กู้ยืมเงิน กยศ. 2566 สร้างโอกาสในการศึกษาไทย เปิดโอกาสสำหรับผู้มีความจำเป็นจะต้องกู้ยืมค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ช่วยให้นักเรียน นักศึกษา มีโอกาสเรียนตามฝัน
หนึ่งในกองทุนที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาไทยได้มีโอกาสเล่าเรียนในระบบการศึกษา คงหนีไม่พ้น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. สำหรับผู้ปกครองท่านใดที่อยากทำความรู้จักกับการกู้ยืมเงินของ กยศ. 2566 มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของผู้กู้ยืม เอกสารที่ต้องเตรียม ไปจนถึงกำหนดการขอกู้ประจำปีการศึกษานี้ Thaiger รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว สามารถติดตามรายละเอียดด้านล่างได้เลย
กำหนดการกู้ยืม กยศ. ประจำปีการศึกษา 2566 สำหรับสถานศึกษาทั่วไป
ภาคเรียนที่ 1
- ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2566 : สถานศึกษาบันทึกปฏิทินการศึกษา (เฉพาะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา) ค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร และรายงานสถานภาพการศึกษาของผู้กู้ยืมเงิน
- 1 เม.ย. – 31 ส.ค. 2566 : ผู้กู้ยืมเงินลงทะเบียนขอรหัสเข้าใช้งาน กยศ. Connect/ระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (DSL) และ ผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงิน สถานศึกษาตรวจสอบแบบคำขอกู้ยืมเงิน
- 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2566 : สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน สำหรับผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ จัดทำสัญญากู้ยืมเงิน นอกจากนี้ผู้กู้ยืมรายใหม่และรายเก่า จะต้องยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมและลงนามยืนยันเบิกเงินกู้ยืม
- ไม่เกิน 15 ต.ค. 2566 : สถานศึกษาจัดส่งเอกสารสัญญากู้ยืมเงินและแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม
ภาคเรียนที่ 2
- 1 ก.ย. 2566 – 31 ม.ค. 2567 : สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน และ ผู้กู้ยืมเงินยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันเบิกเงินกู้ยืม
- ไม่เกิน 15 ก.พ. 2567 : สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริการและจัดการเงินให้กู้ยืม
ภาคเรียนที่ 3 (สำหรับสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ 3 ภาคเรียน)
- 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2567 : สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน และ ผู้กู้ยืมเงินจะต้องยื่นแบบยืนยันการเบิกกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันเบิกเงินกู้ยืม
- ไม่เกิน 15 เม.ย. 2567 : สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม
กำหนดการกู้ยืม กยศ. ประจำปีการศึกษา 2566 สำหรับสถานศึกษาอาเซียน
ภาคเรียนที่ 1
- ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2566 : สถานศึกษาบันทึกปฏิทินการศึกษา (เฉพาะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา) ค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร และรายงานสถานภาพการศึกษาของผู้กู้ยืมเงิน
- 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2566 : ผู้กู้ยืมเงินลงทะเบียนขอรหัสเข้าใช้งาน กยศ. Connect/ระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (DSL) และ ผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงิน สถานศึกษาตรวจสอบแบบคำขอกู้ยืมเงิน
- 1 มิ.ย. – 31 ต.ค. 2566 : สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน สำหรับผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ จัดทำสัญญากู้ยืมเงิน นอกจากนี้ผู้กู้ยืมรายใหม่และรายเก่า จะต้องยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมและลงนามยืนยันเบิกเงินกู้ยืม
- ไม่เกิน 15 พ.ย. 2566 : สถานศึกษาจัดส่งเอกสารสัญญากู้ยืมเงินและแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม
ภาคเรียนที่ 2
- 1 พ.ย. 2566 – 31 มี.ค. 2567 : สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน และ ผู้กู้ยืมเงินยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันเบิกเงินกู้ยืม
- ไม่เกิน 15 เม.ย. 2567 : สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม
ภาคเรียนที่ 3 (สำหรับสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ 3 ภาคเรียน)
- 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567 : สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน และ ผู้กู้ยืมเงินยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันเบิกเงินกู้ยืม
- ไม่เกิน 15 ก.ค. 2567 : สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม
กยศ. คืออะไร
กยศ. หรือ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนที่มุ่งสร้างโอกาสในการศึกษาไทย โดยการสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา รวมถึงค่าครองชีพให้แก่นักเรียนและนักศึกษาที่มีความจำเป็นต่อการได้รับการสนับสนุนทางการเงิน นอกจากนี้ การกู้เงินกับ กยศ. จะไม่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างการศึกษา แต่จะต้องชำระเงินคืนหลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 2 ปี
คุณสมบัติ ผู้ขอกู้ กยศ.
คุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้ามของนักเรียนหรือนักศึกษาที่จะขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาจะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
คุณสมบัติทั่วไป
- มีสัญชาติไทย
- ศึกษาหรือได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่ร่วมดำเนินงานกับกองทุน
- เป็นผู้ขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในการศึกษาที่สถานศึกษาเพียงแห่งเดียวในคราวภาคการศึกษาเดียวกัน
- มีผลการเรียนดีหรือผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของสถานศึกษา
- มีความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาขั้นร้ายแรงหรือไม่เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย เช่น หมกมุ่นในการพนัน เสพยาเสพติดให้โทษ ดื่มสุราเป็นอาจิณหรือเที่ยวเตร่ในสถานบันเทิงเริงรมย์เป็นอาจิณ เป็นต้น
ลักษณะต้องห้าม
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาใดสาขาหนึ่งมาก่อน เว้นแต่จะได้กำหนดเป็นอย่างอื่นในคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาลักษณะหนึ่งลักษณะใด
- เป็นผู้ปฏิบัติงานและรับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนในลักษณะเต็มเวลา เว้นแต่จะได้กำหนดเป็นอย่างอื่นในคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาลักษณะหนึ่งลักษณะใด
- เป็นบุคคลล้มละลาย
- เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เป็นหรือเคยเป็นผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับกองทุน เว้นแต่ได้ชำระหนี้ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับผู้ขอกู้ กยศ.
- สำเนาบัตรประชาชน หน้า-หลัง 3 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้าน 3 ชุด
- สำเนาใบวุฒิ 3 ชุด
- หน้าสมุดบัญชีธนาคารกรุงไทย 3 ชุด
- รูปถ่ายหน้าตรง 3 รูป
- สำเนาบัตรประชาชน หน้า-หลัง 3 ชุด ของผู้ค้ำประกัน
- สำเนาทะเบียนบ้าน 3 ชุด ของผู้ค้ำประกัน
การโอนเงิน กยศ. ในปีการศึกษา 2566
การโอนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาให้กับสถานศึกษา
กองทุนฯ จะโอนเข้าบัญชีของสถานศึกษา ภายหลังจากธนาคารตรวจสอบสัญญากู้ยืมเงินและ/หรือแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมว่าถูกต้องครบถ้วน ตรงกับข้อมูลที่ธนาคารได้รับจากระบบ โดยจะโอนเงินให้ทุกวันที่ 5 15 และ 25 ของเดือน
การโอนค่าครองชีพให้กับผู้กู้ยืมเงิน
กองทุนจะโอนค่าครองชีพเดือนแรกให้กับผู้กู้ยืมเงินภายใน 30 วัน นับจากวันที่สถานศึกษายืนยันการลงนามแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมในระบบ และสถานศึกษาต้องจัดส่งเอกสารการกู้ยืมเงินที่ถูกต้อง และครบถ้วนให้ธนาคารโดยเร็ว หากธนาคารไม่ได้รับเอกสารการกู้ยืมดังกล่าว ภายใน 30 วัน กองทุนจะหยุดการโอนเงินค่าครองชีพของผู้กู้ยืมเงินในเดือนที่สอง
กยศ. 2566 จ่ายค่าเทอมและค่าครองชีพเท่าไหร่บ้าง
ผู้ที่กู้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 จะได้รับทุนการศึกษาและค่าครองชีพในแต่ละภาคเรียนแตกต่างกันออกไปตามแต่ละคณะ แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
- มัธยมศึกษาตอนปลาย ค่าเทอมไม่เกิน 14,000 บาท/ปี
- ปวช. ค่าเทอมไม่เกิน 21,100 บาท/ปี
- ปวส. ค่าเทอม 25,000 – 30,000 ต่อปี
- อนุปริญญา/ปริญญาตรี คณะกลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ 50,000 – 60,000 บาท/ปี
- อนุปริญญา/ปริญญาตรี คณะในกลุ่มศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ 70,000 บาท/ปี
- อนุปริญญา/ปริญญาตรี คณะในกลุ่มสาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ 90,000 บาท/ปี
- อนุปริญญา/ปริญญาตรี คณะในแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ 200,000 บาท/ปี
- ปริญญา 80,000 – 200,000 บาท/ปี
สำหรับค่าครองชีพ หากอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะได้รับค่าครองชีพ เดือนละ 1,800 บาทต่อเดือน ส่วนในระดับชั้น ปวช.-อนุปริญญา ปริญญาตรี ปริญญาโท จะได้ทุนกยศ. เดือนละ 3,000 บาทต่อเดือนในปี 2566
หากท่านใดสนใจกู้ยืม กยศ. อย่าลืมติดตามรายละเอียดกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในสถาบันของท่าน ทั้งผู้กู้รายใหม่และผู้กู้ต่อเนื่อง ที่สำคัญอย่าลืมเตรียมเอกสารและจำกำหนดการกู้ยืม ประจำปีการศึกษา 2566 หากพลาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไป อาจจะต้องรอยื่นเรื่องใหม่ในปีการศึกษาหน้า
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
Wilasinee
นักเขียนออนไลน์ผู้เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ แฟชั่น จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