จากการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะที่ 5.1 ครั้งที่ 1/2566 ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมพิจารณางบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามแผนงานบูรณาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ได้มีการนำเสนอ 5 แนวทางสำคัญ ครอบคลุม การพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ในหลากหลายมิติด้วยกัน
โดยผู้นำเสนอ คือ ธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ รักษาการแทนเลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า อีอีซี ในฐานะเจ้าภาพหลัก และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเจ้าภาพรองแผนงานบูรณาการ อีอีซี ร่วมกับหน่วยงาน 17 กระทรวง 42 หน่วยงาน ที่ได้จัดทำโครงการ เพื่อ “ขับเคลื่อน การพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ทุกมิติ ผ่านการมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG” จำนวน 100 โครงการ โดยมุ่งเน้นใน 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่
-
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล มุ่งเน้นการสานต่อโครงการ EEC Project List อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบคมนาคมและระบบขนส่งสาธารณะ แบบไร้รอยต่อให้ทันสมัย เชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคในพื้นที่ EECd เพื่อดึงดูดและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
-
การพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งพัฒนาทักษะบุคลากร ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สู่การปฏิบัติงานจริง มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่ “มีงานทำ มีรายได้ดี” ควบคู่กับการพัฒนาสถาบันการศึกษาสู่ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน (EEC Networking Center) พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์
-
ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทันสมัย และมีมาตรฐาน เสริมสร้างสุขภาพประชาชนภายใต้บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุม เข้าถึงได้ และมีประสิทธิภาพในการรักษา ลดการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาในพื้นที่อื่น พร้อมทั้งสร้างต้นแบบการขยายบริการสาธารณสุข ด้วยรูปแบบการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน ควบคู่การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ อีอีซี ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมทั้งจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่การอยู่อาศัย
-
การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดการพัฒนาทัดเทียมนานาชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาศูนย์ธุรกิจ อีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาค มาตรฐานเทียบเท่าสากล รองรับและสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต่อยอดการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ สู่อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง ผลักดันการจัดงานที่มีชื่อเสียงระดับโลก พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness) รองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี
-
การส่งเสริมการลงทุนด้านเศรษฐกิจ BCG ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ และสร้างการรับรู้สู่ประชาชน ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจระดับสากล นำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงร่วมกันและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณที่คุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่ อีอีซี และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี เกิดอัตราการขยายตัวของ GDP ในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ส่งผลสัมฤทธิ์ให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40,000 คน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เมื่อจบการประชุม รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ อีอีซี นำบทเรียนและความสำเร็จมาถ่ายทอดให้กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเชิงพื้นที่และเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป และในทั้ง 5 แนวทางที่กล่าวมา ล้วนเป็นการดำเนินการต่อยอดจากต้นทุนที่ทาง EEC ได้วางไว้แล้วแทบทั้งสิ้น
ยกตัวอย่าง ในแนวทางที่เกี่ยวกับ “การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดการพัฒนาทัดเทียมนานาชาติ” ล่าสุด อีอีซี เดินหน้าแผนปฏิบัติการการเกษตร ร่วมกับภาคีเครือข่าย วิสาหกิจชุมชน นำร่องทำผลผลิตทุเรียนพรีเมียมคุณภาพสูง รับฤดูกาล 2566 พร้อมเตรียมระบบห้องเย็น รักษาคุณภาพ ยกระดับราคา สร้างรายได้เกษตรกรยั่งยืน
