วันที่แก้มก้าวขาเข้าสู่ประตูสถานพินิจฯ คือวันที่เธอทบทวนกับตัวเองว่าชีวิตอาจจะหยุดอยู่แค่ตรงนี้ ไม่มีอนาคตให้เดินไปถึง ในขณะที่ห้วงคำนึงก็นึกภาพเพื่อนๆ ในชั้นเรียนเดียวกันเดินนำหน้าไปก่อนแล้ว
เช่นเดียวกันกับกอล์ฟที่รู้ตัวว่าตัวเองหลงทิศหลงทางจนทำให้เดินทางผิด ต้องมาลงเอยที่การควบคุมตัวจนแทบมองไม่เห็นอนาคต
พวกเขาเป็นเยาวชนที่ถูกดำเนินคดียาเสพติดก่อนจะจบการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐาน การทำผิดจนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมย่อมทำให้พวกเขารู้สึกล้มเหลวอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ตอกย้ำว่าพวกเขาจะกลายเป็นอื่นในสังคมคือวุฒิการศึกษาที่อาจทำให้เขาถูกตราหน้าว่า ‘ติดคุกจนเรียนหนังสือไม่จบ’ และมีโอกาสกลับมาทำผิดวนซ้ำ เนื่องจากไม่สามารถกลับไปเรียนต่อได้ และเมื่อไม่มีวุฒิการศึกษาภาคบังคับก็ยากต่อการทำงานเลี้ยงชีพ
แม้ว่าในความเป็นจริงสถานพินิจฯ จะร่วมกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้เด็กได้เรียนหนังสือเพื่ออนาคต แต่ด้วยระบบที่ยังไม่ตอบโจทย์ต่อวิถีชีวิตของเด็กมากนัก จึงทำให้เยาวชนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่เรียน และแม้บางคนเลือกเรียนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถเรียนจบได้ตามหวัง
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เมื่อเด็กกระทำผิดจนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เราจะโอบอุ้มและให้โอกาสพวกเขาอย่างไรไม่ให้พวกเขาหันมาทำผิดซ้ำ วิถีการเรียนแบบไหนที่จะตอบโจทย์ชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ และทิศทางแบบใดที่จะทำให้อนาคตของเด็กในสถานพินิจฯ มีทางเดินที่เป็นฟ้าวันใหม่ของพวกเขาได้
หนึ่งในโมเดลที่กำลังขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับเด็กในสถานพินิจฯ คือ ‘นครพนมโมเดล’ จากศูนย์การเรียนซีวายเอฟ CYF Thailand – มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มีเป้าหมาย ‘เซ็ตซีโร่’ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในจังหวัดนครพนม โดยทำงานกับเด็กสามกลุ่ม คือ หนึ่ง-เด็กต้นน้ำ เด็กที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา สอง-เด็กกลางน้ำหรือเด็กแขวนลอย เด็กที่มีชื่อในระบบการศึกษาแต่ไม่ได้เข้าเรียนแล้ว และสาม-เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาแล้ว เช่น เด็กในสถานพินิจฯ
นครพนมโมเดลนี้เองที่ทำให้เด็กจากสถานพินิจฯ ในจังหวัดหลายคนสามารถเรียนจบและไม่ได้กลับเข้ามาสู่วังวนการกระทำผิดซ้ำอีก จึงมีการขยายโมเดลนี้ไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้พวกเขา
เช่นเดียวกันกับแก้มและกอล์ฟที่มองหาเส้นทางอนาคตของชีวิตอีกครั้ง จากการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเพื่อต่อยอดฟ้าวันใหม่ของตัวเอง
อุบัติเหตุชีวิตที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการกระทำผิด พวกเขาจึงควรได้โอกาสอีกครั้ง
