เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. งานถวายผ้ากฐินประวัติศาสตร์ครั้งแรกในรอบเวลาพันกว่าปี บนแผ่นดินอารยธรรมพุทธศาสนา แคว้นคันธาระ.. อาณาจักรกุษาณะ ได้เกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ สวยงาม สมบูรณ์ด้วยอำนาจกุศลธรรม.. ถูกต้องตามพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาทุกประการ นำไปสู่ความปีติยินดีกันถ้วนหน้าในหมู่ชาวพุทธที่เดินทางไปร่วมงาน เมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๕ ณ นครตักกศิลา.. เมืองหลวงของแคว้นคันธาระ ชมพูทวีปในอดีต ซึ่งปัจจุบันนครตักกศิลา.. ยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่.. ตั้งอยู่ในเขตปกครองของเมืองราวัลปินดี รัฐปัญจาบ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
ถึงแม้ว่า นครตักกศิลา จะมิได้เป็นนครหลวงดังแต่ก่อน.. แต่ด้วยภูมิประเทศของเมืองที่สมบูรณ์ด้วยยุทธศาสตร์ในทุกด้าน .. ทั้งยังตั้งอยู่ใกล้เมืองหลวงอิสลามาบัดของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน จึงยังคงเห็นถึงความยิ่งใหญ่ที่แฝงอยู่ในความเป็นนครโบราณ.. โดยเฉพาะความเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงของทหารเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรมดา ในด้านการเป็นเมืองผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย ที่มีการประกาศเขตอุตสาหกรรมการผลิตของฝ่ายทหารครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ รวมทั้งการเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเก่าแก่.. ที่ไม่ด้อยไปกว่าเมืองอื่นๆ ในปากีสถาน
นครตักกศิลา .. จึงยังคงเป็นเมืองที่สำคัญยิ่งทางยุทธศาสตร์ของปากีสถาน อย่างมิได้ด้อยไปกว่าในอดีต และเมื่อผสมผสานกับความเป็นนครอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ จนได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก จึงยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้หมู่ชนผู้ใคร่ทัศนศึกษานครโบราณทางอารยธรรมของชาวชมพูทวีป ใคร่อยากเดินทางไปสัมผัส นครตักกศิลา สักครั้งในชีวิต
พิพิธภัณฑ์นครตักกศิลา จึงถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อประมวลรวบรวมองค์ความรู้จากวัตถุสิ่งของทางโบราณคดีที่สำคัญๆ หลายยุคสมัยไว้ที่นี่ เพื่อเป็นศูนย์การศึกษา-การเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติในแต่ละร่องรอย อันปรากฏอยู่บนเส้นทางสืบเนื่องอารยธรรมแต่ละยุคสมัยที่เชื่อมสัมพันธ์กับนครตักกศิลา ที่ถูกจัดแบ่งเป็น ๓ ช่วง ได้แก่ สมัยนครดั้งเดิม (บริเวณเนินภีร์), สมัยนครศรีกัป และสมัยนครศรีสุข.. ซึ่งเป็นการจัดการเขตปกครองชุมชนในความเป็นนครตักกศิลา.. ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคนครตักกศิลาล่มสลายอย่างยากจะกอบกู้ ด้วยการทำลายของกองทัพฮั่นขาว (White Hun) ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐…
แต่ด้วยความเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาที่ยั่งยืนสืบเนื่องมาหลายพันปี.. ของนครตักกศิลา จึงยังมีรากฐานอารยธรรมไว้ให้ค้นคว้าศึกษา โดยเฉพาะในสมัยพุทธศาสนาฝ่ายเหนือรุ่งเรืองที่สุด ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕ เป็นต้นไป โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แคว้นคันธาระ.. นครตักกศิลาแห่งนี้
การได้รับการขุดค้นเพื่อฟื้นฟูโบราณสถานต่างๆ ในนครตักกศิลา จากบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะในสมัยพุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นต้นมา โดย Sir John Marshall .. จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรักษาไว้ซึ่งมรดกโลก อันเป็นทรัพย์สินทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติที่ยากจะประมาณคุณค่า.. โดยเฉพาะโบราณสถาน พระพุทธรูป สถูปเจดีย์ วัตถุ สิ่งของในพุทธศาสนา ที่สื่อสารเรื่องราวในร่องรอยอารยธรรมสมัยนั้นๆ .. อันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง.. ต่อการเป็นมรดกโลก ที่ชาวโลกควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้ .. โดยเฉพาะชาวปากีสถาน
แม้ว่า.. งานด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ของนครตักกศิลา.. จะยังไม่ก้าวหน้าไปมากนัก ด้วยข้อจำกัดในความเป็นสาธารณรัฐอิสลาม.. และปัญหาทางด้านสังคม การเมือง การปกครอง.. แต่ก็ยังน่ายินดี เมื่อได้เห็นความตั้งใจจริงในการทำงานทางโบราณคดีของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ.. ที่พยายามใช้ความรู้-ความสามารถอย่างเต็มกำลัง ต่อการสืบสานงานโบราณคดีอย่างมีจิตวิญญาณนักโบราณคดีแท้จริง มิได้คิดแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใด.. ชาติใด.. จึงควรแก่การให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ที่พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ ดังปรากฏให้ชาวโลกได้เห็นเชิงประจักษ์ในความเป็น “พิพิธภัณฑ์ตักกศิลา”
เมื่อพิพิธภัณฑ์นครตักกศิลาที่ได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นพื้นที่อธิษฐานจำพรรษาของคณะสงฆ์ไทยชุดแรก ๖ รูป โดยมีพระอาจารย์อารยวังโสเป็นประธานสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา.. ซึ่งนับเป็นพรรษาแรก.. เป็นครั้งแรก.. เป็นคณะแรก.. ในรอบเวลามากกว่าพันปีที่ได้รับนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาในเขตพิพิธภัณฑ์นครตักกศิลา ณ อาคารที่พัก Sir John Marshall หัวหน้านักโบราณคดีชาวอังกฤษ ที่เคยพักอาศัยอยู่ที่อาคารที่พักในพิพิธภัณฑ์ตักกศิลาแห่งนี้.. จึงนับเป็นเรื่องที่ควรแก่การบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อนำไปสู่การจัด งานถวายผ้ากฐินประวัติศาสตร์ประจำปีพรรษา พุทธศักราช ๒๕๖๕ โดยคณะชาวพุทธจากหลายประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา เป็นต้น.. ซึ่งในส่วนพุทธศาสนิกชนชาวไทยนั้น.. เมื่อนับรวมยอดทั้งหมดก็ร่วม ๑๕๐ คนเข้าไปแล้ว และเมื่อนำไปกระทบเข้ากับยอดจำนวนศาสนิกชนที่มาจากประเทศต่างๆ รวมถึงพี่น้องอิสลามชาวปากีสถานที่ได้ให้ความสนใจต่อการประกอบศาสนกิจครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ จึงรวมยอดมากกว่า ๒๐๐ .. ๓๐๐ คน… ทั้งนี้ยังไม่นับคนงานเจ้าหน้าที่กองโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ.. ฝ่ายรักษาความปลอดภัย และแม้กระทั่งในหมู่เด็กๆ ชาวปากีสถานที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานดังกล่าว อย่างใส่ใจในการศึกษาอารยธรรม ที่สืบ..วัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธในรูปศาสนกิจ ที่สมบูรณ์ด้วยศาสนธรรมตามพระธรรมวินัย
