วัคซีนโควิด-19 ถือเป็น “เครื่องมือหลัก” ที่ทุกประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต รัฐบาลจึงจำเป็นต้องติดตามและประเมินผลสำเร็จของนโยบายการให้วัคซีน ที่จะนำไปสู่การวางแผนและกำหนดมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ ปัจจุบันหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจึงยังไม่มีการจัดทำกรอบการติดตามและประเมินผล (Monitoring and evaluation framework)
เพื่อให้การติดตามและประเมินผลฯ อย่างเป็นระบบ จำเป็นต้องมีการจัดทำ “ตัวชี้วัดมาตรฐาน” ภายใต้กรอบการติดตามและประเมินผลฯ ขึ้นมา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย โดยเฉพาะในระยะหลังมีการให้ใช้วัคซีน (Post-vaccination)
ด้วยข้อจำกัดของโควิด-19 ทำให้คณะผู้วิจัยเครือข่ายโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ใช้วิธีการ “ทบทวนวรรณกรรมอย่างมีขอบเขต” (scoping review) จากงานวิชาการหลากหลายประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งวิเคราะห์-สังเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้การวิจัยหัวใจ “โครงการศึกษาประเด็นท้าทายเพื่อพัฒนากรอบการติดตามและการประเมินผลของนโยบายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย” หรือ Understanding the challenges to develop monitoring and evaluation framework for COVID-19 vaccination policy in Thailand
ในการทบทวนวรรณกรรมอย่างมีขอบเขต หรือ scoping review นั้น ถือเป็นวิธีการสังเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมภายใต้กรอบระยะเวลาการดำเนินการที่จำกัด โดยคณะผู้วิจัยได้ศึกษาและกำหนดขอบเขตของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับกรอบการติดตามและประเมินผลฯ ทั้งในระยะการฉีดวัคซีนและภายหลังฉีดวัคซีนจากทั่วโลก พร้อมทั้งระบุและรวบรวมตัวชี้วัด-สังเคราะห์บทเรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนากรอบการติดตามและประเมินผลวัคซีนสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในบริบทของประเทศไทย
กรอบการติดตามและประเมินผลฯ มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย โดยกรอบดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อการวางแผนในการดำเนินงานเท่านั้น หากแต่ยังก่อให้เกิดการเรียนรู้และสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างขององค์ความรู้ด้วย
สำหรับการจัดทำกรอบการติดตามและประเมินผลฯ นักวิจัยภายใต้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1. การทบทวนวรรณกรรมอย่างมีขอบเขต เพื่อศึกษารวบรวมตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผลวัคซีนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 2. การประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำเสนอผลการทบทวนวรรณกรรมอย่างมีขอบเขต และร่วมกันพิจารณาตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย 3. การจัดทำตัวชี้วัดมาตรฐานเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย
เจาะข้อมูลจากการทำ scoping review
ข้อมูลจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระดับนานาชาติ พบวรรณกรรมทั้งสิ้น 4,288 เรื่อง ในจำนวนนี้ซ้ำกัน 2,089 เรื่อง โดยคณะผู้วิจัยทำการ “คัดเข้า” วรรณกรรมเพื่อนำมาทบทวน จากชื่อเรื่อง บทคัดย่อ ตลอดจนการอ่านแบบทั้งฉบับ ที่สุดแล้วมีวรรณกรรมที่ผ่านการคัดเข้ารวม 71 เรื่อง
ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลางถึงระดับสูง ในกลุ่มประเทศยุโรปและกลุ่มประเทศแอฟริกา
ผลการสังเคราะห์ข้อมูลจาก scoping review สามารถจัดกลุ่มตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผลวัคซีนโควิด-19 ในระยะหลังมีการให้ใช้วัคซีนแล้ว (Post-vaccination) โดยแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบ ดังนี้
service capacity)
กรอบการติดตามและประเมินผลฯ สะท้อนการแพร่ระบาดของโรคอย่างไร
จำนวนการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการติดตามและประเมินผลวัคซีนต่างๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 2006 โดยพบการศึกษามากที่สุดในปี ค.ศ. 2018 และมีการศึกษาในระหว่างโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) กับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่
สะท้อนให้เห็นข้อมูลว่า จำนวนการศึกษากรอบการติดตามและประเมินผลของวัคซีนยังไม่ได้มีปริมาณมากเมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดของโรคอื่นๆ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
1. การดำเนินการติดตามและประเมินผล ควรเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละตัวชี้วัดอาจเป็นผู้นำในกระบวนการต่างๆ โดยอาศัยข้อมูล ทรัพยากรและความร่วมมือจากหน่วยงานหรือภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ตัวชี้วัดบางส่วนสามารถใช้ในการติดตามและประเมินทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ดังนั้นการนำตัวชี้วัดไปดำเนินการนั้น จึงต้องปรับประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของแต่ละระดับด้วยเช่นกัน
3. บริบทของโรคมีความแตกต่างกัน เช่น โรคระบาด โรคไม่ติดต่อ ดังนั้นจึงควรพิจารณาและปรับประยุกต์การติดตามและประเมินผลโดยใช้ตัวชี้วัดอย่างเหมาะสม
4. การติดตามและประเมินผลควรคำนึงถึงความเป็นกลางในการดำเนินการ จึงอาจนำหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมในกระบวนการติดตามและประเมินผลด้วย
5. ปัจจัยของวัคซีนที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ควรนำมาเป็นตัวชี้วัด เช่น จำนวนวัคซีนที่เพียงพอต่อประชากรในสถานการณ์โควิด-19
6. การจัดการห่วงโซ่อุปทานของวัคซีน ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงควรมีตัวชี้วัดที่สามารถติดตามและประเมินผลอย่างละเอียดในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานของวัคซีน อาทิ การจัดหาวัคซีน การขนส่งวัคซีน การจัดเก็บวัคซีน
7. ประเด็นการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารภายในองค์กร การสื่อสารระหว่างองค์กร และการสื่อสารมวลชนเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรมีการติดตามและประเมินผล