Submitted on Sat, 2022-12-31 16:22
ในช่วงปลายปี 2565 World Justice Project องค์กรสร้างความรู้และกระตุ้นการพัฒนานิติรัฐในระดับโลก ได้เปิดเผยรายงานว่าคะแนนด้านความเป็นนิติรัฐของไทยอยู่ในอันดับที่ 80 จาก 140 ประเทศที่มีศึกษา ได้ 0.50 จากคะแนนเต็ม 1 ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 0.05 คะแนน และค่าเฉลี่ยของภูมิภาค 0.07 คะแนน
รายงานฉบับนี้เผยแพร่เมื่อต้น พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ข้อมูลส่วนไทยในปีนี้พบว่าคะแนนยังคงเท่ากับปี 2564 ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไทยอยู่ในอันดับ 10 จาก 15 ประเทศ ส่วนในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-บน ไทยได้อันดับ 25 จาก 42 ประเทศ
เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันพบว่าไทยอยู่ในอันดับ 4 จาก 8 ประเทศที่มีการศึกษา ตามหลังสิงคโปร์ (0.78) มาเลเซีย (0.57) อินโดนีเซีย (0.53) แต่ยังคงนำเวียดนาม (0.49) ฟิลิปปินส์ (0.47) พม่า (0.36) และกัมพูชา (0.31) ส่วนลาวและบรูไนไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ศึกษา
เกณฑ์การให้คะแนนพิจารณาจากปัจจัย 8 ด้าน ได้แก่ (1.) การจำกัดอำนาจของรัฐบาล (2.) ปราศจากการทุจริต (3.) ความเปิดกว้างของรัฐบาล (4.) สิทธิขั้นพื้นฐาน (5.) ความสงบเรียบร้อยและปลอดภัย (6.) การบังคับใช้กฎระเบียบ (7.) ความยุติธรรมทางแพ่ง และ (8.) ความยุติธรรมทางอาญา
ไทยทำคะแนนได้ดีในด้านความสงบเรียบร้อยและปลอดภัย (0.74 เต็ม 1 คะแนน) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (0.72) แต่ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค (0.79) ส่วนทุกด้านที่เหลือได้คะแนนไม่ถึง 0.50 คะแนน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือความยุติธรรมทางอาญา (0.42)
ข้อมูลในรอบ 7 ปีสะท้อนว่าคะแนนด้านความเป็นนิติรัฐของไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ปีที่ได้คะแนนมากที่สุด (ปี 2558 ได้ 0.52) ต่างกับปีที่ได้น้อยที่สุดเพียง 0.02 (ปี 60, 61, 64, 65 ได้ 0.50) ปีที่สถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อยคือปี 2559 และปี 2563 ได้คะแนนอยู่ที่ 0.51
สถานการณ์ทั่วโลกน่ากังวล
รายงานให้ข้อมูลในภาพรวมว่าความเป็นนิติรัฐนับว่าถดถอยลงทั่วโลกเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน จาก 140 ประเทศที่มีการศึกษาพบว่ามีประเทศที่ความเป็นนิติรัฐพัฒนาขึ้น 39 เปอร์เซ็นต์ และประเทศที่ความเป็นนิติรัฐถดถอยลง 61 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่บางประเทศคะแนนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในรอบ 5 ปี เช่น สเปน มอลโดวา อาร์เจนตินา และคาซัคสถาน บางประเทศคะแนนลดน้อยลงจนน่าตกใจ เช่น บราซิล รัสเซีย เม็กซิโก อียิปต์ และโบลิเวีย
ประเทศที่มีคะแนนสูงสุด ได้แก่ (1.) เดนมาร์ก (2.) นอร์เวย์ (3.) ฟินแลนด์ (4.) สวีเดน (5.) เนเธอร์แลนด์ และ (6.) เยอรมนี ส่วนประเทศที่มีคะแนนน้อยที่สุด ได้แก่ (135.) อียิปต์ (136.) เฮติ (137.) คองโก (138.) อัฟกานิสถาน (139.) กัมพูชา และ (140.) เวเนซูเอลา
เมื่อตัดปัจจัยด้านความสงบเรียบร้อยและปลอดภัย ซึ่งประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มดีขึ้นออกไป และพิจารณาเพียง 7 จาก 8 ปัจจัย พบว่ามีประเทศที่ถดถอยลงมากกว่าประเทศพัฒนาขึ้นในปัจจัยด้านเหล่านี้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 พบว่ามีจำนวนประเทศที่พัฒนาขึ้นในปัจจัยเหล่านี้มากกว่าปีที่แล้ว
ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา กว่าครึ่งของประเทศที่มีการศึกษายังพบความถดถอยในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลโดยตุลาการ นิติบัญญัติ และสื่อมวลชน และความถดถอยในการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งหมดนี้ เป็นแนวโน้มที่มีมาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
แปลและเรียบเรียงจาก
https://worldjusticeproject.org/rule-of-law-index/country/2022/Thailand
https://worldjusticeproject.org/rule-of-law-index/insights
https://worldjusticeproject.org/rule-of-law-index/global
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
2022-12-31 16:22
ข่าวรอบวัน
2022-12-31 19:17
2022-12-31 19:06
2022-12-31 18:54
2022-12-31 18:34
2022-12-31 18:14
2022-12-31 17:06
2022-12-31 16:57
2022-12-31 16:40