เนื้อหาดาราศาสตร์ในหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์มักจะเป็นเนื้อหาท้ายๆ และไม่เคยมีเกิน 10 หน้า ไม่ว่าหนังสือจะหนาหรือจะบางแค่ไหน
เชื่อว่าตอนเด็กๆ พวกเราแทบทุกคนคงจะเคยถูกถามว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?” แล้วในช่วงเวลาแห่งการครุ่นคิดเราคงไม่ได้ฉุกคิดคำตอบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงนักว่า เราจะได้เป็นมันจริงๆ หรือเปล่า เนื่องด้วยความไร้เดียงสาและความคิดเปี่ยมไปด้วยจินตนาการของความเยาว์วัย ทำให้คำตอบที่ล้วนตอบออกไปอาจมีทั้งอยากเป็นหมอ นักบอล หรือแม้แต่ ‘นักบินอวกาศ’
แต่โลกความเป็นจริงบางครั้งก็ใจร้ายกับเราไปหน่อย จนเราหลายๆ คนอาจจะลืมความฝันที่อยากจะเป็นเมื่อตอนเราเด็กไปแล้วก็ได้ เพราะด้วยการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์หรือโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เอื้อให้เราทำอาชีพที่ดูสุดโต่งในสายตาของบางคนได้ บางครั้งเราจึงจำใจต้องยอมทิ้งความฝันของเราไป
หนึ่งในอาชีพที่ดูไกลตัวคนไทยก็คืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับ ‘ดาราศาสตร์’ แม้ว่ามนุษย์จะขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ได้ตั้งแต่ 54 ปีที่แล้ว ทว่าในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เรื่องราวเกี่ยวกับดาราศาสตร์ดูใกล้ตัวมากขึ้น
อย่างเมื่อเร็วๆ มานี้ มีเหตุการณ์สำคัญมากมายที่ทำให้เราหันมาสนใจประเด็นนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งหัวข้อเรื่องเอเลี่ยนที่ดูเป็นกระแสที่สุดในขณะนี้หรือการค้นพบสัญญาณของสิ่งมีชีวิตที่ดาวเคราะห์ K9-18b ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่เปรียบเหมือนแม่เหล็กที่ดูดให้คนทั้งโลกไม่ว่าใครก็ตามต่างจับจ้องแทบตาไม่กะพริบ แต่ใครจะรู้บ้างว่าผู้ที่มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวน่าตื่นเต้นเหล่านี้ คือ ‘นักสื่อสารดาราศาสตร์’
นักสื่อสารดาราศาสตร์มีบทบาทสำคัญอย่างไร เรื่องราวดาราศาสตร์เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากน้อยแค่ไหน รวมถึงการศึกษาประเด็นดาราศาสตร์บ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง? The MATTER ได้พูดคุยกับ กร–กรทอง วิริยะเศวตกุล นักสื่อสารดาราศาสตร์และครีเอเตอร์ด้านอวกาศ KornKT เพื่อตั้งคำถามและตอบคำถามในประเด็นเหล่านี้กัน
เริ่มจากนิยามคำว่า ‘นักสื่อสารดาราศาสตร์’ ก่อนว่า อาชีพนี้คืออะไร
นักสื่อสารดาราศาสตร์ ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวทางดาราศาสตร์อย่างถูกต้อง และเข้าถึงกลุ่มคนที่มีความสนใจ เหมือนเป็นคนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างนักวิจัยและประชาชน เพื่อทำหน้าที่สื่อสารข้อมูล องค์ความรู้ และข่าวสารต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นคนที่ต่อสู้กับความไม่รู้ และความไม่ถูกต้องของข้อมูลในด้านต่างๆ พร้อมกับจุดประกายความฝัน ส่งต่อแรงบันดาลใจ เพื่อให้เกิดความตื่นรู้ด้านดาราศาสตร์ขึ้น ดังนั้น นักสื่อสารศาสตร์ถือเป็นสื่อกลางระหว่างความรู้เรื่องดาราศาสตร์กับผู้คนทั่วไป
การสื่อสารดาราศาสตร์มีความสำคัญแค่ไหน
ผมคิดว่าสำคัญมาก ถ้ายกตัวอย่างโมเดลที่ชัดก็คือ NASA ของสหรัฐฯ ที่ถือเป็นองค์กรใหญ่ที่มีทั้งนักวิจัย นักบินอวกาศ หรือนักดูแลด้านการสื่อสารโดยเฉพาะ และที่สำคัญหน่วยงานของ NASA ใช้โซเชียลมีเดียเก่งมาก ทำอีเวนต์ต่างๆ เพื่อที่จะดึงให้คนมาสนใจด้านอวกาศได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นไอเดียที่ประสบความสำเร็จมาก
แต่ถ้าจะนำเคสที่สามารถยกเป็นตัวอย่างง่ายๆ คือ เอเลี่ยน หรือ UFO (Unidentified Flying Object) ซึ่งเราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เยอะมาก ทั้งฝั่งที่ได้รับการยืนยันแล้วหรือเป็นทฤษฎีที่คิดขึ้นมา แต่การที่มีข้อมูลเต็มไปหมด บางทีในฐานะประชาชนทั่วไป อาจไม่มั่นใจว่าจะเลือกเชื่อข้อมูลไหนหรือสมควรดึงตรงไหนมาพิจารณาประกอบ ก็เลยมองว่าตำแหน่งของนักสื่อสารดาราศาสตร์เป็นจุดที่มีความสำคัญที่จะทำให้คนเข้าใจ หรือถ้ามองอีกขั้นสำหรับเด็กๆ ที่ชอบเรื่องอวกาศก็ถือเป็นบุคคลสำคัญ (key person) ที่ทำให้พวกเขาเข้ามาหลงใหลเรื่องนี้เพิ่มเติมและจริงจังมากขึ้น
ทำไมถึงเลือกเป็นนักสื่อสารฯ และครีเอเตอร์ดาราศาสตร์?
