศสัมพันธ์นั้นเป็นของขวัญจากพระเจ้า และควรจะเกิดขึ้นในการสมรสระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น เนื่องจากการสมรสอย่างถูกต้องตามจารีตประเพณีเป็นพื้นฐานของการสร้างครอบครัว ซึ่งเด็กจะเกิดมาและได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่มั่นคงปลอดภัยได้ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ เพราะเห็นว่าผิดธรรมชาติและไม่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า
คัมภีร์อัลกุรอ่านเอ่ยถึงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายกับชายด้วยกันไว้ในหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่อ้างถึงเหตุการณ์เมืองโซดอมและกอมมอราห์ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์เช่นเดียวกัน ตำนานนี้เล่าว่าเมืองทั้งสองแห่งถูกพระเจ้าทำลายล้างด้วย “ไฟและกำมะถัน” เนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ทั้งยังต้องการจะข่มขืนเทวทูตที่พระเจ้าส่งมาพบกับ “ล็อต” (Lot) ศาสดาพยากรณ์ที่อิสลามเรียกชื่อว่า “ลูต” (Lut) อีกด้วย
ในบทซูเราะห์ที่ 7: 80-81 ของอัลกุรอ่าน ล็อตกล่าวตำหนิบรรดาผู้ชายในเมืองโซดอม ซึ่งเรียกร้องให้เขาส่งมอบตัวเทวทูตมาให้เพื่อจะประทุษร้ายทางเพศว่า “พวกเจ้าจะกระทำสิ่งชั่วร้ายผิดศีลธรรม ซึ่งไม่มีใครในโลกเคยกระทำกับเจ้ามาก่อนอย่างนั้นหรือ…พวกเจ้าเข้าหาเหล่าบุรุษด้วยตัณหา แทนที่จะเข้าหาสตรี แท้จริงแล้วเจ้าคือผู้ล่วงละเมิด”
สิ่งน่ารังเกียจที่ชาวเมืองโซดอมกระทำลงไป ถือเป็นความผิดบาปที่ต่อมามีการบัญญัติศัพท์ภาษาอารบิกเรียกว่า “ลิวาต” (Liwat) ส่วนคนที่กระทำบาปดังกล่าวเรียกว่า “ลูติ” (Luti) ตามชื่อของศาสดาพยากรณ์ในตำนาน
การตีความกฎหมายชารีอะห์ในแนวทางส่วนใหญ่ มองว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันสมควรได้รับโทษเท่ากับการคบชู้ ซึ่งหมายถึงจะต้องตัดสินลงโทษประหารชีวิตนั่นเอง รัฐอิสลามบางแห่งยังกำหนดโทษตายกับคนที่ถูกจับได้ว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรักร่วมเพศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอ่านมุ่งไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างชายรักชายเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหญิงรักหญิงหรือเลสเบียนนั้นไม่มีการระบุห้ามเอาไว้อย่างชัดเจน ผู้รู้บางคนตีความว่าพฤติกรรมหญิงรักหญิงจัดเป็น “ซินา” (Zina) หรือการผิดประเวณี ซึ่งหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสโดยผิดกฎหมายและจารีตอิสลาม แต่ไม่ถือเป็นอาชญากรรมที่มีโทษสถานหนักหรือ “ฮุดูด” (Hudud / Hadd) แต่อย่างใด
ส่วนกรณีของคนข้ามเพศหรือผู้ผ่าตัดแปลงเพศนั้น ไม่มีกล่าวถึงไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน แต่มีการระบุถึงบทลงโทษผู้ที่เลียนแบบเพศตรงข้าม ทั้งหญิงที่ทำตัวเหมือนชาย และผู้ชายหรือขันทีที่ทำตัวเหมือนผู้หญิง ในบันทึกทางศาสนาที่เรียกว่าฮะดีษ (Hadith) ซึ่งรวบรวมคำพูดและการกระทำของศาสดามูฮัมหมัดเอาไว้
