วันที่ 7 กันยายน 2566 ที่โรงเรียนวัดสันป่าค่า จ.เชียงใหม่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) แถลงข่าวการปรับรูปแบบการประเมินคุณภาพการศึกษา โดยใช้แอพพลิเคชั่น ONESQA-V เข้ามาช่วย เพื่อการเก็บข้อมูลที่แม่นยำ ไม่เป็นภาระสถานศึกษา โดยเริ่มนำร่องที่โรงเรียนวัดสันป่าค่า จ.เชียงใหม่ (อนุบาลจิ๋วแต่แจ๋ว) เตรียมขยายผลนำไปใช้ประกันคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ 2567
ดร.วรวิชช ภาสาวสุวัศ รองผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า ในปี 2567 สมศ.ยังให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพภายนอกผ่านระบบออนไลน์และสถานที่จริง โดยใช้เวลาประเมินสถานศึกษาละ 1-3 วัน ตามขนาดและบริบทของสถานศึกษา รวมถึงการดึงเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดภาระสถานศึกษา เช่น เอกสารข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นการประเมินรูปแบบเดิม ทั้งนี้ สมศ.ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ONESQA-V เป็นเครื่องมือให้ผู้ประเมินเก็บข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ลดปัญหาการร้องเรียน สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ สนับสนุนให้การประเมินมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวผู้ประเมินจะได้รับรหัสผ่านเฉพาะบุคคลผ่านโทรศัพท์มือถือส่วนตัว และยืนยันด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก จึงจะใช้งานได้ ซึ่งจะมีการบันทึกข้อมูลผู้ประเมิน เช่น วันเวลา สถานที่ นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกข้อมูลการประเมิน เช่น ภาพ วิดีโอ เสียง และข้อความต่าง ๆ จากผู้ประเมิน ส่งไปยัง สมศ.ซึ่งเป็นต้นสังกัด เพื่อการนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์เพื่อพิจารณาผลประเมินต่อไป สร้างความสะดวก รวดเร็ว ไม่เป็นภาระสถานศึกษา
ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นดังกล่าวพัฒนาถึง 90% และจะเริ่มใช้อย่างเต็มรูปแบบกับสถานศึกษา 4,220 แห่ง ประกอบด้วย สถานศึกษาระดับประถมวัย 5 แห่ง ระดับขั้นพื้นฐาน 17 แห่ง ระดับอาชีวศึกษา 9 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เขตและอำเภอ และสถานศึกษาขึ้นตรง 10 แห่ง โดยคาดว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะสมบูรณ์ภายในปีนี้
นายสุวิทย์ มาทฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสันป่าค่า จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุผลที่ได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่อง ว่า เกิดขึ้นจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนโยบายรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกัน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา จึงรวมโรงเรียนขนาดเล็กต่าง ๆ มารวมไว้ในโรงเรียนวัดสันป่าค่า ทำให้มีศักยภาพและคุณภาพมากขึ้น ผู้ปกครองให้ความไว้ใจมากขึ้น มีนักเรียนเพิ่มจากเดิม 40 คน เป็น 105 คน ปัจจุบันมีครูประจำ 5 คน ครูพี่เลี้ยง 6 คน เน้นพัฒนาเด็กอนุบาล 1-3 อายุ 3-6 ขวบ ภายใต้โครงการ 1,000 วัน 1,000 กิจกรรม ต่อยอดมาจากโครงการของกรมอนามัยซึ่งดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ขวบ (1,000วัน) แต่เนื่องจากเด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โรงเรียนจึงกำหนดกิจกรรมทั้งช่วงปิดเทอมและเปิดเทอมอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย การขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อต้องการให้เด็กอยู่ในโรงเรียนซึ่งเป็นที่ปลอดภัยเมื่อผู้ปกครองออกไปทำงาน ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกวัน รวมระยะเวลาตั้งแต่อนุบาล 1 จนจบอนุบาล 3 จำนวน 1,000 วัน เพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาเรียนมากขึ้น เพราะเห็นว่าเด็กได้รับการดูแลส่งเสริมความรู้และกิจกรรมทุกวัน เหล่านี้ ทำให้โรงเรียนวัดสันป่าค่า จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกือบจะถูบยุบ ได้รับเลือกจากเขตการศึกษาในการจัดสรรระบบการประเมินภายในขึ้นมา
ด้านนางจรัส ชมภูมิ่ง ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่เขต 1 กล่าวว่า แต่ละโรงเรียนจะมีกิจกรรมหรือโครงการเด่นของตนเอง เพื่อพัฒนาตามมาตรฐานการประเมินทั้งภายในและภายนอก โดยเน้น 3 ข้อหลัก คือ คุณภาพเด็ก คุณภาพครู และนโยบายผู้อำนวยการ สิ่งสำคัญคือคุณภาพผู้เรียน ซึ่งสะท้อนมาจากกิจกรรม โครงการ หรือนโยบาย ที่แต่ละโรงเรียนสร้างขึ้น ส่งเสริมสอดรับกับคุณภาพผู้เรียน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเด็กนักเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการประเมินที่ชัดเจน
นางสุวารี วัตยา ผู้ประเมินภายนอก สังกัดหน่วยสุรนารีประเมินจำกัด ในความดูแลของ สมศ. กล่าวถึงวิธีใช้แอพพลิเคชั่น ONESQA-V ในการประเมินเด็กอนุบาล โรงเรียนวัดสันป่าค่า จ.เชียงใหม่ ว่า ใช้เวลา 2 วัน เพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กปฐมวัย มีนักเรียน 105-107 คน โดยใช้เกณฑ์การประเมินที่ สมศ.กำหนด 3 ด้าน คือ ด้านเด็ก ผู้บริหาร และครู โดยใช้แอพฯดังกล่าวในการประเมินทดแทนการใช้เอกสารหรือคอมพิวเตอร์ในการจดข้อมูล แล้วกลับไปกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อส่งให้ สมศ. ซึ่งใช้เวลามาก ในการรวบรวมและประมวลข้อมูลก่อนนำส่ง
สำหรับการใช้แอพฯในการประเมิน เมื่อผู้ประเมินที่มีรหัสส่วนตัวเดินทางมาประเมินที่สถานศึกษา เริ่มแรกสามารถเช็กอินในแอพฯได้ทันทีเพื่อยืนยันที่อยู่จริง โดยระบบจะยืนยันชื่อ-นามสกุลผู้ประเมิน ทำให้ตรวจสอบได้ว่าผู้ประเมินคือใคร รวมถึงผู้ประเมินสามารถถ่ายภาพ ลงข้อมูลการประเมินภายในแอพฯได้ทันที เช่น บันทึกเสียงสัมภาษณ์ผู้บริหารถึงแนวทางการประกันคุณภาพให้เด็ก ถ่ายวิดีโอพฤติกรรมเด็ก และบรรยากาศต่าง ๆ ระหว่างการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อยืนยันข้อมูลให้ สมศ.ผ่านแอพพลิเคชั่น พร้อมแนะนำแนวทางแก้ไขตามบริบทและศักยภาพแต่ละโรงเรียนผ่านระบบออนไลน์ต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องให้โรงเรียนจัดเตรียมเอกสารยืนยันข้อมูล สามารถสอบถาม บันทึกภาพและเสียงเพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้ทันที