ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคทางใจ นำโดยโรคซึมเศร้า ถึง 1.5 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ เป็นปัญหาที่เกิดจากการต้องอยู่ในสังคมที่แข่งขันตลอดตั้งแต่ยังเด็ก จนเกิดเป็นความเครียดสั่งสม หากสามารถทำให้ทุกชีวิตอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่เหมาะสม และสนับสนุนให้เรียนรู้ศิลปะ ที่ปราศจากกรอบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ตั้งแต่ปฐมวัย จะช่วยป้องกันปัญหานี้ได้ตั้งแต่ต้นเหตุ
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีผ่านศิลปะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ด้านนี้ อาทิ โครงการศิลปะด้านในเพื่อพัฒนาสุนทรียภาพสำหรับผู้ทำงานด้านเด็กปฐมวัย และล่าสุดได้จัดกิจกรรม ภาพยนตร์ศิลปะ: โรงเรียนในภูเขา นิทรรศการศิลปะเด็กที่พาความเปลี่ยนแปลง ขึ้น ที่สำนักงานใหญ่ของ สสส. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา
นำเสนอหลักสูตรการเรียนการสอนศิลปะแบบฉบับของ โรงเรียนในภูเขา โรงเรียนทางเลือกจากอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การนำของ ‘ครูมอส’ หรือ อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัด ที่เต็มไปด้วยกลเม็ดเด็ดพรายในการสร้างสมดุลให้ชีวิต ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย กิจกรรมวาดภาพสีขี้ผึ้งป่า กิจกรรมเล่านิทาน และกิจกรรมจัดดอกไม้ ที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถเข้าร่วมได้
ไม่เพียงแค่นั้น ภายในงานยังจัดฉายภาพยนตร์สารคดี ‘ศิลปะ: โรงเรียนในภูเขา’ ซึ่งเป็นการบันทึกภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนในภูเขาอย่างละเอียด ความยาวกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อนำเสนอให้เห็นว่า สามารถนำศิลปะมาใช้สร้างความจรรโลงใจ และช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยเกิดความสมดุลในการใช้ชีวิตได้อย่างไร
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. พบว่า แนวทางของโรงเรียนในภูเขา ตอบโจทย์ภารกิจของ สสส. ที่ต้องการสร้างเสริมสุขภาวะแก่ทุกคนในสังคมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว ด้วยการจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้เยียวยาแผลใจ ที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ จนมีความสดใส ร่าเริง และแข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการป่วยด้วยโรคทางใจจำนวนมากได้
“ระบบการศึกษาไทยในโรงเรียนทั่วไป เน้นผลสัมฤทธื์ทางวิชาการ วัดผลด้วยการสอบ เด็กจึงต้องแข่งขันกันตลอดเวลา แต่ถ้าเด็กมีปัญหาที่พฤติกรรม โรงเรียนกลับไม่มีความพร้อมจะเยียวยาฟื้นฟูทางจิตใจ
“สสส. จึงตั้งใจให้โรงเรียนในภูเขาเป็นพื้นที่สาธิตว่า การดูแลเด็กให้เกิดความอิ่มเอมจากข้างใน จะช่วยให้เขารับมือกับความผันผวนต่างๆ ได้ดี การสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ต้องยึดการเติบโตตามธรรมชาติของช่วงวัยจริงๆ และเป็นสิ่งที่โรงเรียนในภูเขาทำมาโดยตลอด” ณัฐยา บอก
ด้าน ‘ครูมอส’ อธิบายเพิ่มเติมว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน ลดทอนความสำคัญของวิชาศิลปะลงเรื่อยๆ เมื่อ 4 ปีก่อนจึงก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น เพื่อใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนชีวิต ทำให้เด็กเติบโตอย่างมีสุนทรียภาพ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมสนับสนุนโรงเรียน เพื่อช่วยเหลือสังคมให้เกิดสุขภาพจิตและใจที่ดี
“เราอยากให้เด็กมีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่รากฐานเหล่านี้หายไปพอควร ฉะนั้นเราต้องเติมเต็มเขา ศิลปะไม่ได้หมายความถึงแค่การระบายสี เพราะอะไรๆ ก็สามารถเป็นศิลปะได้ เด็กหลายคนที่มาที่นี่ เป็นเด็กที่รู้สึกว่าศิลปะหายไปจากชีวิตเขา เป้าหมายสูงสุดของเราคือการทำให้เด็กๆ มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ ชีวิต และการศึกษา ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะในวิชาใดล้วนมีศิลปะแทรกอยู่ เราสามารถส่งเสริมสุขภาวะทางใจ ให้เกิดความสมดุล และสร้างสุขภาวะที่ดีด้วยวิธีการนี้ได้”
อนุพันธุ์ มั่นใจว่า ต่อให้ในอนาคต เด็กๆ ที่มาเรียนกับเขาจะไม่ได้เรียนต่อหรือทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ แต่ท้ายที่สุด ศิลปะก็จะยังคงอยู่ในทุกจังหวะของชีวิตเสมอไป แล้วเสริมอีกว่า
“ผมอยากใช้พื้นที่นี้ขอบคุณ สสส. และทีมงานอาจารย์ทุกท่าน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนโรงเรียนแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และหวังว่าเราจะสามารถสร้างระบบนิเวศ ที่จะช่วยเกื้อกูลให้ศิลปะกระจายตัว และยั่งยืนในระยะยาว”
เพราะศิลปะคือการเรียนรู้ที่ไม่มีถูก ไม่มีผิด และไม่มีกรอบ พร้อมเปิดกว้างให้ทุกคนได้สัมผัสความงดงาม และเข้าถึงประสบการณ์ที่สอดคล้องกับธรรมชาติอย่างสุนทรีย์ ศิลปะจึงเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ที่ สสส. ร่วมสนับสนุนและผลักดัน เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาวะกายใจที่แข็งแรง
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth, ศิลปะด้านใน และ โรงเรียนในภูเขา
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่