รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การเกษียณอายุงาน เป็นกระบวนการทางสังคมด้านการประกอบอาชีพที่กำหนดให้บุคคลที่ได้รับการจ้างงานต้องออกจากงานเมื่อถึงช่วงอายุที่กำหนดไว้ ตามนิยามเก่าเมื่อ 25-30 ปีมาแล้ว จะระบุความหมายไว้ว่า ‘การเกษียณอายุ เป็นวงจรชีวิตการประกอบอาชีพที่อยู่ในช่วงต่ำสุดของการจ้างงาน ความรับผิดชอบต่ออาชีพและโอกาสการทำงานต่าง ๆ จะลดต่ำลงที่สุด’ หรือ ‘การเกษียณอายุ เป็นการถอนตัวออกจากภาวการณ์หนึ่งไปสู่อีกภาวการณ์หนึ่ง หรือจากสิ่งแวดล้อมหนึ่งไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่’
30 กันยายน ของทุกปี เป็นวันหมดสิ้นภารกิจของบรรดาข้าราชการที่เรียกว่า “เกษียณอายุราชการ”
สำหรับประเทศไทย การเกษียณอายุราชการ หมายถึง การครบกำหนดอายุรับราชการ สิ้นกำหนดเวลารับราชการหรือ การทำงาน นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดเวลาการเกษียณอายุราชการด้วยเงื่อนไขของอายุที่ 55 ปี แต่สามารถต่ออายุราชการออกไปได้อีกคราวละ 5 ปี ไม่เกิน 2 ครั้ง การเปลี่ยนแปลงเรื่องการเกษียณอายุราชการภายใต้เงื่อนไขอายุ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง แต่ครั้งสำคัญที่สุดน่าจะเป็นในช่วงรัชกาลที่ 9 ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2504 มาตรา 3 กำหนดให้เกษียณอายุราชการเมื่อมีอายุครบ 60 ปี และคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ต่อเวลารับราชการได้คราวละ 1 ปี จนอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์
ต่อมามีการยกเลิกเงื่อนไขการต่ออายุราชการในปี 2518 ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 11) แต่ก็กลับมาใช้ใหม่ในปี 2523 ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 13) กรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการด้านการศึกษา การพัฒนาประเทศ ฯลฯ
เงื่อนไขสำคัญของการเกษียณราชการคือ ปัจจัยด้านอายุ ที่เชื่อมโยงกับระยะเวลาที่รับราชการ และผูกโยงไปยังเงินบำเหน็จบำนาญที่จะได้รับซึ่งเกี่ยวพันกับงบประมาณของประเทศ ทำให้การเกษียณอายุราชการไทยมีการกำหนดอายุแบบตายตัว เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ “คน” และการบริหารจัดการ “เงิน” การเกษียณเป็นการออกจากราชการโดยผลของกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ “ข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว จะต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์”
ทั้งนี้ การนับอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ให้นับอายุบุคคลตามนัย มาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่แก้ไขใหม่และมีผลบังคับใช้วันที่ 8 มิถุนายน 2535 ซึ่งบัญญัติว่าการนับอายุบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ตัวอย่างเช่น
นายวุฒิ เกิดเมื่อ 1 ตุลาคม 2505 จะมีอายุครบ 60 ปี เมื่อ 30 กันยายน 2565 และในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ดังนั้น นายวุฒิ จึงต้องพ้นจากราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2565
นายวิทย์ เกิดเมื่อ 2 ตุลาคม 2505 จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 และวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ คือวันที่ 30 กันยายน 2566 ดังนั้น นายวิทย์จึงต้องพ้นจากราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2566
แต่ด้วยสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจำนวนเด็กเกิดลดลง ประชากรวัยแรงงานลดลง ประกอบกับนวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้คนไทยอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ตามสถิติคนไทยจะมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้นอย่างน้อย 20 ปี อย่างคนที่อายุ 50 ปี ก็จะอยู่ได้
80-90 ปี ดังนั้น การกำหนดเงื่อนไขวัยเกษียณอายุราชการที่ 60 ปี ก็คงไม่ได้หมายความว่า พออายุครบ 60 ปีแล้วจะยุติบทบาทและหน้าที่การทำงาน เพราะเมื่อเทียบกันแล้วก็ต้องบอกจริง ๆ ว่า ‘ชีวิตสั้น ผลงานยืนยาว’
หากบุคคลใดอายุอยู่ในวัยเกษียณราชการแล้ว แต่สุขภาพแข็งแรงดี ยังคงทำงานต่อไปได้แบบไม่มีวันเกษียณ ก็นับว่าเป็นมากกว่ากำไรแห่งชีวิตของบุคคลนั้น เพราะการทำงานนอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยรู้แล้ว ยังทำให้เป็นคนที่ทันสมัย ทันยุค
ทันเหตุการณ์ ร่างกายกระฉับกระเฉง ห่างไกลความเจ็บป่วย และลืมวันคืนได้อีกด้วย
ส่งท้ายด้วยบทสะท้อนเรื่องวัยเกษียณยังต้องทำงานต่อของ ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กรบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวว่า “การจ้างงานคนวัยเกษียณส่งผลดีต่อการทำงานให้กับองค์กรหลายอย่าง เช่น
ไม่ลาบ่อย ช้าแต่ได้งาน เงินสมกับงาน ไม่ต้องการสิทธิพิเศษ และอัตราการลาออกต่ำ” และสิ่งหนึ่งที่ ดร.วิโรจน์ย้ำหนักแน่นเพื่อไม่ต้องการให้สังคมเข้าใจแบบผิด ๆ ก็คือ “คนมักเข้าใจว่าดีจังอนุเคราะห์ผู้สูงวัยเข้าทำงาน จริง ๆ ไม่ใช่นะครับ เราอยู่ร่วมกันอย่าง win-win องค์กรจ้างสูงวัยเพราะทดลองแล้วคุ้มค่าที่จะจ้าง เราซาบซึ้งในคุณค่างานเขา ต้องขอบคุณที่เขากรุณาทำงานที่ผมต้องการ…พี่ๆ เขาอนุเคราะห์เราต่างหาก”
ขอให้โชคดีสำหรับท่านที่จะเกษียณอายุราชการ 30 กันยายนปีนี้ครับ !