แก้ม (นามสมมติ) เป็นคนจังหวัดนครพนม พ่อแม่เธอแยกทางกันตั้งแต่เด็ก ทำให้แก้มต้องอาศัยอยู่กับอาและย่า จนกระทั่งเข้าเรียนมัธยมต้น เธอจึงย้ายไปอยู่บ้านยายในอำเภอใกล้ๆ กัน โดยที่ยังเรียนอยู่โรงเรียนที่ตั้งในอำเภอบ้านอาและย่า
“ระยะทางห่างกันประมาณ 10 โลฯ ค่ะ หนูก็นั่งรถไป-กลับ บางครั้งก็ไม่ไปโรงเรียน เพราะติดเพื่อน พอติดมากๆ เข้าก็แทบจะไม่ไปโรงเรียนเลย เพราะไปเที่ยวตอนกลางคืนดึกๆ ตื่นเช้าไม่ทันก็ไปโรงเรียนไม่ได้” แก้มเล่า
“ยายไม่ได้เข้มงวดมาก เขาก็แค่ถามว่าจะไปโรงเรียนไหม ถ้าไม่ไปก็ไม่ต้องบอกให้รถมารับ หนูก็บอกว่า ไม่ไปแล้ว” ผ่านไปสองอาทิตย์ เธอกลับไปโรงเรียนอีกครั้ง ครูประจำชั้นเรียกคุยเพื่อถามถึงปัญหาที่ทำให้แก้มมาเรียนไม่ได้ และขอว่าจ้างให้เธอเข้าเรียนให้จบ แต่เธอปฏิเสธ จึงลาออกเพื่อเข้าเรียน กศน. แทน “ตอนนั้นหนูติดเพื่อนมากๆ เรียน กศน. ก็เลือกได้มากกว่าเรียนในโรงเรียนด้วย”
ชีวิตของแก้มพลิกผัน เมื่อเพื่อนแนะนำให้เธอรู้จักผู้ชายคนหนึ่ง พวกเขาคุยกันตามประสาฮอร์โมนหนุ่มสาวที่ต้องการความรัก โดยที่เธอไม่รู้ว่า คนรักเป็น ‘เด็กส่งยา’ จนกระทั่งพวกเขาถูกจับกุมจนต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ
“ตอนโดนคดี หนูคิดว่าหนูหมดอนาคตแล้ว ไปไกลเหมือนเพื่อนไม่ได้ เรามีแค่นี้ ออกไปคงไม่มีใครคบ เขาคงบอกว่าเราเป็นเด็กติดยา หนูกลัวนะ กลัวว่าชีวิตหนูพังไปกับสิ่งนี้แล้ว”
ในขณะที่กอล์ฟ (นามสมมติ) ก็ถูกดำเนินคดียาเสพติดเช่นเดียวกันกับแก้ม เขาเป็นคนจังหวัดนครพนม แม้เขาไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นคนตั้งใจเรียน แต่ก็สอบผ่านมาตลอด เนื่องจากมีคนรักที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เขาตั้งใจใช้ชีวิตให้ดี มีอนาคตที่เห็นภาพชัด แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้น เมื่อคนรักของเขากลายเป็นเพียงอดีตคนรักในช่วง ม.5
“ผมรู้สึกว่าตัวเองไปไม่ถูก หลงทาง เขาอยู่ด้วยกันเสมอ แม้ว่าผมเป็นคนเกเร แต่เพราะมีเขา ทำให้ผมเอาเรื่องเรียนอยู่ แต่พอเราเลิกกัน ทำให้ผมไม่รู้จะทำอย่างไร เลยเหลวแหลก ออกจากโรงเรียนไปเลย” เขาบอกว่าตัวเองเสียหลัก ไม่มีที่ปรึกษา เจึงต้องหาที่พึ่งอื่นๆ อย่างเช่น การลองใช้ยาเสพติด
“ตอนนั้นผมเกเรมากๆ จนกระทั่งโดนจับครั้งแรกที่อุดรฯ ได้ประกันตัวมาก่อน แล้วผมทำผิดซ้ำอีกครั้งที่สองอยู่ที่นครพนม เขาไม่ให้ประกันตัวแล้ว ผมเลยต้องเข้าไปในสถานพินิจฯ” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงผิดหวังกับตัวเองในอดีต
วิทิต เติมผลบุญ เลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซีวายเอฟ ผู้เป็นแรงหลักในการขับเคลื่อนโครงการศึกษาสำหรับเด็กที่หลุดออกจากระบบเล่าว่า ตั้งแต่เข้ามาทำโปรเจกต์นี้ เขาค้นพบว่าเด็กที่อยู่ในสถานพินิจฯ มีโอกาสที่จะกลับไปกระทำผิดซ้ำเยอะมากจนกลายเป็นเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในที่สุด
“ปีแรกที่เรามาทำโครงการนครพนมโมเดลที่สถานพินิจฯ นครพนม มีเด็ก 184 คนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา แต่สำรวจไปสำรวจมา เราพบสถิติว่า 99% เด็กในสถานพินิจฯ ออกจากการศึกษากลางคันทั้งหมด เพราะมีเด็กบางส่วนที่มีชื่อในระบบโรงเรียนอยู่ แต่ตัวเองยังอยู่ในสถานพินิจฯ”