เป็นความชอบตอนเด็ก ชอบดูดาว ดูรายการสารคดีที่พูดถึงเรื่องอวกาศ แต่พอเริ่มโตขึ้นพบว่า เนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นนี้มีน้อยมากๆ ก็เลยเข้าไปดูที่โลกออนไลน์ แต่ข้อมูลก็ยังมีน้อยอยู่ดี ยิ่งเนื้อหาที่เป็นภาษาไทยยิ่งมีน้อย เราก็เลยพยายามค้นคว้าเอง ซื้อหนังสือมาอ่าน จนมีโอกาสไปออกรายการแฟนพันธุ์แท้ทำให้ไปเจอคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน เลยรู้สึกว่า มีคนที่ชอบเหมือนเราอยู่จริงๆ นะ ก่อนหน้านี้ด้วยสภาพแวดล้อมที่เราเรียนอยู่ตรงนั้น เราดูเหมือนคนที่ ‘แปลก’ เพราะเราชอบเรื่องอวกาศ บางครั้งจึงมีการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราไม่ไปชอบเรื่องทั่วไป ทำไมเราถึงชอบหรือหลงใหลเรื่องนี้กัน อาจจะเพราะเป็นประเด็นที่ตอนนั้นเราคิดว่าได้แค่ติดตาม แต่ทำอะไรต่อไม่ได้คือ เราจะเป็นนักบินอวกาศเหรอ เราเป็นคนไทยจะโอนสัญชาติไปที่อื่นเลยก็ไม่ได้ มันดูไกลตัว
และตอนที่เรียนมัธยม ผมพบว่าเรื่องอวกาศต้องเรียนด้วยการท่องจำ คำนวณ และต้องไปสอบ แต่พอไปสอบก็รู้สึกว่าเราคำนวณไม่ได้เลย พอทำไม่ได้ แล้วก็ยอมแพ้ ทิ้งความชอบตรงนั้นไป เพราะรู้สึกว่ามันเอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ แต่เรากลับไปเจอตัวตนอีกทีก็ตอนที่ดรอปจากโรงเรียนแล้วไปเจอกลุ่มเพื่อนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน จึงเกิดความคิดที่ว่าเราสามารถกลับมาทำอะไรตรงนี้และสร้างอิมแพคให้กับคนเจเนอเรชั่นถัดไปได้
มันเลยเกิดเป็นเป้าหมายว่าเราอยากทำงานในด้านสื่อ เป็นคนที่ดูเรื่องสื่อสารดาราศาสตร์ ตอนนั้นก็เลยร่วมมือกับเพื่อนๆ สร้างเพจ spaceth.co ที่เผยแพร่ข่าวและเนื้อหาด้านดาราศาสตร์ขึ้นมา ซึ่งพอเราเขียนไปสักพักก็มีน้องๆ พิมพ์มาบอกว่า “บทความของพี่ทำให้ชอบเรื่องอวกาศขึ้นเลย” ดังนั้น ผมจึงคิดว่าคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ เรามีเยอะ แต่พวกเขาแค่ยังไม่เจอจุดเริ่มต้นที่จะทำให้หลงใหลและศึกษาต่อได้ ก็เลยเกิดเป็นเป้าหมายว่า เราอยากเอาความชอบและแพชชั่นของเรามาแชร์ให้ผู้อื่นจนกลายมาเป็นบทบาทของผมในปัจจุบัน
ช่วงแรกๆ ที่เริ่มเขียนงานมีอุปสรรคอะไรบ้าง
มีเยอะมากเลย จนไม่รู้จะหยิบตรงไหนมาพูด ซึ่งช่วงที่ลงมือเขียนบทความแรกๆ มันมีหลายอย่างที่ทำให้เราไม่เชื่อมั่นในตัวเองเยอะมาก ทั้งในมุมที่ว่าเราเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง เราจะถ่ายทอดเรื่องนี้อย่างไร อันนี้เป็นจุดแรกเลย หลังจากนั้นก็คิดว่าจะมีคนมาอ่านไหม เราจะเขียนถูกต้องหรือเปล่า สิ่งที่เราเข้าใจมันถูกต้องจริงๆ ใช่ไหม เหมือนเราอยู่ในหุบเขาของความไม่รู้เลยอะ ดังนั้น อุปสรรคเยอะมากๆ เพราะเพิ่งดรอปเรียน จึงเป็นช่วงที่กำลังเคว้งอยู่กับการศึกษาด้วย อย่างเราจะต่อ ม.ปลายที่ไหน หรือจะเข้ามหาลัยอย่างไร เหมือนชีวิตกำลังหลงทางอยู่ด้วย ความจริงตอนนั้นผมต้องอยู่ ม.4 แต่ตัดสินใจดรอปเพื่อจะค้นหาตัวเอง เรายอมทิ้งไพ่ใบสุดท้ายให้กับความฝันนี้เลย แล้วก็มีคิดว่า ถ้าสมมติทำด้านนี้แล้วมันไม่สำเร็จก็จะต้องกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง
นอกจากนี้ ช่วงที่เริ่มต้นเขียน มันไม่มีใครมาปูทางไว้ให้ด้วยว่าการเขียนเรื่องอวกาศให้คนมาสนใจ หรือทำให้น่าสนุกนั้นต้องทำอย่างไร ผมก็เลยค่อนข้างกดดัน เพราะเราจะเจอกับความไม่แน่นอนอย่างข้อมูลที่เรามี และก็ไม่รู้อีกว่าข้างนอกจะมีคนสนใจเหมือนเราไหม ซึ่งที่กล่าวมาน่าจะเป็นประเด็นหลักๆ ของอุปสรรคเลย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ผมผ่านมาได้น่าจะเกิดจากแพชชั่นในตอนนั้นล้วนๆ เลย เพราะในตอนเด็กเราชอบเล่าเรื่องอวกาศให้เพื่อนๆ ฟังเป็นชั่วโมง เล่าเหมือนดูบ้าไปเลยในจุดๆ หนึ่ง แต่คือเราสามารถทำอย่างนั้นได้ แล้วมันแตกต่างจากเรื่องอื่นตรงที่เราสามารถเล่าและขุดประเด็นอะไรอีกก็ไม่รู้ออกมาได้ตลอด ทั้งที่มันถือเป็นเรื่องที่อยู่ในซอกหลืบมากๆ มันเลยกลายเป็นมุมที่ว่า เราอยากจะทำแบบนี้ ซึ่งเป็นความเชื่อด้วยว่าในท้ายที่สุดแล้ว หลังที่เราส่งมอบข้อมูลออกไปเพื่อที่จะให้เด็กๆ หรือคนที่ชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ยังไงมันต้องมีสักคนที่เข้ามาเห็นสิ่งที่เราทำ ทั้งหมดที่กล่าวมาน่าจะเกิดจากความดื้อด้วย เพราะว่าตอนที่เริ่มทำแรกๆ ก็ไม่ได้เวิร์กขนาดนั้น แต่เราก็ไม่หยุดที่จะทำมัน
มีวิธียังไงที่ทำให้เรื่องดาราศาสตร์เข้าใจง่าย
