“ส.ว.” มาอีกแล้ว ชงผลศึกษาการเลือกตั้ง แนะรัฐอุดหนุนค่าเดินทางไปหย่อนบัตรคนละ 500 บาท คาดใช้งบ 2 หมื่นล้าน ทั่นผู้ทรงเกียรติลาออกไปลงสนามท้องถิ่นต้องจ่ายค่าเลือกตั้ง รับเงินซื้อเสียงไม่ถือว่าผิด! เพื่อให้เป็นพยาน “หญิงหน่อย” ล่าอีก 4 หมื่นชื่อชงร่างรัฐธรรมนูญขจัดเผด็จการ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 มีรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) ได้นัดประชุมวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 23 ม.ค. เพื่อพิจารณาผลการศึกษาเรื่อง แนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เป็นประธาน
สำหรับสาระของผลการศึกษาดังกล่าว กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ได้เสนอให้ภาครัฐมีค่าพาหนะสำหรับประชาชนที่เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งคนละ 500 บาท ซึ่งจะใช้งบประมาณรวม 20,000 ล้านบาท สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและจูงใจให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และช่วยให้เกิดแนวคิดตอบแทนบุญคุณแผ่นดินแทนการตอบแทนนักการเมือง, แก้ไขกฎหมายว่าด้วยกรอบเวลาเลือกตั้งซ่อมของ ส.ส.ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ เช่น ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง เพราะเหตุอื่นนอกจากครบวาระ, แก้ไขกฎหมายหรือกำหนดมาตรการ กรณี ส.ส.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ลาออกเพื่อไปลงเลือกตั้งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง, แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยตั้งบุคคลในภูมิลำเนาในจังหวัดแทนตั้งบุคคลนอกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการแจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลทุจริตเลือกตั้ง โดยคุณสมบัติผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลา 10 ปี เพื่อความเป็นกลางที่แท้จริง
กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ยังเสนออีกว่า แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งรับเงินซื้อเสียง ไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้กล้าเป็นพยานชี้ตัวคนกระทำผิด เพื่อช่วยให้นำตัวผู้ทำผิดมาลงโทษได้ นอกจากนั้น ให้มีมาตรการคุ้มครองพยานและรางวัลนำจับให้ผู้ที่แจ้งเบาะแสการซื้อเสียงหรือทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง, กำหนดมาตรการหรือบทลงโทษที่ชัดเจนกรณีพรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้, กำหนดมาตรการหรือบทลงโทษ ส.ส.หรือสมาชิกรัฐสภาละเลยต่อหน้าที่ โดยเฉพาะการประชุมสภา
“แก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดลำดับที่ 1 เป็น ส.ส. เว้นแต่เขตเลือกตั้งที่มี ส.ส.มากกว่า 1 คน ให้ผู้ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุดระดับรองลงได้ไปเป็น ส.ส.ตามลำดับ จนกว่าจะครบจำนวนที่กำหนด ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ผู้สมัคร ส.ส.ที่แพ้เลือกตั้งซึ่งได้คะแนนสูงสุดในบรรดาผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเรียงลำดับไปจนครบจำนวนที่กำหนด เพื่อให้ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อมาจากผู้สมัคร ส.ส.ที่ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งสูงสุดตามลำดับ”
วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) และ น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค พร้อมทีมคนรุ่นใหม่ ได้ลงพื้นที่สยามสแควร์วัน เดินรณรงค์เชิญชวนลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งพรรคได้เสนอเข้าสู่สภาแล้ว โดยการเดินรณรงค์มีวัยรุ่นและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจจำนวนมาก ทั้งมาสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญและเข้ามาถ่ายรูปร่วมกับสมาชิกพรรคอย่างคึกคัก
คุณหญิงสุดารัตน์ย้ำว่า รัฐธรรมนูญ คือกฎหมายสูงสุด ต้องมาจากมือประชาชน ไม่ใช่มาจากปลายกระบอกปืนของเผด็จการ และการรัฐประหารคือกบฏ ต้องได้รับโทษสูงสุด ขณะนี้พรรคได้ยื่นให้รัฐสภาพิจารณา แต่ยังขาดรายชื่อของประชาชนอีก 4 หมื่นรายชื่อ จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยทุกคนไปร่วมลงรายชื่อตามลิงก์ https://dev.parliament.go.th/einitiative/petloginbyshr.aspx
ขณะที่ น.ต.ศิธา กล่าวถึงกรณี ส.ว.เตรียมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกวาระ 8 ปีในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้คนหนึ่งได้อยู่ต่อ พรรคคงยอมไม่ได้ และเชื่อว่าไม่มีประชาชนยอมรับได้เช่นกัน
ส่วนนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านยื่นอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลยังยืนยันให้อภิปรายในวันที่ 15 ก.พ. ว่าตามหลักการแล้ว ต้องรอตามวันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าง แต่ในวันที่ 25 ม.ค. วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้านจะร่วมหารือกันอีกครั้ง ซึ่ง ครม.จะส่งรัฐมนตรีมาร่วมหารือด้วย หาก ครม.ติดภารกิจเรา ก็ต้องยืนหลักตามเวลาที่ฝ่ายรัฐบาลว่าง เพราะต้องมารับฟังและชี้แจง ต้องรอให้ทุกฝ่ายมีความพร้อม จะไปตามใจใครไม่ได้.