“การพูดถึงปัญหาการกระทำผิด เราต้องดูปัจจัยหลายอย่างด้วย ไม่ใช่ว่าเด็กจะกระทำผิดได้เลย มีสาเหตุทั้งนั้น ปัจจัยแรก เด็กมีอุบัติเหตุชีวิต จากการเก็บข้อมูลเด็กทั้งหมด เราพบว่าเด็กเจอปัญหาอยู่ 20 กว่าอย่าง แต่ปัญหาหลักคือครอบครัวแหว่งกลาง เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับตายาย”
“สอง คือความยากจน สาม เด็กติดเพื่อน และเพื่อนจะพาไปติดอย่างอื่นอีก บางคนพาไปติดเกม บางคนไปติดแก๊งมอเตอร์ไซค์ ถ้าติดยาก็ดูไปอีกชั้นหนึ่งอีกว่าจะพาไปเดินยาด้วยไหม และยังมีเรื่องคุณแม่วัยใสด้วย”
แน่นอนว่า ความเสี่ยงเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กมาสู่สถานพินิจฯ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนที่มีปัญหาชีวิตจะต้องลงเอยด้วยการกระทำผิด วิทิตย้ำว่า ถ้าสังคมในหมู่บ้านเข้มแข็ง ต่อให้พ่อแม่แยกทางไป ญาติคนอื่นๆ ที่ดูแลอย่างดีก็ช่วยเป็นเกราะป้องกันได้ แต่หากชุมชนไม่เข้มแข็ง ไม่ค่อยดูแลเด็ก เยาวชนก็จะเดินเข้าสู่สถานพินิจฯ ได้ค่อนข้างสูงมาก
ด้วยอุบัติเหตุชีวิตและปัญหาการกระทำผิด ทำให้วิทิตพบว่ายังมีเด็กอีก 20% ที่มีความเสี่ยงจะวนกลับเข้ามาสถานพินิจฯ อีก ในขณะที่สำรวจ ซีวายเอฟยังพบว่าเด็กบางคนเคยวนซ้ำมาแล้ว 2-3 รอบ และมีคนที่วนกระทำผิดซ้ำมากที่สุด 4 รอบด้วย
“คำถามคือปัญหาอยู่ตรงไหน ทำไมเด็กกลุ่มนี้ต้องมาอยู่ในสถานพินิจฯ แล้ววนกลับไปกลับมาซ้ำๆ”
การศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์คนกระทำผิดอาจเป็นกรงขังชีวิตเด็ก
สำหรับวิทิตแล้ว การกระทำผิดและสถานพินิจฯ ไม่ได้ปิดโอกาสชีวิตของเด็ก ทุกคนมีสิทธิเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ แต่สังคมยังแก้ปัญหากันไม่ถูกจุดจึงทำให้เด็กคนหนึ่งไม่สามารถกลับไปสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเดิม
“ผมมีคำพูดว่าสถานพินิจฯ ไม่ได้ขังคน แต่คนโดนขังเพราะเขาไม่จบ ม.3” วิทิตอธิบายถึงหลักกฎหมายในสังคมว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนคนไทยต้องเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ นั่นคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้ระเบียบกระทรวงแรงงานมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการจะต้องรับแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาชั้น ม.3 ด้วย “นั่นก็ทำให้เรารู้เลยว่าต้องทำให้เด็กออกจากสถานพินิจฯ พร้อมวุฒิ ม.3 ให้ได้ เพราะถ้าเขาออกไปแล้วไม่มีวุฒิ สุดท้ายเขาจะวนกลับมา”
แต่ก่อนที่โครงการนครพนมโมเดลจะเข้ามาทำงานด้านการศึกษากับเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำ โดยปกติสถานพินิจฯ มีระบบให้เด็กได้ศึกษาต่ออยู่แล้ว ผ่านการศึกษานอกระบบอย่าง กศน. โดยจะมีการสอบถามชั้นเรียนปัจจุบันของเด็ก และช่วยวางแผนการเรียนตามระเบียบราชการของสถานพินิจฯ และ กศน. ด้วย แต่ไม่ได้เป็นระบบบังคับที่เด็กจะต้องเรียนทุกคน สามารถเลือกได้ตามความสมัครใจ