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ อีอีซี ได้ร่วมจัดประชุมหารือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ อบจ. จังหวัดระยอง เกษตรจังหวัดระยอง พาณิชย์จังหวัดระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ผลจังหวัดระยอง
ทั้งนี้ การประชุมฯ อีอีซี ได้ร่วมหารือเพื่อขับเคลื่อนใน 4 ประเด็นหลักที่สำคัญๆ ได้แก่
-
ความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) หรือ EFC
-
การส่งเสริมเกษตรกร ในด้านการพัฒนา Digital trading platform และตลาดกลางประมูลผลไม้
-
การถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีทางการเกษตร
-
การทำตลาดทุเรียน โดยนำนวัตกรรมถุงแดง และทุเรียน หมอนทอง จังหวัดระยอง
และการดำเนินงานในระยะต่อไป อีอีซี จะได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายดังกล่าว เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงระดับพรีเมียม โดยจะนำร่องการทุเรียนคุณภาพด้วยนวัตกรรมถุงแดง ประมาณ 20,000 ลูก จำหน่ายในช่วงฤดูกาลผลผลิต 2566 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ตลาดทุเรียนคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างราคาทุเรียน และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ด้านการติดตามความก้าวหน้า โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC อีอีซี ได้ร่วมกับ ปตท. ซึ่งได้ดำเนินการจัดเตรียมคลังห้องเย็น สำหรับจัดเก็บผลไม้แช่แข็ง ที่จะรองรับผลผลิตได้ประมาณ 7,000 ตัน ให้บริการแก่เกษตรกร และผู้ประกอบการผลไม้ต่างๆ ให้มีทางเลือกในการเก็บรักษาและคงคุณภาพของผลไม้ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ (Blast Freezer & Cold Storage) ซึ่งเป็นผลไม้ที่ผ่านการคัดคุณภาพตามมาตรฐาน สด สะอาด และปลอดภัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างทางเลือกให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อรอจำหน่ายในช่วงนอกฤดูกาล
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเทศกาล ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าในฤดูกาล รวมถึงเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีความต้องการด้วยระบบการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งจะเป็นการยกระดับ “ราคาผลไม้” ให้มีเสถียรภาพขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนั้น อีกหนึ่งการขับเคลื่อน ที่สามารถนำไปเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายพื้นที่ในประเทศ ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ การดำเนินงานเพื่อตอบสนองแนวทางสำคัญในด้าน “การพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากความสำเร็จในการสร้างโมเดลการศึกษารูปแบบใหม่ขึ้นในอีอีซี นั่นคือ EEC Model Type A และ EEC Model Type B แล้ว ล่าสุด คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ยังเป็นหน่วยงานสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิด ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC NETs ที่มีทั้งหมด 10 ศูนย์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง Demand Driven Education ร่วมกับ 10 สถาบันการศึกษาในระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตอบโจทย์ด้านการพัฒนากำลังคนตอบสนองความต้องการของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC
โดยศูนย์ฯต่างๆ นี้มีหลักการ คือ
-
มีความร่วมมือชัดเจนระหว่างสถาบันการศึกษา และการฝึกอบรมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชานั้นๆ
-
มีการลงทุนจากภาครัฐส่วนหนึ่ง สมทบจากภาคอุตสาหกรรมอีกส่วนหนึ่ง และจะต้องให้เกิดผลลัพธ์ด้านการพัฒนาทักษะความรู้ให้แก่บุคลากรได้อย่างชัดเจน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งต้องให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายการพัฒนาความรู้ทักษะจากศูนย์ฯต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น
-
เป็นศูนย์ที่ใช้งบลงทุนภาครัฐเพียงแค่ 1-2 ปี หลังจากนั้นต้องบริหารจัดการด้วยตัวเองตามแนวทางของแต่ละศูนย์ฯ และสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมต่อไป
-
แต่ละศูนย์ฯ ต้องมีทิศทางชัดเจนในการยกระดับการพัฒนาที่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม
และในวันนี้ ศูนย์ EEC NETs ทั้ง 10 ศูนย์ ก็ได้เดินหน้ามุ่งพัฒนาสร้างความก้าวหน้าเท่าทันโลกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อลดความสูญเปล่าจากการใช้งบภาครัฐ ขณะเดียวกันกทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการต่างๆในรูปแบบของเครือข่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมลงทุนในการสร้างบุคลากรยุคใหม่ ช่วยต่อยอดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาอีกด้วย
ต้นแบบการพัฒนาในพื้นที่อีอีซียังมีอีกหลายด้าน
ต่อยอด เมกะโปรเจกต์ EEC “เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” สู่ ศรีราชา..เมืองน่าอยู่ Wellness City ปี 66
EEC SILICON TECH PARK ต้นแบบเมืองดิจิทัล
EEC กับประโยชน์-ความก้าวหน้าสู่ผู้คน ท้องถิ่น และบ้านเมือง
Post Views: 1