ทริคของผมคือ เราต้องมองตัวเองเป็นคนที่เข้าใจดาราศาสตร์ได้แบบเป็นพื้นฐานมากๆ ก่อน รู้แค่ว่ามีกลางวัน-กลางคืน โลกอยู่ในระบบสุริยะ ไม่ได้รู้สูตรหรือชื่อนักดาราศาสตร์อะไรทั้งนั้น หรือเรายังคิดอีกว่า ถ้าเราเขียนแบบนี้คนจะเข้าใจไหม และคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อดึงคนที่อาจจะไม่ได้สนใจขนาดนั้นหรือแบบสนใจแค่เบื้องต้นเข้ามาได้
ดังนั้น ผมพยายามเขียนแบบให้คนย่อยได้ง่ายที่สุด เนื่องด้วยเราศึกษาเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เราจะรู้ว่าเนื้อหามันจะสื่อถึงอะไร สิ่งที่น่าตื่นเต้นและน่าติดตามของข่าวนี้เนี่ยคืออะไรบ้าง แล้วจะอ่านทำความเข้าใจทั้งหมดก่อน หลังจากนั้นค่อยเรียบเรียงเป็นภาษาของเรา เช่น ภารกิจนี้เจอสิ่งนี้และมันน่าสนใจเพราะแบบนี้ ซึ่งผมพยายามตระหนักตลอดว่าทำอย่างไรก็ได้ให้คนทั่วไปรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่ารับฟังต่อ และพยายามไปนั่งอยู่ในมุมของคนอ่านว่า เนื้อหาของเราจะไม่ถูกปัดทิ้ง หรือคิดว่าเขียนอะไรเนี่ย ข่าวอะไรมาอีกแล้ว ธงของผมคือ การทำให้ข้อมูลกระจายเป็นวงกว้างให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการสืบค้นต่อไป หลังจากนั้นเราค่อยเริ่มที่จะทำเรื่องที่ลึกมากขึ้น
คิดว่าคนไทยสนใจดาราศาสตร์มากแค่ไหน
ผมคิดว่าเยอะ เพราะมันเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับพวกเขา เช่น ข้างขึ้น-ข้างแรม ก็อิงจากการวิถีของดวงจันทร์ เรื่องเด่นๆ ก็เอเลี่ยน หรือ UFO ซึ่งผมจะเจอคนถามเรื่องนี้ประมาณ 80% เลย เพราะว่ามันเป็นประเด็นที่แม้แต่คนมีชื่อเสียงยังพูดถึง อันนี้ผมมองว่าเป็นพื้นฐานที่ประชาชนทั่วไปพอรู้อยู่แล้ว ถัดมาเรื่องอื่นที่พวกเขามักให้ความสนใจก็คือปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา พระอาทิตย์มืดไป ดวงจันทร์สีเลือด หรือดาวเรียงตัว
ดังนั้น ผมคิดว่าคนไทยสนใจเรื่องเหล่านี้มากๆ แต่ปัญหาที่ตามมาคือบางข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่ถูกเผยแพร่ออกไปมักไม่ค่อยถูกต้องอย่าง น้ำมะนาวรักษามะเร็งได้ ซึ่งในวงการดาราศาสตร์ก็มีประเด็นอย่างนี้เกิดขึ้นเยอะพอสมควร จนทำให้คนบางส่วนรู้สึกว่าดาราศาตร์มันดูไกลตัว คนบนโลกเขาจะมีความคิดที่ว่าพวกเขาอยู่ใต้ท้องฟ้า มองไม่เห็นอวกาศ มันดูเป็นสิ่งที่ไกลตัวมากๆ ก็เลยอาจเป็นจุดที่ทำให้พวกเขาไม่ได้สนใจขนาดนั้น แต่ถ้ามีข่าวที่พอเป็นกระแสพวกเขาถึงจะค่อยมาติดตาม
ทำไมผู้คนจำเป็นต้องรู้เรื่องดาราศาสตร์ มันสำคัญต่อชีวิตประจำวันพวกเขาอย่างไร
ในมุมของผม ผมมองว่าดาราศาสตร์จำเป็นมาก เพราะว่าหนึ่งเราไม่ได้ศึกษาแค่ดวงดาว หรือเฝ้าดูปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเดียว ซึ่งดาราศาสตร์มันทำให้เรารู้จักตำแหน่งของเราในจักรวาล ถ้าศึกษาลึกลงไป เราจะได้เห็นถึงต้นกำเนิดที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ขึ้นมา ได้เห็นการเฝ้าระวังโลกจากภัยต่างๆ ที่อาจจะอยู่บนท้องฟ้า และมันยังเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นมาอีก
เช่น การที่มนุษย์จะไปดวงจันทร์ มันก็ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคหนึ่งแบบก้าวกระโดดขึ้นมา ด้วยจุดประสงค์ที่ว่าในอนาคตการศึกษาดาราศาสตร์ไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้มนุษย์กลายเป็นสปีชีส์ที่สามารถอาศัยอยู่บนดาวหลายดวงได้ และผมคิดว่าเรากำลังก้าวไปสู่ยุคที่สิ่งต่างๆ บนโลกจะถูกนำขึ้นไปบนอวกาศอีกด้วย เนื่องด้วยปัจจุบันเกิดเศรษฐกิจอวกาศ อาหารในอวกาศ และวิธีการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพในอวกาศ ซึ่งศาสตร์บนโลกสามารถนำเอาไปใช้บนนั้นได้ และไม่ใช่แค่เพียงแค่ในอวกาศ แต่อาจเอาไปใช้ที่ดาวอังคารหรือดาวศุกร์ก็ได้ ดังนั้น การศึกษาเรื่องเหล่านี้ ผลประโยชน์ก็กลับมาสู่บนโลกของเราอยู่ดี อาจจะพูดได้ว่าการที่มนุษย์พยายามไปอวกาศส่งผลให้ชีวิตของคนบนโลกดีขึ้น
แต่ถ้าความสำคัญของมันในระดับปัจเจกบุคคล อาทิ แม่ค้าคนหนึ่ง ผมคิดว่าพวกเขาเกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจอวกาศได้ เนื่องจากเราอาจจะพยายามพัฒนาสินค้า เช่น ทำอาหารที่ไม่เน่าเสียง่าย ปลอดเชื้อโรค เพื่อจะนำขึ้นไปในอวกาศได้ ตัวอย่างล่าสุดก็คือ ที่ไทยส่งไก่ไปอวกาศ ฉะนั้น ผมมองว่าจุดนี้แหละที่ประชาชนทั่วไปจะได้รับประโยชน์โดยตรง สินค้าที่แม่ค้าขายอาจถูกทำให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากจะถูกนำไปอวกาศ
นอกจากนี้ เราสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้เพื่อทำให้ชีวิตการค้าขายของแม่ค้าพ่อค้าดีขึ้น เช่น นวัตกรรมการถ่ายทอดสดฯ (live streaming) ที่ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรมนี้เกิดมาจากความคิดที่มนุษย์อยากไปอวกาศนั้นเอง และในอนาคตข้างหน้าที่เราจะไปดาวอังคาร ผมคิดว่าในตอนนี้หลายๆ คนยังไม่เห็นผลหรอกว่าการไปอวกาศมันทำให้ชีวิตแม่ค้า ตำรวจ ทหารดีขึ้นอย่างไร แต่การที่มนุษย์เราพยายามพัฒนาคน ทรัพยากร เพื่อจะส่งออกไปนอกโลก ท้ายที่สุดผลพลอยได้มันจะกลับมาสู่โลกของเราอยู่ดี อาทิ จะมีภารกิจส่งคนไปดาวอังคารในปีหน้า ก็มีธุรกิจที่ทำพัฒนาอาหารอวกาศ ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็เป็นเกษตรกร แรงงาน และในอนาคตข้างหน้าการไปดาวอังคาร ผมเชื่อว่าเราจะพยายามนำแทบทุกอย่างจากบนโลกไปบนนั้นให้ได้ ประชาชนหลายๆ อาชีพก็จะยิ่งได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้แน่นอน
ดาราศาสตร์อยู่รอบตัว มนุษย์ใช้ชีวิตโดยมีมันอยู่เสมอ แต่แค่ไม่ได้ทันสังเกตเท่านั้น
ที่บอกว่าตัดสินใจดรอปเรียน เพราะระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์หรือเปล่า
ขอเล่าว่า ผมเรียนในโรงเรียนที่เน้นด้านวิชาการ อยู่ในห้องที่มีเด็กไปแข่งโอลิมปิกได้เหรียญทอง เป็นพื้นที่ที่คนเก่งระดับแนวหน้าของประเทศมาอยู่รวมกัน และผมรู้สึกว่าในบ้านเราใครที่ต่อสายวิชาการ เก่งคณิต-วิทย์ พวกเขาเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนและสปอร์ตไลท์อย่างเต็มที่ แต่เด็กที่อยู่ชายขอบอย่างผมหรือเพื่อนบางคนที่ไม่ได้อยู่สายวิชาการขนาดนั้นอย่างทำงานศิลป์ งานหุ่นยนต์ งานดนตรีอะไรแบบนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่โดนแรงกดดันสูงมาก เช่น ถูกถามว่าทำไมทำเกรดไม่ดีเลย กลายเป็นว่าเราถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่จริงๆ แล้วเราพยายามเต็มที่แล้วนะ แต่ก็เก่งไม่เท่าเพื่อนอยู่ดี จึงมักจะถูกแนะนำตลอดว่า “คุณก็ไปเรียนพิเศษสิ จะได้ตามเพื่อนทัน”
แต่ผมรู้สึกว่าเวลาเราพยายามรักษาเกรดเอาไว้ มันทำให้เราไมได้ทำอย่างอื่นเลยนอกจากการเรียน และในตอนนั้นผมก็มีหลายความชอบด้วย ดังนั้น ความรู้สึกตอนที่อยู่ในระบบคือ รู้สึกว่าเราโคตรอยู่ท้ายแถวเลยและเราดูไม่เก่งอะไรเลย เพราะเพื่อนคนอื่นดูเก่ง มีความสามารถกันหมด ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้ตัดสินใจดรอป เพื่อมาลองทำสิ่งที่เราชอบ ออกมาเรียนรู้ว่าสิ่งที่เราฝันไว้จะเป็นจริงหรือเปล่า ที่ตัดสินใจดรอปเรียน เพราะในระบบการศึกษาไม่มีพื้นที่ให้เราได้ทดลองทำสิ่งเหล่านี้เลย
ไม่เพียงเท่านี้ การศึกษาไทยยังดันให้เด็กต้องไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น ถ้าชอบเรื่องดาราศาสตร์ก็ต้องไปสอบมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ (สอมน.) แต่ผมก็ยอมรับว่ามีคนเก่งในด้านนั้นหลายคน และพวกเขาชอบกันจริงๆ ซึ่งคนเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศในองค์รวม แต่มันก็ยังมีคนกลุ่มอื่นอีกไงที่มีความชอบที่แตกต่างออกไป ซึ่งสำหรับผมพอเราเข้าไปอยู่ในเส้นทางนั้นปุ๊บมันต้องแข่งขันกันเพื่อที่จะไปสู่ความสำเร็จให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบันคิดว่าการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม
ขอเล่าย้อนไปในช่วงที่อยู่ตอนประถมก่อนนะ ตอนนั้นผมเริ่มชอบเรื่องดาราศาสตร์ พยายามหาหนังสืออ่าน แต่เนื้อหาดาราศาสตร์ในหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์มักจะเป็นเนื้อหาท้ายๆ และไม่เคยมีเกิน 10 หน้า ไม่ว่าหนังสือจะหนาหรือจะบางแค่ไหน และก็จะกล่าวถึงแต่เรื่องเบสิกอย่างระบบสุริยะคืออะไร คนเหยียบดวงจันทร์คนแรกคือใคร ถ้าถามว่ามันสามารถทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจหรือทำให้คนชอบได้ไหม ผมขอตอบว่ามันก็มีมุมที่ทำให้คนชอบได้อยู่ แต่ท้ายที่สุดเรื่องดาราศาสตร์จะเหลือแค่เท่านี้ เลยเปลี่ยนไปเป็นการผลักให้เราไปหาความรู้จากด้านอื่นแทน ซึ่งก็มีน้อยเช่นกัน
แต่พอมาช่วงมัธยมมันกลายเป็นว่าดาราศาสตร์ กลายเป็นศาสตร์แห่งการคำนวณไปแล้ว มันถูกสอดไส้ด้วยตัวเลข โดยผมก็ยอมรับในจุดนั้นว่ามันเป็นเลขในร่างแปลงกายมาว่าคุณต้องคำนวณค่าโคจร ค่าแรงโน้มถ่วงให้ได้คือ มันเปลี่ยนไปเลยจากข้อมูลทั่วไปกลายเป็นความรู้ที่ถูกยัดไปด้วยฟิสิกส์ คณิต หลักการต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ว่ามันไม่ดี บางอันมันก็ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่กลายเป็นว่ามันทำให้เด็กบางคนเกลียดดาราศาสตร์ไปเลย เพราะแบบเจอวิชาคำนวณอีกแล้ว เจอจากเลขมาแล้วทำไมต้องมาเจอนี้อีก มันเลยทำให้หลายๆ คนรู้สึกชอบวิชาดาราศาสตร์น้อยลงทันที บางคนอาจจะแอนตี้ไปเลยก็มี