“ตอนหนูเข้าไปสถานพินิจฯ นครพนม เขาก็ถามว่าเรียนอยู่ชั้นไหน จะเรียนต่อไหม” แก้มเล่าจากประสบการณ์ “หนูอยากเรียนก็ตอบตกลงไปว่าจะเรียนต่อ หนูเรียน ม.2 มาแล้ว แต่เขาบอกว่าถ้าอย่างนั้นต้องรอให้ศาลตัดสินก่อนถึงจะได้เรียน เพราะศาลตัดสินแล้ว หนูต้องย้ายไปอยู่สถานพินิจฯ ที่อุบลฯ แล้วถึงจะเรียนได้ ซึ่งรอประมาณ 5 เดือน และต้องเรียน ม.2 ใหม่”
กอล์ฟเจอประสบการณ์เดียวกันคือต้องเรียนชั้นเดิมซ้ำ ทำให้ใช้เวลาเรียนนานกว่าปกติ เขาจึงตัดสินใจที่จะไม่เรียน เพราะคิดว่าน่าจะใช้เวลานานกว่าที่เขาจะอยู่ในสถานพินิจฯ “ของผมเรียน ม.5 จนถึงเทอมสองมาแล้วด้วยก็กลัวว่าจะใช้เวลานานไป ผมเลยไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน”
วิทิตอธิบายว่า โดยระบบของสถานพินิจฯ จะโอนชื่อเยาวชนไปที่ กศน. เพื่อให้เด็กเริ่มต้นการศึกษาชั้นใหม่ บางคนเรียน ม.3 เทอม 2 มาแล้วแต่ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ 2 ปี หรือบางคนเรียน กศน. ที่สถานพินิจฯ ในจังหวัดหนึ่งแล้วยังต้องกลับไปซ้ำชั้นเดิมเมื่อย้ายสถานพินิจฯ ด้วย
“เราพยายามอธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่าอันนี้ไม่ถูกต้อง เพราะต่อให้ไม่ใช่ลูกของคนที่อยู่ในสถานพินิจฯ ก็คงรู้สึกแปลกๆ ถ้าลูกคุณเรียนอยู่ ม.3 แล้วย้ายไปเรียนที่อื่น โรงเรียนบอกว่าต้องเริ่ม ม.1 ใหม่นะ อย่างนี้จะยุติธรรมหรือเปล่า”
ปัญหาส่วนนี้อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เยาวชนในสถานพินิจฯ มีโอกาสรับวุฒิการศึกษาได้ยาก โครงการนครพนมโมเดลจึงวางรูปแบบใหม่โดยอาศัยกฎหมายจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ตามมาตรา 15 ที่ระบุว่า การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงาน
และยังประกอบกับมาตรา 12 ที่ระบุให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ทำให้ซีวายเอฟจัดเป็นศูนย์การเรียนที่อยู่ภายใต้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่นสามารถจัดการเรียนการสอนและออกใบรับรองทางการศึกษาหรือวุฒิการศึกษาภาคบังคับและภาคพื้นฐานให้กับเยาวชนได้
“เราเอาตรงนี้มาวางแผนให้ตอบโจทย์กับเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กที่มีภาระในครอบครัว โรงเรียนต้องปรับรูปแบบ เช่น เด็กที่บ้านต้องทำนา ก็ประเมินเขาอย่างชาวนาก็ได้ หรือว่าเขาอาจจะต้องไปรับจ้างแรงงาน ไปอยู่ร้านรับซ่อมมอเตอร์ไซค์ ก็ประเมินเขาในสายอาชีพไปเลย ทำให้เขาจบ ม.3 อย่าเพิ่งไปตัดสินเขาว่าจะมีคุณภาพไหม เพราะผมมองว่าถ้าคุณยังไม่มอบโอกาสให้เขา แล้วคุณภาพการศึกษาจะมาได้อย่างไร อันดับแรกเราจึงต้องให้เขาเข้าถึงก่อน และจัดการศึกษาที่หลากหลาย หลายรูปแบบ การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นเรื่องของตัวตนเขาเลยว่า เขาอยากเรียนแบบไหน เขาอยากจะยึดอาชีพอะไร”
ปิดประตูคุก เปิดประตูการศึกษา
ด่านแรกของนครพนมโมเดลในการจัดการศึกษาให้กับเด็ก คือทำอย่างไรให้เยาวชนเชื่อว่าตัวเองมีโอกาสที่จะเรียนจบได้จริง โดยไม่ต้องใช้เวลาเรียนนาน และการรับวุฒิการศึกษานี้จะเป็นใบเบิกทางให้พวกเขามีอนาคตและโอกาสชีวิตใหม่ในสังคมได้