การแสดงธรรมบรรยาย.. และแปลข้อความเป็นภาษาอังกฤษทุกตอนในวันดังกล่าว.. จึงนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องราวในพระพุทธศาสนาอย่างเข้าใจถึงความเป็นพระพุทธศาสนาแท้จริง.. ที่ให้ความสำคัญในทุกมิติทางจิตวิญญาณที่สัมพันธ์กับสังคม สิ่งแวดล้อม อย่างจริงใจ ดังที่ได้มีการถ่ายทอดอารยธรรมด้านต่างๆ ผ่านกระบวนการถวายผ้ากฐิน.. ทั้งฝ่ายประชาชนผู้ถวาย และคณะสงฆ์ผู้รับ.. ต้องมาบรรจบกันที่ ความสามัคคีธรรม .. อันประกาศความเป็นเขตสันติธรรม-สันติสุข.. แท้จริง.. ซึ่งพระพุทธศาสนายกเป็นเรื่องใหญ่.. เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในสังคมพหุชนของชาวโลก…
การเผยแพร่ศาสนกิจที่เพียบพร้อม ถูกต้องตรงตามศาสนธรรม. ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อ แสวงหาลาภอามิสในทางที่ผิดพระวินัยในครั้งนี้.. จึงเป็นจุดสำคัญของการเผยแพร่พุทธศาสนาตัวแท้จริง.. ที่นำไปสู่ความสนใจของชาวปากีสถานเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสื่อสารมวลชนในปากีสถาน.. ที่ได้ติดตามมาร่วมงาน เพื่อรายงานข่าวไปในโลกอิสลามผ่าน Social Media ช่องต่างๆ ที่ให้ผลสะท้อนกลับมาเป็นบวกต่อการไปประกอบศาสนกิจครั้งประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาบนแผ่นดินสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานในครั้งนี้ จึงได้เห็นปรากฏการณ์ของวันดอกไม้สันติภาพที่เบิกบานท่ามกลางหมู่ชนแม้ต่างศาสนา.. ด้วยไมตรีจิตที่มีต่อกันและกัน.. แม้จะต่างชาติ.. ต่างเผ่าพันธุ์.. แต่สามารถกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังที่ได้เห็นชาวปากีสถานที่มาร่วมงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความยินดีต่อความสำเร็จ.. ความสวยงามของการประกอบศาสนกิจถวายผ้ากฐินประวัติศาสตร์ ณ นครตักกศิลา ในครั้งนี้
จึงไม่แปลก.. หากจะกล่าวว่า.. จากการจัดงานประวัติศาสตร์บนแผ่นดินปากีสถานในครั้งนี้ จะได้เห็นทฤษฎีดอกไม้หลากสี.. หลากหลายชนิด.. ที่ถูกรวมลงอย่างบรรจงในแจกันที่สวยงาม.. ด้วยความเข้าใจคุณลักษณะอันเหมาะควร.. แจกันดอกไม้สวยงามจากจิตใจของมนุษยชาติจึงได้ปรากฏเกิดขึ้นในดวงจิตของศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าอย่างน่าอัศจรรย์..
สันติภาพ.. ความสุข.. ความปีติยินดี.. จึงเกิดเบิกบานไปทั่ว.. โดยไม่ต้องซื้อหาด้วยเงินทอง.. ไม่ต้องใช้อำนาจใดๆ ในโลกเข้าไปจัดการ.. ให้ต้องขัดเคือง.. คับแค้นใจต่อกันและกัน
เมื่อ.. หมู่ชน.. พหุชน.. เข้าถึงความมี มนุษยธรรม อันเสมอกัน.. มีความรัก.. ความจริงใจต่อกัน.. ปรารถนาดีต่อกัน.. สันติภาพบนแผ่นดินอารยธรรมจึงเกิดขึ้นอย่างไม่ยาก จึงสามารถกล่าวได้ว่า… “เมตตาธรรม.. ค้ำจุนโลก” จริงๆ..
“..ศาสนา.. ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกัน.. หากคนในศาสนา.. เข้าใจศาสนา.. แท้จริง ที่มุ่งนำมนุษยชาติ.. ไปสู่ประโยชน์สุข.. บนทิศทางเดียวกัน
จะมีแต่คนไม่เข้าใจศาสนาเท่านั้น.. ที่นำศาสนาไปเป็นเครื่องมือ.. เพื่อแสวงหาประโยชน์อย่างมิควร… ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา.. อย่างไม่เข้าใจคุณค่าของศาสนา…”
บนความสัมพันธ์ของศาสนา.. สู่ความสัมพันธ์ของประชาชน… เชื่อมั่นว่า.. วิถีธรรมทางการทูต (Dhamma Diplomacy) เป็นวิธีการที่ถูกต้องอย่างที่สุด เหนือวิถีทางการทูตใดๆ .. ต่อการนำมหาชน.. ชาวโลกไปสู่สันติสุข.. อย่างแท้จริง ที่นักการทูตทั่วโลกควรใส่ใจ ใคร่ครวญ ในวิถีธรรมทางการทูต.. อย่างจริงใจ.. เพื่อการอนุเคราะห์โลกโดยธรรม…….
เจริญพร
[email protected]