ซึ่งตามจริงแล้ว ความรู้ด้านดาราศาสตร์มันกว้างมาก มันมีทั้งฝั่งที่ต้องคำนวณ วิจัย หรือหินกว่านั้นก็ชีวะและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ แต่มันยังมีดาราศาสตร์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ปรากฏการณ์ต่างๆ เรื่องของดาวหาง ดาวเคราะห์นอกระบบอะไรพวกนี้ ซึ่งไม่ได้ยากและซับซ้อนขนาดนั้น แต่มันไม่ถูกนำมาให้เด็กเรียนรู้หรือทำความเข้าใจกัน เท่าที่รู้มาผมคิดว่าตอนนี้ประเทศไทยสามารถปั้นเด็กให้เก่งด้านนี้มากๆ ได้ เพราะมีเด็กไปคว้ารางวัลได้เรื่อยๆ แล้วก็สามารถทำวิจัยได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าพวกเขาเหล่านี้คือเด็กหัวกะทิที่จะกลายมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศ แต่เรายังมีเด็กที่เขาไม่ได้เก่งด้านวิชาการขนาดนั้นอยู่ด้วย แต่พวกเขาต่างถูกผลักออกจากระบบหรือความชอบที่เขามีอยู่
ผมมีเพื่อนที่เขาชอบทั้งงานศิลป์และชอบเรื่องอวกาศด้วย กลายเป็นว่าตอนที่เขาต้องเจอกับการคำนวณ เขาก็เสียความชอบส่วนนี้ไปเลย หรือแบบหลายๆ คนที่เขารู้สึกชอบเรื่องดวงดาวก็ต้องยอมแพ้ในเรื่องการเรียนไป เนื่องจากรู้สึกว่าสายดาราศาสตร์มันดูไม่มีอนาคต คุณจบมาแล้วจะทำอะไรในไทย เขาก็เลยต้องยอมไปในสายอื่น ตรงนี้ก็ถือเป็นปัญหาว่าการศึกษาไม่ได้ซัพพอร์ตความสงสัยใครรู้ของเด็กได้ขนาดนั้น บางครั้งเด็กต้องการรู้นอกเหนือจากตำรา แต่ครูไม่สามารถให้คำตอบได้
นอกจากนี้ ปัญหาการขาดครูที่เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ก็สำคัญ และในห้องเรียนก็ยังมีอำนาจบางอย่างที่ทำให้เด็กไม่กล้าพูดคุยกับอาจารย์อยู่แล้ว แล้วเวลาเราถามแล้วโดนบ่ายเบี่ยง เด็กก็ยิ่งมีกำแพงและมองว่าเรื่องอวกาศมันดูไกลตัว และเรื่องอุปกรณ์ในการเรียนเรื่องนี้ก็สำคัญ อย่างอุปกรณ์ที่ถือว่าพื้นฐานสุดอย่างกล้องดูดาว แผนที่ดาว หลายๆ โรงเรียนไม่มีส่วนนี้ให้เด็ก เพราะมันมีราคาที่แพงมากๆ
ไหนจะสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยอีก เช่น เราไม่สามารถดูดาวในเมืองได้ ทำให้เวลาเราจะศึกษากลุ่มดาว เราก็ต้องท่องจำเอา ซึ่งกล้องดูดาวมันอุปกรณ์สำคัญในเชื่อมโยงเด็กกับเรื่องอวกาศได้ เลยกลายเป็นว่าพวกเขาไม่มีวิธีอื่นที่จะศึกษาได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยก็มีความพยายามจะผลักดันเรื่องนี้ ทั้งการสร้างท้องฟ้าจำลอง ชมรมดาราศาสตร์ ผมก็ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้เด็กหลายๆ คนได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องดวงดาว
วิชาดาราศาสตร์ในไทยถูกสอดไส้ไปด้วยตัวเลขและการคำนวณเท่านั้น เด็กหลายคนจึงแอนตี้วิชานี้ไปเลย
ความแตกต่างในการเรียนดาราศาสตร์ระหว่างไทยกับต่างประเทศ
ผมขอยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด เราคงจะรู้กันอยู่แล้วว่าสหรัฐฯ มี NASA ที่ทั้งทำการวิจัย พัฒนายาน หรือฝึกหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกในเรื่องอวกาศ และยังมีหน่วยที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูแลด้านข้อมูลไว้สำหรับสอนเด็กโดยเฉพาะอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้ถูกนำเข้าไปรวมอยู่ในระบบการศึกษานะ แต่มันคือสิ่งที่องค์กรของเขาคิดขึ้นมาเอง เพื่อให้เด็กมีความสนใจตรงนี้ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ตอนที่สหรัฐฯ ไปดวงจันทร์ มันมีเด็กหลายคนเห็นวินาทีนั้นแล้วพวกเขารู้สึกว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ ซึ่งถ้าเทียบกับไทยมันจะดูเป็นฝันที่ไกลเหมือนกัน แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นหลังจากนั้น 20 ปี ปรากฏว่ามีเด็กหลายคนจากทั่วทุกมุมโลกกลายเป็นเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ควบคุม เป็นทีมพัฒนาตัวกระสวย
ดังนั้น การส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจังมันก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากร โครงการอวกาศของเขาจึงแข็งแกร่งมากๆ ซึ่งในไทยขณะนี้ก็มีองค์กรที่สนับสนุนเรื่องนี้อยู่ เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ ทั้งจัดกิจกรรมดูดาว เปิดค่ายจัดกิจกรรม และยังมีการอมรบครูและนักเรียน เพื่อสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้ขึ้นมา เพราะว่ามันไม่สามารถเห็นผลภายในเพียง 2-3 ปี แต่อาจต้องใช้เวลาถึง 2-3 เจเนอเรชั่น เพื่อจะพัฒนาคนจำนวนหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำงานด้านอวกาศได้อย่างจริงจัง