“พูดตรงไปตรงมา เราต้องเอาวุฒิขึ้นมาก่อน เราหลอกความจริงข้อนี้ไม่ได้ว่าการเอาวุฒิขึ้นมาก่อนทำให้เด็กสนใจ เราจึงวางแผนไว้ว่าต้องมีพิธีมอบวุฒิ ทำให้เขาเห็นภาพว่าจบจริงนะ ไปทำงานต่อได้นะ” วิทิตอธิบาย
“เริ่มแรกที่นครพนม มีเด็กที่เรียนจบ 8 คน เราชวนศึกษาธิการจังหวัดมามอบวุฒิให้เลย ให้เด็กมีกำลังใจ และเราอยากเปลี่ยนมุมมองให้สถานพินิจฯ เป็นเหมือนโรงเรียนประจำ ไม่ใช่คุกที่ให้เด็กมาอยู่ เมื่อเด็กและเจ้าหน้าที่มีมุมมองแบบนี้จะทำให้พวกเขาอยากมาเรียนและจัดการศึกษาได้ มองว่าสิ่งที่เขากระทำผิด แก้ไขได้ แล้วเหมือนเขาย้ายที่เรียนมาเรียนในนี้”
ส่วนการวางหลักสูตรการเรียนการสอน ศูนย์การเรียนซีวายเอฟยึดหลักความยืดหยุ่นและการสอนที่ตอบโจทย์ต่อเด็ก โดยจะต้องมีระบบและการสอนที่เอื้อต่อสิทธิในการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กเป็นสำคัญ
“ความสำคัญของการออกแบบหลักสูตรอย่างแรกต้องรักษาสิทธิให้เขา เขามีสิทธิที่จะเรียน เราบอกให้เด็กท่องสิทธิเด็กเลย คือการอยู่รอด ความคุ้มครอง การพัฒนา และการมีส่วนร่วม ถ้าเขาอยากเรียนต้องได้เรียนในสิ่งที่เขาต้องการ”
“ดังนั้น เรื่องสิทธิการเรียนของเขา เราต้องถามว่า เขาเรียนจบอะไรมา ออกจากการเรียนมาตอนชั้นไหนเพื่อที่เราจะได้เทียบโอนการเรียนของเขาได้ เช่น ถ้าเขาเรียน ม.2 เทอม 1 มาแล้ว เราก็ให้เขาเรียนเทอม 2 ได้เลย”
หลังจากนั้น วิทิตจะต้องถามความต้องการของเด็กในการนำวุฒิการศึกษาไปใช้ หากเด็กต้องการนำวุฒิไปสมัครงานจะต้องมีการจัดระบบแบบหนึ่ง แต่ถ้าหากเด็กเน้นด้านวิชาชีพเฉพาะ เช่น ช่างไฟฟ้า ยูทูบเบอร์ขายของออนไลน์ จะมีการสอนอีกแบบหนึ่ง หรือถ้าต้องการไปต่อในระบบการศึกษา เช่น กลับไปห้องเรียนเดิม หรือเรียนต่อระดับอาชีวะก็จะลงลึกด้านวิชาการมากขึ้น
“ให้เด็กเลือกได้เองดีกว่า เพราะบางทีเรารู้สึกอัดความรู้มาก แต่ถ้าเขาไม่ต้องการก็ไม่มีประโยชน์”
วิทิตยังอธิบายอีกว่าในกฎกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่านอกจากการเรียนในห้องเรียนจริงแล้ว กระทรวงฯ สนับสนุนให้เรียนจากแห่งภูมิปัญญา เรียนจากสถานที่จริง หรือปราชญ์ผู้รู้ และบุคคลในศูนย์การเรียนไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู ทำให้การออกแบบการเรียนการสอนของซีวายเอฟจะพาเด็กออกจากห้องเรียนที่คุ้นเคยไปค้นหาความรู้จากชีวิตประจำวัน
“ดังนั้น เราจะต้องสัมภาษณ์เทียบโอนกลุ่มประสบการณ์ เช่น เราดูว่าทุกวันในสถานพินิจฯ เขาเรียนอะไรบ้าง เขาจะมีการฝึกวิชาชีพอยู่แล้ว ผู้หญิงเรียนเย็บปักถักร้อย เรียนทำขนม ผู้ชายเรียนงานช่าง งานไฟฟ้า อันนี้เราไม่ต้องสอน เทียบโอนเข้าตัวชี้วัดของแต่ละกลุ่มสาระวิชาได้เลย”
“ทีนี้เราดูชีวิตประจำวันด้วย เช่น เด็กตื่นเช้ามาตี 5 ต้องทำความสะอาดแปรงฟัน ล้างหน้า อันนี้ก็ให้ถือว่าเป็นวิชาสุขศึกษาไป เราเรียกว่าเรียนจากชีวิตจริงของเขา ส่วนอะไรที่เทียบโอนไม่ได้เราก็สอน เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เริ่มแรกเราให้ครูของเราเข้าไปสอนในสถานพินิจฯ ตอนหลังมีโควิด เราสอนออนไลน์แทน ซึ่งเด็กก็ทำได้ ต่อจากนั้นสถานพินิจฯ ก็ปรับให้เป็นเรียนออนไลน์”