ข้อความในฮะดีษระบุว่า ศาสดามูฮัมหมัดได้เนรเทศชายที่เลียนแบบหญิง แต่ไม่ได้ลงโทษด้วยการประหารชีวิต นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายถกเถียงในหมู่ของชาวมุสลิมว่า คนข้ามเพศนั้นมีเจตนาเลียนแบบเพศตรงข้ามซึ่งถือเป็นบาป หรือที่จริงแล้วพวกเขาไม่มีเจตนาเลียนแบบ แต่บังเอิญจิตใจที่เป็นชายจริงหญิงแท้กลับมาอยู่ในร่างกายที่ผิดฝาผิดตัว ซึ่งกรณีหลังนี้ไม่ถือว่าเป็นบาปแต่อย่างใด
ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายซุนนีหรือสุหนี่ ได้เริ่มออกฟัตวา (Fatwa) หรือคำวินิจฉัยเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศว่าไม่สามารถทำได้ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ต่อมาอยาตอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำของอิหร่านซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ ได้ออกฟัตวาอนุญาตให้มีการผ่าตัดแก้ไขผู้ที่มีเพศกำกวมหรือเกิดมาโดยมีลักษณะของทั้งสองเพศ (intersex) แต่คนข้ามเพศในชุมชนมุสลิมเคร่งจารีตที่เข้ารับการผ่าตัดแบบนี้ ยังคงถูกกีดกัน เหยียดหยาม และถูกทำร้ายกลั่นแกล้งเช่นเดิมหรือหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ
การตีความและวิถีปฏิบัติที่หลากหลาย
ถึงกระนั้นก็ตาม ศาสนาอิสลามซึ่งมีผู้นับถือกว่าพันล้านคนทั่วโลก ย่อมมีความแตกต่างหลากหลายในการตีความคำสอนรวมทั้งวิถีปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามยุคสมัย เชื้อชาติ และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น อย่างเช่นการศึกษาตีความซุนนะห์ (Sunnah) และฮะดีษ (Hadith) อันเป็นบันทึกคำพูดและการกระทำของศาสดามูฮัมหมัด ก็ยังคงทำกันอยู่อย่างแพร่หลายในทุกวันนี้
เนื่องจากศาสนาอิสลามไม่มีองค์กรกลางระดับโลก ที่จะคอยเป็นผู้กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อประเด็น LGBTQ+ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอิสลามหลายแห่ง รวมทั้งจุดยืนที่บุคคลหรือองค์กรมุสลิมมีต่อ LGBTQ+ จึงแตกต่างกันไปอย่างมาก ตั้งแต่แสดงการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง มีการสังหารหรือทำร้ายร่างกาย กีดกันแบ่งแยกทางสังคม ไปจนถึงการยอมรับในทางลับ หรือแม้กระทั่งสนับสนุนอย่างเปิดเผย
เว็บไซต์ของ GALE หรือองค์กรพันธมิตรสากลผู้ให้การศึกษาเรื่อง LGBT ระบุว่า มีการยอมรับคนข้ามเพศทั้งจากหญิงเป็นชายและชายเป็นหญิงในวัฒนธรรมมุสลิมของหลายประเทศทั่วโลก โดยถือว่าบุคคลมีสิทธิเลือกระบุอัตลักษณ์ของตนเองให้เป็นสมาชิกของกลุ่มเพศตรงข้ามได้ เช่นการแสดงออกว่า “ฉันก็เป็นผู้หญิง / ผู้ชายคนหนึ่ง” ถือเป็นการกระทำที่ยอมรับได้ทั่วไป ในขณะที่การแสดงความปรารถนาทางเพศต่อคนเพศเดียวกันอย่างโจ่งแจ้ง กลับเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยาก
ไบรอัน วิตเทเกอร์ อดีตบรรณาธิการข่าวภูมิภาคตะวันออกกลางของหนังสือพิมพ์ The Guardian และผู้เขียนหนังสือหลายเล่มว่าด้วยการเมืองและวัฒนธรรมอิสลาม ชี้ว่าการปฏิเสธไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้มีมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ของโลกอาหรับ
ในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เป็นที่รู้กันดีว่าชาวเกย์ที่ถูกกวาดล้างปราบปรามด้วยกฎหมายของบางประเทศในยุโรป มักพากันหลบหนีไปอยู่ที่โมร็อกโก ส่วนเมือง Siwa ซึ่งเป็นโอเอซิสในทะเลทรายของอียิปต์ มีธรรมเนียมเก่าแก่ซึ่งยอมรับคู่ชีวิตที่เป็นชายเหมือนกัน ทั้งยังมีการประกอบพิธีสมรสอย่างเปิดเผยได้ด้วย
ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามบางแห่ง มีมุกตลกขบขันซึ่งล้อเลียนพฤติกรรมชายรักชายของชาวเมือง ถูกเล่าขานกันอย่างแพร่หลาย ในจำนวนนี้รวมถึงเมืองอิดลิบ (Idlib) ในซีเรีย เมืองคาซวิน (Qazvin) ในอิหร่าน ทั้งยังมีมุกตลกที่เล่าขานกันว่า นกที่บินผ่านเมืองกันดาฮาร์ของอัฟกานิสถาน ต้องใช้ปีกข้างหนึ่งปิดอวัยวะที่อยู่ใต้หางเอาไว้ให้สนิทเพื่อความปลอดภัย
แม้จะมีการยอมรับพฤติกรรมดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการในระดับบุคคลและชุมชนก็ตาม แต่สำหรับการปกครองด้วยกฎหมายอิสลามในระดับชาติแล้ว การผิดประเวณีแบบ “ลิวาต” ยังคงมีโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย, ซูดาน, เยเมน, และมอริเตเนีย
ส่วนประเทศในกลุ่มอาหรับและแอฟริกาอื่น ๆ นั้น พฤติกรรมรักร่วมเพศมีโทษจำคุกซึ่งอาจนานสูงสุดถึง 10 ปี เช่นที่บาห์เรน, แอลจีเรีย, คูเวต, เลบานอน, ลิเบีย, โมร็อกโค, โอมาน, กาตาร์, โซมาเลีย, ตูนิเซีย, และซีเรีย บางประเทศที่ไม่มีกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ โดยตรง เช่นอียิปต์และอินโดนีเซีย มักใช้ข้อกฎหมายที่ห้ามการประพฤติเสื่อมทรามมั่วโลกีย์มาลงโทษคนเหล่านี้เป็นครั้งคราว
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการอิสลามศึกษาสมัยใหม่หลายคนชี้ว่า การจับกุมลงโทษผู้มีความหลากหลายทางเพศในอดีตของประเทศมุสลิมนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก โดยรัฐบาลและผู้ปกครองประเทศมักเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่สู้สลักสำคัญอะไรนัก แต่ในช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การปราบปรามคนกลุ่มนี้เริ่มทวีความรุนแรงและมีการลงโทษบ่อยครั้งขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อต้านชาติตะวันตกที่เข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคม ซึ่งบรรดาชาติมุสลิมต่างเห็นพ้องว่าชาวตะวันตกนำความเสื่อมทรามมาสู่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง และความหลากหลายทางเพศก็เป็นสิ่งหนึ่งจากโลกตะวันตกที่ไม่ควรยอมรับ
แต่ในขณะเดียวกัน นักวิชาการอิสลามศึกษารุ่นใหม่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา กำลังเริ่มศึกษาและตีความคำสอนว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเพศในศาสนาอิสลามเสียใหม่ โดยมองว่าการประณาม LGBTQ+ ว่าเป็นคนบาปอย่างเหมารวมในทุกกรณี ไม่ใช่การตีความที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่นสาเหตุที่พระเจ้าลงโทษชาวเมืองโซดอมนั้น เป็นเพราะพฤติกรรมข่มขืนทำร้ายทางเพศต่อแขกผู้มาเยือน มากกว่าจะเป็นเพราะพฤติกรรมรักร่วมเพศ
นับแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา มีการเปิดเผยตัวของมุสลิมที่เป็นชาวเกย์ เลสเบียน ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ในกลุ่มผู้นำทางศาสนาอย่างอิหม่าม พวกเขาเรียกร้องสิทธิในการเป็นมุสลิมผู้มีศรัทธามั่นคง พร้อมกับดำรงอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลายไปพร้อมกัน โดยกล่าวอ้างคำสอนในอัลกุรอ่าน บทซูเราะห์ที่ 5:48 ที่ว่า “พระเจ้าไม่ทรงทำผิดพลาด และทรงสร้างเราทุกคนให้แตกต่างกัน” รวมทั้งบทซูเราะห์ที่ 49:11 ที่ว่า “ผู้คนไม่ควรตัดสินกันเอง พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงสิทธิในการตัดสิน”
มุสลิมในโลกตะวันตก
ข้อมูลจากสมาคมอิสลามแห่งอเมริกาเหนือ (Islamic Society of North America – ISNA) ซึ่งเป็นองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ชี้ว่าปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวของขบวนการต่าง ๆ ซึ่งรณรงค์เพื่อการยอมรับชาวมุสลิมที่เป็น LGBTQ+มากขึ้นในสหรัฐฯ และแคนาดา โดยผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของสถาบันวิจัยศาสนาสาธารณะ (PRRI) ที่กรุงวอชิงตันระบุว่า กว่าครึ่งของชาวอเมริกันที่นับถือศาสนาอิสลาม (52%) เห็นว่าสังคมควรยอมรับความหลากหลายทางเพศ
มัสยิดทางเลือกบางแห่งในสหรัฐฯ เช่นที่อยู่ในเครือ Unity Mosques มีการประกอบพิธีสมรสตามหลักศาสนาให้คนเพศเดียวกันโดยอิหม่าม ซึ่งนายคีธ เอลลิสัน ชาวอเมริกันมุสลิมคนสำคัญที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมินนิโซตาจากพรรคเดโมแครต กล่าวสนับสนุนการสมรสในแนวทางนี้อย่างหนักแน่นว่า “ผมเชื่อในการขยายสิทธิและหน้าที่อันมาจากการสมรส ให้ครอบคลุมไปถึงคู่รักเพศเดียวกัน โดยให้มีการยอมรับจากรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองของรัฐต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิม”
สถานีโทรทัศน์เอบีซีของออสเตรเลียรายงานเมื่อปี 2020 ว่า อิหม่ามสัญชาติออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยออกมาเปิดเผยถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่เป็น LGBTQ+ รวมทั้งมีองค์กรที่จัดตั้ง “มัสยิดลับ” ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่นนครซิดนีย์ เมลเบิร์น และบริสเบน เพื่อเปิดให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าสวดภาวนาและประกอบกิจกรรมทางศาสนาได้ โดยไม่ถูกรังเกียจกีดกันเหมือนกับการไปมัสยิดแนวอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง
ส่วนที่สหราชอาณาจักร มีพลเมืองชาวมุสลิมที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันอยู่กินกันอย่างเปิดเผยจำนวนหนึ่ง โดยพวกเขาได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายของอังกฤษ และกฎหมายต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติของสหภาพยุโรปหรืออียู ซึ่งบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรก่อนเหตุการณ์เบร็กซิต (Brexit) ในปี 2016 แม้ว่าในบางครั้งพวกเขายังคงต้องเผชิญการต่อต้านจากคนในครอบครัว และสมาชิกชุมชนมุสลิมเดียวกันก็ตาม
การที่รัฐออกกฎหมายให้ความคุ้มครองชาว LGBTQ+ อย่างเช่นในกรณีของสหราชอาณาจักรนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่สนับสนุนให้มุสลิมผู้มีความหลากหลายทางเพศเปิดเผยตัว และเลือกใช้ชีวิตคู่แบบเป็นทางการโดยถูกต้องตามกฎหมายกันมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่องค์กรอิสลามฝ่ายอนุรักษ์นิยมในไทยหวาดกลัว ว่าจะเปิดโอกาสให้มุสลิมหนุ่มสาวดำเนินรอยตาม “พฤติกรรมที่ขัดกับหลักศีลธรรม” มากขึ้นก็เป็นได้