คิดว่าเด็กไทยมีสิทธิที่จะฝันถึงการทำงานด้านดาราศาสตร์ในอนาคตไหม
เด็กไทยยังมีสิทธิที่จะฝัน เพราะว่าช่วง 50 ปีที่แล้ว อวกาศยังเป็นเรื่องของกองทัพและการเมืองเท่านั้น ไม่ก็ถูกสงวนไว้ให้แก่หน่วยงานไม่กี่หน่วยงานเท่านั้น แต่ปัจจุบันมันเป็นสิ่งที่เอกชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้แล้ว เช่น SpaceX ซึ่งทำให้เรื่องการไปอวกาศเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น หรือแม้แต่ฝั่งรัฐบาลก็ยังเปิดกว้างมากขึ้นเนื่องจากการจะไปถึงดาวอังคารต้องใช้องค์ความรู้จากคนกลุ่มเดียวไม่ได้ สหรัฐฯ ก็เลยพยายามจับมือกับหลายๆ ประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันสำหรับการสร้างภารกิจการเดินทางไปอยู่นอกโลกอย่างยั่งยืน
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันมีนักวิจัยไทยทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานด้านอวกาศเลย และเด็กที่ยังเรียนอยู่ก็มีหลายคนที่ทำวิจัยด้านอวกาศตั้งแต่ ม.ต้น เช่น ส่งงานวิจัยเพื่อไปทดลองบนสถานีอวกาศ
ในยุคที่กำลังจะมีภารกิจไปดวงจันทร์ มุ่งหน้าไปดาวอังคาร หรือไปวงโคจรรอบโลก มันแทบจะเป็นพรมแดนใหม่ที่ให้ชาติต่างๆ ขึ้นไปสำรวจกันได้เลย ฉะนั้น ผมจึงมองว่าเด็กไทยมีโอกาสที่จะไปได้ไกลกว่าที่เราคิดในปัจจุบันนี้ก็ได้ อีกหนึ่งตัวอย่างคือ อินเดียที่ตอนนี้กลายมาเป็น 1 ในชาติมหาอำนาจด้านอวกาศไปแล้ว จากที่เมื่อ 50 ปีที่แล้วเขายังต้องใช้เกวียนเพื่อทดลองดาวเทียมอยู่เลย ซึ่งไม่แน่เราอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันเกิดขึ้นก็ได้
การเมืองก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ค่อนข้างจริงเลย เพราะอวกาศถูกผลักดันด้วยการเมืองตั้งแต่แรก อย่างเหตุผลที่เราได้ไปดวงจันทร์ก็เพราะสหรัฐฯ และโซเวียตแข่งกันเรื่องเทคโนโลยีในช่วงสงครามเย็น และในปัจจุบันนี้ที่เรามีภารกิจกลับไปดวงจันทร์อีก ก็เพราะสหรัฐฯ แข่งกับจีน และอีกตัวอย่างคือ สถานีอวกาศนานาชาติจะไม่มีชาวจีนอยู่ก็เพราะเรื่องการเมือง หรือคนสหรัฐฯ สามารถขึ้นยานรัสเซียได้ แต่สหรัฐฯ จะไม่ส่งคนขึ้นยานของจีน สรุปแล้ว การเมืองมันถูกไดรฟ์อยู่ลึกๆ อย่างไรก็ตาม มันก็อาจไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง แต่มันก็ทำให้เห็นว่าการเมืองมันซ่อนอยู่เกือบทุกประเด็นจริงๆ
ประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่แล้ว คิดว่าแนวโน้มด้านการศึกษาด้านดาราศาสตร์จะได้รับความสนใจหรือส่งเสริมมากขึ้นไหม
ผมหวังว่าจะได้รับมากขึ้นนะ เพราะอันดับแรกเราได้รัฐบาล มันมีโอกาสที่เราจะผลักดันในด้านต่างๆ ได้ เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีโอกาสที่ดีมากๆ ในการจะลงมือทำเรื่องเหล่านี้ให้ดีขึ้น เพราะว่าปีหน้าเราจะส่งคนกลับไปดวงจันทร์อีกครั้งหนึ่ง มันเป็นหมุดหมายที่รัฐบาลอื่นไม่มีโอกาสทำได้ เพราะตอนที่มนุษย์ไปครั้งแรกก็ไม่มีการเปิดรับให้ชาติอื่นไป ส่วนครั้งนี้นอกจากชาติอื่นสามารถไปด้วยได้แล้ว ยังเกิดการพัฒนาบุคลากรในการทำงาน แค่ไปดวงจันทร์ ยังต้องศึกษาสิ่งต่างๆ บนดวงจันทร์ ในช่วงนี้ไทยก็มีการร่วมมือกับทางจีนในเรื่องการศึกษาดาราศาสตร์ในคลื่นวิทยุ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีการส่งนักวิจัยไปศึกษา ไปแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ อยู่
แต่ว่ายังมีอีกหลายๆ งานวิจัยเลยที่พวกเขาไปด้วยงบประมาณที่จำกัดมากๆ ทั้งหน่วยงานฝั่งอวกาศ มหาวิทยาลัย พอเขาทำงานด้านอวกาศมันจะมีขีดจำกัดเลยว่างบประมาณไม่ได้เยอะขนาดนั้นนะ ทว่าพวกเขาก็ยังสามารถทำงานวิจัยหลายๆ ตัวขึ้นมาได้ เช่น ตอนนี้มีการส่งผลการทดลองไปที่องค์การอวกาศยุโรป โดยมหาวิทยาลัยมหิดล หรือเกษตรศาสตร์ที่มีการทำงานร่วมกับ NASA แต่ก็ทำงานอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหลายๆ อย่างเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากที่ประเทศเราไม่มีกระทรวงที่ดูด้านอวกาศอย่างจริงจังด้วย
ผมจึงหวังว่าดาราศาสตร์จะได้รับความสนใจมากกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่าเราเริ่มต้นเรื่องนี้ช้ากว่าประเทศอื่นไปมาก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนจุดยืนของไทยในเวทีของโลกได้เลย
เชื่อไหมว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกโลก?