“นอกจากนี้ก็มีถามเด็กบางคนที่กลับไปอยู่บ้านด้วย เขาทำอะไรมาบ้าง เช่น บางคนเลี้ยงแต่ลูก บางคนทำงานปลูกข้าว เราก็เอาตรงนี้มาเป็นวิชาชีพได้เลย เด็กบางคนก็ถามนะว่า อันนี้เป็นวิชาเรียนได้เหรอ ผมบอกว่า ผมปลูกข้าวไม่เป็นนะ แต่คุณปลูกข้าวเป็น ดังนั้น ในความรู้นี้คุณต้องถ่ายทอดให้ผม ดังนั้น ความรู้พวกนี้ก็เอามาเทียบโอนเป็นประสบการณ์ได้ เด็กบางคนเลี้ยงไก่ชน ยังสามารถบอกได้ว่าควรเลี้ยงอย่างไรให้เอาไปตีได้ บางคนพ่อทำฟาร์มสุนัขก็เพาะพันธุ์สัตว์ได้”
วิทิตกล่าวว่า แม้จะนำวุฒิการศึกษามาเป็นแรงจูงใจให้เด็กหันมาเรียน แต่ภาพใหญ่ที่เขาอยากปลูกฝังไว้คือ ทุกเวลาทุกลมหายใจของเด็กคือการเรียนรู้ ทำอย่างไรให้เด็กเห็นว่าเมื่อลืมตาตื่นก็มีความรู้อยู่รอบตัวแล้ว ชีวิตคือการเรียน และความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน
“หลังจากเราทำนครพนมโมเดลแบบนี้ เราประสบความสำเร็จมาก มีพิธีรับวุฒิการศึกษา เด็กก็มีกำลังใจมากขึ้น สถานพินิจฯ ก็ติดต่อมาว่าอยากให้ผมทำหลายๆ จังหวัด เราก็เริ่มวางแผนกับศูนย์การเรียนรู้อื่นๆ แล้วก็ทำ ทีนี้ผมได้ไปสัมภาษณ์เด็กในสถานพินิจฯ ที่เรียนในระบบนี้ แล้วออกไปใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องกลับมาวนทำผิดซ้ำ มีหลายเคสที่ผมประทับใจ ทำให้นึกถึงประโยคหนึ่งของป้ามล (ทิชา ณ นคร) ที่ผมเอามาเป็นแรงบันดาลใจ ป้ามลบอกว่า ‘ประตูโรงเรียนปิด ประตูคุกเปิด’ ผมเลยกลับคำเป็น ‘ปิดประตูคุก เปิดประตูโรงเรียน’ เพื่อเปลี่ยนความคิดเด็กกับเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ ว่าเมื่อมีวุฒิการศึกษาแล้วเด็กไปต่อได้จริงๆ นะ”
แก้มและกอล์ฟเป็นสองเคสตัวอย่างที่ได้มีโอกาสเรียนกับศูนย์การเรียนซีวายเอฟ และสามารถนำวุฒิไปเปิดโอกาสให้ชีวิตใหม่ได้ แม้ว่าพวกเขาจะมีโอกาสเรียนเมื่อตอนพ้นโทษจากสถานพินิจฯ แล้วก็ตาม
“ซีวายเอฟเริ่มมาทำโครงการตอนหนูออกมาจากสถานพินิจฯ แล้วเลยทำให้ได้เรียนตอนหลังค่ะ ตอนแรกหนูลงเรียนกับกศน. ในสถานพินิจฯ แล้วไม่จบสักที จนออกมาจากสถานพินิจฯ ที่อุบลฯ กลับมาอยู่บ้านที่นครพนมแล้วก็ยังเรียนไม่จบ เจ้าหน้าที่เขาก็มาแนะนำว่าลองติดต่อไปที่ซีวายเอฟสิ เขาจะช่วยได้ หนูเลยติดต่อไป พี่ๆ เขาก็มาหาที่บ้าน ถามว่าเรียนชั้นไหนมา ทำอะไรมาบ้าง ตอนอยู่สถานพินิจฯ ทำอะไร อยู่บ้านทำอะไร”
แก้มเล่าว่าเธอต้องเรียนไปด้วยและช่วยที่บ้านทำงานไปด้วย เจ้าหน้าที่ที่ซีวายเอฟจึงให้เธอเอาสิ่งที่ได้ทำในชีวิตประจำวันมาเขียนและโพสต์ลงเฟซบุ๊ก “เช่น วันนี้หนูทำผัดผักบุ้ง เขาก็ให้เล่าว่าวิธีทำทำอย่างไร และได้ประโยชน์จากการทำอย่างไรบ้าง”
นอกจากนี้เธอจะได้ทำแบบฝึกหัดตามที่เจ้าหน้าที่ส่งมาให้ผ่านทางออนไลน์ โดยแก้มบอกว่า เป็นการเรียนที่ง่าย เพราะเรียนผ่านมือถือ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีระเบียบวินัย ส่งงานเป็นประจำ และทำแบบฝึกหัดตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด
“เขาส่งเอกสารการเรียนมาให้ทำครบ 9 วิชา เราก็ทำงานส่งประจำ ซึ่งหนูคิดว่ามันตอบโจทย์เรานะ ทำให้เรามีกำลังใจในการเรียนมากขึ้น เพราะทำแป๊บเดียวก็เรียนจบแล้ว เวลาไม่เข้าใจตรงไหนก็สามารถถามพี่ๆ ได้”
“แล้วพอหนูเรียนประมาณ 3 เดือนก็ได้วุฒิ ม.3 ก็เลยขอเรียนต่อ ม.ปลายเลย เพราะหนูกลัวเรียนจบไม่ทันเพื่อนรุ่นเดียวกัน”
ระหว่างเรียนชั้นม.ปลาย แก้มย้ายไปอยู่กับแม่ที่กรุงเทพฯ และได้ทำงานหารายได้ไปด้วย เธอจึงต้องใช้เวลาเรียนประมาณ 11 เดือนถึงได้รับวุฒิการศึกษาม.6 ระหว่างรอใบจบนี้ เธอได้นำวุฒิ ม.3 ที่ได้จากซีวายเอฟไปสมัครเรียนปริญญาตรีล่วงหน้า (pre-degree) กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะเธอต้องการวุฒิการศึกษาสำหรับการตามความฝันในการทำอาชีพอื่นๆ ได้
“หนูอยากเป็นครูและผู้ช่วยพยาบาล มองไว้สองอย่าง ก็เลยลงเรียนสาขาจิตวิทยา เพราะว่ามีเพื่อนหลายคนชอบมาปรึกษากับหนู และหนูก็มีหลายเรื่องที่ชอบเก็บเอาคำพูดคนอื่นมาคิดเล็กคิดน้อย เลยเรียนสาขานี้เพื่อตัวเองด้วย ซึ่งถ้าเรียนจบก็ไปเป็นครูแนะแนวได้ จริงๆ พี่ๆ ในคณะก็บอกว่าเรียนต่ออีกเพื่อไปเป็นผู้ช่วยพยาบาลก็ได้”
“ตอนนี้หนูทำงานเป็นแม่บ้านไปด้วย แล้วก็เรียนไปด้วย ยังพอแบ่งเวลาได้ แต่หนูอยากลองไปทำอาชีพอื่นๆ ที่เจอคนเยอะๆ เหมือนกัน เพราะจะได้เรียนรู้สังคมด้วย คิดว่าถ้าได้ใบจบ ม.6 มาแล้วก็คงจะไปสมัครทำงานในห้างฯ ดู”
คืนโอกาสและความฝันให้เด็กในสถานพินิจฯ
การมอบวุฒิการศึกษาเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบไม่ใช่สิ่งเดียวที่ศูนย์การเรียนซีวายเอฟทำ วิทิตมองว่าสิ่งที่ต้องลงมือไปควบคู่กันคือการคืนฝันและความเป็นไปได้ในชีวิตกับเด็ก เพื่อให้พวกเขาได้กลับมาฝันถึงเส้นทางในอนาคตอีกครั้ง
“เวลาเราสัมภาษณ์เด็ก เราไม่ได้ถอดประสบการณ์เขาอย่างเดียว เราจะฝังวิธีคิดใหม่ให้เขาด้วยว่า กฎหมายการศึกษาภาคบังคับสำคัญอย่างไร เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าคุณออกไปไม่มีวุฒิ คุณคือพลเมืองชั้นสอง ถามว่าคุณทำงานได้ไหม ทำได้ แต่คุณจะเป็นแรงงานผิดกฎหมายที่ไม่ได้สวัสดิการจากรัฐเลย เช่น ประกันสังคม เบี้ยเลี้ยงต่างๆ ไม่ได้ถูกบรรจุเป็นพนักงานบริษัท เขาต้องเก็บคุณไว้แอบๆ และเมื่อเด็กรู้แล้ว ผมว่าเด็กพร้อมจะกลับเข้ามาเรียน ไม่ต้องบังคับเขาเรียน ทำให้เขารู้ว่าการเรียนมีคุณค่าอย่างไร”
“อีกเรื่องที่สำคัญคือ เขาต้องเห็นคุณค่าในตัวเองด้วย ไม่ใช่แค่วุฒิการศึกษาอย่างเดียว ผมเลยทำโครงการ spy camp ฉันเห็นคุณค่าในตัวเธอ เอานักจิตวิทยามาคุยกับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งเด็กในสถานพินิจฯ กลุ่มหนึ่ง เด็กในตำบลต้นแบบที่หลุดออกจากระบบ เราอยากฟังเสียงความต้องการของเขา ฉะนั้นในค่ายนี้มีโจทย์คือว่าทำอย่างไรให้เด็กเปล่งเสียงความต้องการของเขาออกมา”
“ผมบอกเด็กเลยว่า ถ้าคุณกลับมาเข้าโครงการนี้ หนึ่ง-คุณต้องกลับมาฝัน เรารู้ว่าคุณถูกขโมยฝันไปนานมากแล้ว แต่ตอนนี้คุณต้องกลับมาฝันก่อน สอง-คุณต้องรู้ว่าความฝันเป็นของคุณ ไม่ใช่ของเรา หน้าที่ผมคือทำฝันคุณให้เป็นจริง แต่คุณต้องฝันก่อน”
ความกล้าฝันนี้สะท้อนออกมาจากกอล์ฟ เขาตั้งใจที่จะสอบรับราชการทหาร หลังจากพ้นโทษออกจากสถานพินิจฯ แต่ขณะนั้นเขายังเรียนไม่จบชั้น ม.6 ทำให้ไม่มีวุฒิการศึกษาไปยื่นสมัครสอบได้
“ตอนแรกผมคิดว่าถ้าไม่มีก็คงหาทางไปเป็นแรงงานอยู่เมืองนอก แต่พอดีว่ามีเจ้าหน้าที่ในสถานพินิจฯ แนะนำมาว่ามาเรียนกับซีวายเอฟได้ ผมก็ติดต่อเขามา”