ถ้าเอเลี่ยนในเชิงนอกโลกผมเชื่อว่ามี และคิดว่ามีเยอะด้วยเพราะความน่าจะเป็นสูง เนื่องจากดาวฤกษ์มีอยู่เป็นล้านๆ ดวงอยู่ทั่วเอกภพ และดาวแต่ละดวงก็ยังมีระบบสุริยะและดาวเคราะห์ของตัวเอง และที่สำคัญดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกมีอยู่เป็นล้านๆ ดวง และระบบสุริยะของเราถือว่าอายุน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับอายุเอกภพของเรา ดังนั้น ตามหลักความเป็นไปได้ ชีวิตมันควรอมีอยู่ทั่วไป แถมเราเพิ่งเริ่มสำรวจพวกดาวเคราะห์ต่างๆ ได้แค่ 30 ปีเอง มันจึงเปรียบเหมือนหยดน้ำเล็กๆในมหาสมุทร จะบอกว่ายังไม่เจอปลาเพราะเราค้นหาแค่ผิวน้ำไม่ได้ มันยังต้องใช้เวลาในการสำรวจและศึกษาอีกเรื่อยๆ
แต่ถ้าพูดถึงเอเลี่ยนที่มีการพบเห็นบนโลก ผมยังมองว่าการเจอเอเลี่ยนเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มากๆ ซึ่งการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ก็ต้องการหลักฐานที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน เราจะเอาคำพูดจากคนไม่กี่คนที่บอกว่า “เจอเอเลี่ยนมา เราติดต่อกับเอเลี่ยนได้” มาเป็นหลักยืนยัน คงไม่เพียงพอ
การตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกสำคัญหรือจำเป็นแค่ไหน
ด้วยความที่เรายังไม่เจอ มันเลยเหมือนเราเทงบทิ้งไป มีการส่งสัญญาณวิทยุเพื่อจะติดต่อ แต่ไม่มีใครติดต่อกลับมาเลย ซึ่งผมคิดว่าความจำเป็นของมันคือ ‘เราจะรู้จุดยืนว่าชีวิตมีอยู่ทั่วไป’ หรือ ‘เราคือเจเนอเรชั่นแรกหรือสุดท้ายที่อยู่ในเอกภพแห่งนี้’ ซึ่งทั้งสองคำตอบล้วนมีความน่ากลัวในรูปแบบของมันเอง
กับอีกอันก็คือ ถ้าเราค้นพบว่าชีวิตมีอยู่ทั่วไป องค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ของเราจะเปลี่ยนไปหมดเลย และยังมีเรื่องที่เรามักจะถกเถียงกันคือ มนุษย์ต่างดาวจะเป็นมิตรกับโลกของเราไหม เราต้องป้องกันโลกของเราจากการโดนโจมตีหรือเปล่า หรือเราจะเดินทางข้ามดาวเพื่อไปติดต่อ (first contract) กับชีวิตนอกโลกก่อน มันมีหลายอย่างเกิดขึ้นได้เลย
แต่สิ่งที่มันสำคัญกว่าคำตอบว่ามีหรือไม่มีคือ การที่เราไม่รู้ เพราะการไม่รู้ เราก็เลยพยายามจะศึกษาสิ่งต่างๆ เดินทางไปดวงจันทร์ เดินเรือหาทวีปใหม่โดยไม่กลัวว่าจะตกขอบโลกหรือเปล่า ดังนั้น ถ้าเราไม่สงสัย เราก็จะไม่ออกไปทำสิ่งที่ยากและยิ่งใหญ่
คิดว่า การพยายามตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกของมนุษย์คิดว่าเกิดมาจากอะไร
ต้องย้อนกลับไปตรงที่เราไม่รู้คำตอบนั่นแหละ มันมีความเป็นไปได้เยอะมากๆ ที่จะเจอชีวิตนอกโลก แต่เรายังไม่เจอ พอเราไม่เจอ เราก็เลยยิ่งหาคำตอบว่ามีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า อย่างสหรัฐฯ ยิ่งขึ้นชื่อปิดบังข้อมูล มันจะยิ่งทำให้เกิดทฤษฎีต่างๆ ขึ้นมา และอีกอย่างคือเรื่องที่เราไปดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แล้วทำไมตอนนี้เราไม่ไปกันละ คนจะยิ่งหาว่าต้องมีช่องโหว่ตรงไหนแน่ๆ หรือคิดว่า NASA จัดฉากแน่ๆ ดังนั้น การที่ไม่รู้หรือไม่เจอ โดยเฉพาะเรื่องเอเลี่ยน มนุษย์เราเลยพยายามจับจ้องหรือชี้จุดแปลกๆ ของโลก เช่น ชี้จุดสว่างแล้วบอกว่า “เฮ้ย! เอเลี่ยน” เห็นชีวิตรูปร่างหน้าตาประหลาดๆ เราก็คิดว่ามันต้องเป็นเอเลี่ยน สรุปคือ เราคิดว่ามันต้องมี แต่เราแค่ยังไม่เจอ เราเลยพยายามหาคำตอบ
นอกจากนี้ อาจจะเกิดจากที่มนุษย์รู้สึกกลัวด้วยอย่างที่เราเห็นในหนังหลายๆ เรื่องว่า เอเลี่ยนมาโลกทีไรเกิดปัญหาขึ้นตลอด ผมเลยมองว่าเป็นความกลัวด้วย และโลกของเราค่อนข้างเปราะบาง ดาวเคราะห์น้อยลูกใหญ่ๆ แค่ลูกเดียวชนก็ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ได้เลย ถ้ามนุษย์เราเจอกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็น่ากลัวเหมือนกัน จึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนอยากค้นหา เพราะว่าถ้าเรารู้ว่าชีวิตพวกนี้อันตรายจริงๆ เราจะได้เตรียมพร้อมทั้งการป้องกันหรือการสื่อสารกับพวกเขา
หลายคนสันนิษฐานว่าเอเลี่ยนน่าจะต้องมีรูปร่างตามที่เรามักจะเห็นในภาพยนตร์
ผมมองว่าเอเลี่ยนที่เราเจอจะไม่ใช่แบบนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนรู้สึกผิดหวังด้วย เพราะอาจเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เป็นชีวิตเล็กๆ แค่นั้นเลย แต่ทั้งวงการวิทยาศาสตร์จะเฮมากๆ เพราะเราเติบโตมาภายใต้แนวคิดที่ว่า โลกคือดาวแค่ดวงเดียวที่มีองค์ประกอบทุกอย่างที่ทำให้มีสิ่งมีชีวิตขึ้นมาได้ ถ้าสมมติเราไปเจอสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ที่อยู่ไกลออกไปพันล้านกิโลเมตร เราจะต้องเปลี่ยนความเข้าใจว่าชีวิตอื่นๆ ดำรงอยู่ได้อย่างไร
แต่อีกมุมหนึ่งที่เรามีตำแหน่งผู้พิทักษ์โลก ก็เพราะเรากลัวว่าเราจะเอาสิ่งที่เป็นอันตรายจากโลกไปอยู่บนนั้นโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้น ทริปที่จะไปสำรวจสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะต้องถูกฆ่าเชื้ออย่างเต็มที่ เพื่อที่เราจะไม่ไปแพร่พันธุ์เชื้อที่ไม่ปลอดภัยบนดาวอังคารหรือดาวเสาร์โดย สรุปได้ว่า มนุษย์มีอคติกับเอเลี่ยนค่อนข้างมาก ทั้งจากหนัง นิยายต่างๆ เวลาพูดถึงเอเลี่ยนก็ต้องมีรูปร่างเหมือนเรา มันเป็นอคติที่ถูกนำเสนอ แต่เชื่อว่าวันที่เราพบเอเลี่ยนชุดแรก เราก็จะต่อยอดไปอีกว่าอาจจะมีเอเลี่ยนที่คล้ายกับมนุษย์อยู่ แต่ด้วยเทคโนโลยีและความพยายามในปัจจุบัน เราอาจจะไม่เจอในเร็วๆ นี้
NASA ตั้ง ผอ.เพื่อดูการวิจัยเรื่อง UAP (UFO) โดยตรงขึ้นมา มีความเห็นอย่างไรกับการศึกษาประเด็นนี้อย่างจริงจัง
พอ NASA ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มันจะทำให้การศึกษา UFO เปลี่ยนไปเลย เพราะเมื่อก่อนจะเป็นเรื่องที่พูดกันในแค่กลุ่มทฤษฎีสมทบคิด เป็นบทสนทนาขำๆ อย่าง “เจอ UFO นะ” แล้วก็จบไป โดยเริ่มแรกเขาตั้งคณะกรรมการมาก่อนเพื่อดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร NASA จะทำอย่างไรเพื่อศึกษาให้ดียิ่งขึ้น เขาก็ทำข้อเสนอมาให้ พอได้ปุ๊บ NASA ก็ตัดสินใจตั้ง ผอ.เพื่อมาดูเลยว่าต้นกำเนิดของ UFO หรือ UAP เหล่านี้มาจากไหน
มันเป็นสิ่งที่อยู่บนโลกจริงๆ ไหม หรือมาจากนอกโลก หรือเป็นภัยความมั่นคงกับการบินหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในเควสของ NASA อย่าง A ตัวแรกก็หมายถึง Aeronautic หรืออากาศยานเรื่องการบิน ดังนั้น ทุนเดิมเขาต้องอยากรู้ว่าอยู่แล้วว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องบินพาณิชย์ เป็นหุ่นยนต์ตรวจอากาศ หรือเป็นเทคโนโลยีลับจากประเทศไหน หรือเป็นวัตถุอะไรจากนอกโลกหรือเปล่า พอเราเข้าใจมากยิ่งขึ้นในสิ่งที่เป็นความลับ ความเชื่อก็จะหมดไป มันจะกลายมาเป็นความเข้าใจว่า “อ้อ มันคือสิ่งนี้นะ” ทฤษฎีสมทบคิดเรื่อง UFO ก็จะซาลง
แล้วเหตุผลที่ NASA เพิ่งจะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมคิดว่า NASA มองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องหยิบมาพูด เป็นแค่เสียงของคนที่คิดทฤษฎีสมทบคิดขึ้นมา คิดว่าเราไม่จำเป็นต้องโต้แย้ง แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง คนเริ่มพูดเรื่อยๆ มันก็เลยกลายเป็นประเด็นที่ยิ่งถูกหยิบมาถกกัน ทั้งความลับ กองทัพแอบเก็บอะไรหรือเปล่า ยิ่งสหรัฐฯ ที่เพิ่งโดนสภาจี้ว่าคุณปิดบังข้อมูลไว้แน่ๆ ผมเลยคิดว่าพวกเขาเลยเลือกหาคำตอบแทนการบ่ายเบี่ยงเพราะน่าจะให้ประโยชน์มากกว่า และถ้ายิ่งมี UFO มาจากนอกโลกจริงๆ มันก็ทำให้เสียโอกาสสื่อสารกับพวกเขาก่อนด้วย ดังนั้น ด้วยหลายๆ องค์ประกอบเลยทำให้การพยายามออกมาหาคำตอบจริงๆ คุ้มค่ากว่าการที่จะพยายามปฏิเสธ
ประเด็นเกี่ยวกับดาราศาสตร์หลังจากนี้ มีอะไรที่น่าติดตามบ้าง
วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2023 NASA จะนำหินจากดาวเคราะห์น้อยกลับมาถึงโลกของเรา ซึ่งเป็นหินที่มีมาตั้งแต่ระบบสุริยะเพิ่งกำเนิดขึ้น เราจะได้ศึกษาว่าต้นกำเนิดของระบบสุริยะเป็นอย่างไร และก็ช่วงปีหน้าเราจะส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์ โดยเป็นความร่วมมือจากนานาประเทศ และอาจจะมีของไทยรวมอยู่ในนั้นด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์ที่อาจจะเกิดขึ้นคือการที่เอกชนเข้ามาร่วมวงในธุรกิจอวกาศ อย่างแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม อาจจะเข้ามาแตะประเด็นอวกาศมากขึ้น เช่น การออกสินค้าที่ใช้ได้ทั้งในโลกและนอกโลก
ในฐานะที่ชื่นชอบอวกาศ มีหนังหรือหนังสือเกี่ยวกับอวกาศเรื่องไหนที่ถูกใจเป็นพิเศษบ้าง
จริงๆ มีหลายเรื่องที่ชอบ แต่ถ้าล่าสุดที่ประทับใจ คือ The Moon ของเกาหลี สิ่งที่ชอบนอกจากเอฟเฟกต์ การเล่าเรื่องของเขาแล้วคือ เขาพยายามผลักดัน soft power ในด้านการไปอวกาศของเขา ถ้าฝั่งสหรัฐฯ ก็ Interstellar คิดว่าเป็นหนังระดับชั้นครูทั้งเรื่อง cinematography การเล่าเรื่อง และยังชอบ Fisrt Man ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับนิวอาร์ม สตรอง หรือ Apollo 13 ที่เล่าภารกิจไปดวงจันทร์ที่ไปเกิดระเบิดขึ้นระหว่างทาง ซึ่งผมมองว่าถ้าเล่าถึงหนัง ทุกเรื่องมีแง่มุมดีต่างกัน
มีอะไรที่อยากทิ้งท้ายอีกไหม
อยากให้มองว่า ดาราศาสตร์เป็นมากกว่าเรื่องของการดูดาว และไม่ใช่แค่การท่องจำอย่างเดียว มันคือทั้งหมดของเอกภพแห่งนี้ที่เราจะได้เห็นข้อมูลต่างๆ ที่เข้า ยังมีอะไรให้ติดตามได้ตลอดชีวิต และสิ่งที่เรารู้จากช่วงชีวิตของปัจจุบันมันจะถ่ายทอดให้แก่รุ่นถัดไป อย่างปัจจุบันก็ได้มาจากคนสมัยก่อน ซึ่งผมมองว่ามันคือศาสตร์ที่เรามองได้ไกลได้ เพราะเรายืนอยู่บนองค์ความรู้ที่ถูกส่งมอบกันมา ดังนั้น มันจะมีอะไรมากกว่าแค่สิ่งที่เราจะเคยรู้มาก่อนอย่างแน่นอน
เราเกิดช้าไปตอนที่มนุษย์ไปดวงจันทร์ครั้งแรก เกิดเร็วไปที่จะเห็นมนุษย์อยู่บนดาวหลายๆ ดวง แต่เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการอยู่แค่ในโลกของเราอย่างเดียวสู่การพยายามไปดาวอื่น
Proofreader: Jiratchaya Chaichumkhun
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
You might also like
Share this article