“เริ่มแรกเขาจะถามว่าผมเรียนอะไรมา และตอนนี้ทำอะไรบ้าง แล้วเขาจะบอกว่าเรียนผ่านมือถือนะ เรียนสบายก็จริง แต่เราก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย ผมก็โอเคครับ”
“ในการเรียน ครูจะให้โพสต์ทางเฟซบุ๊กว่าวันนี้เราทำอะไรบ้าง ได้ประโยชน์อะไรบ้าง เอาไปใช้อะไรในอนาคตข้างหน้าได้บ้าง เช่น ผมทำงานกับพ่อ ผมจะโพสต์เรื่องกระจกอะลูมิเนียม หนากี่มิลฯ ใช้กับขอบประตูหน้าต่างอย่างไรบ้าง ถ้าเพื่อนอยากรู้ก็เข้ามาถามได้ หรืออย่างของเพื่อนทำขนมครก บอกสูตรมา วิธีการทำ แล้วก็จะมีเอกสารแบบฝึกหัดวิชาต่างๆ ให้ทำด้วย”
ระหว่างที่กอล์ฟเรียน เขาย้ายเข้าไปทำงานกรุงเทพฯ หลังจากเรียนจบ ม.6 กับซีวายเอฟอย่างหวัง เขาก็กลับมาที่บ้านอีกครั้ง และคิดว่าจะเดินตามฝันด้วยการสมัครสอบทหาร
“ผมบอกพ่อกับแม่ให้พาขับรถพาไปยังศูนย์ซีวายเอฟเพื่อขอให้ครูติวข้อสอบสำหรับการสอบแข่งขันรับราชการทหารให้ เพราะคิดว่าจะสอบได้” กอล์ฟกล่าว
สำหรับวิทิตแล้วเขาตกใจที่มีเด็กที่มาจากสถานพินิจฯ อยากสอบทหาร แต่เขาก็ยินดีที่จะเปิดติวให้เพื่อให้ฝันของกอล์ฟเป็นจริง “เขามีความมุ่งมั่นมากๆ เราก็เลยจัดการติวให้ แต่เรียนได้สองสามวันเขาต้องกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ ผมก็แอบคิดเหมือนกันว่า เขาจะสอบได้ไหมนะ ทั้งต้องเรียนและทำงานไปด้วย”
กอล์ฟกลับไปทำงานกรุงเทพฯ อีกครั้ง และพบเพื่อนที่เป็นทหารเหมือนกัน ซึ่งในช่วงนั้นกองทัพบกกำลังเปิดรับสมัครคนที่สมัครใจจะเป็นทหาร โดยไม่ต้องจับใบดำ-ใบแดง กอล์ฟกับเพื่อนจึงมุ่งหน้าไปสมัครทันที
“ผมก็สมัครไป แล้วที่นู่นเขาก็เปิดศูนย์ติวสำหรับสอบนายสิบ ใครที่สนใจก็ไปเรียนได้ เรียนฟรี ผมก็เอาสักตั้งจนสามารถสอบได้”
เมื่อสอบได้แล้ว กองทัพบกจึงส่งเอกสารขอใบรับรองการจบการศึกษาไปยังศูนย์การเรียนซีวายเอฟเพื่อยืนยันว่ากอล์ฟเรียนจบจากสถาบันนี้จริง
“ผมไม่ได้ข่าวเขานานมาก จนกองทัพบกส่งเอกสารมาถาม ผมดีใจกับเขามาก เราก็ส่งวุฒิรับรองไปว่าเขาเรียนจบ ม.6 จากเราจริงๆ แล้วหลายวันต่อมา เด็กเขาก็ทักมาในเฟซบุ๊ก ขอบคุณที่เราส่งเอกสาร ม.6 ไปให้ ทำให้เขาได้เรียนทหารอย่างที่ต้องการ” วิทิตเล่า
“กว่าจะผ่านมาได้ ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนที่ศูนย์การเรียน ผมก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรเหมือนกัน” กอล์ฟพูดขึ้น “ผมสอบทหารได้ก็เพราะมีวุฒิ ม.6 ตอนนี้ทำให้ผมคิดว่าตัวเองได้ทำตามความฝันได้แล้ว”
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world
กสศ. การศึกษาในสถานพินิจฯ ซีวายเอฟ สถานพินิจฯ เด็กกระทำผิด โอกาสในการศึกษา
เรื่อง: สุดารัตน์ พรมสีใหม่
จบการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร สนใจประเด็นศิลปะ การเมือง สังคม และคุณภาพชีวิตคน พ้นไปจากการงาน อยากนอนฟังเพลงอยู่บ้านเฉยๆ และแวบไปโบกมือทักทายให้ศิลปินในคอนฯ หลายๆ รอบ
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด
มีความฝันอยากวาดภาพประกอบให้เข้าถึงคนมากๆ หลงใหลในกาเฟอีนและเสียงเพลง บางวันก็คิดว่าวันนี้ควรฟังเพลง Flipper อีกกี่รอบถึงจะพอ