‘พริษฐ์’ ตั้งกระทู้สดถาม ‘ภูมิธรรม’ ขอความชัดเจนกรอบ คกก.ศึกษาแนวทางประชาชาติ ร่าง รธน.ใหม่ สสร.เลือกตั้ง 100% หรือไม่ หวั่นติดกระดุมเม็ดแรกผิด พร้อมแจงจุดยืนของพรรคไม่เข้าร่วม คกก. ด้านรองนายกฯ ยันตั้ง คกก.เป็นกระดุมเม็ดแรกที่ถูกต้อง ไม่ตอบชัด สสร.มาจากเลือกตั้งหรือไม่ แต่ให้ความมั่นใจทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ผ่านได้ไม่เกิน 4 ปี
5 ต.ค. 2566 ยูทูบ “TP Channel” ถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (5 ต.ค.) พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษก พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามสดต่อ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต่อกรณีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้ตอบยืนยันในหลักการสำคัญ
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถาม ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเกริ่นก่อนว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2566 พรรคเพื่อไทย ฉีก MOU เพื่อไปจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย จะเสนอจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่นัดแรก แต่ในการประชุม ครม.นัดแรก เมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลกลับ ‘ยูเทิร์น’ แทนที่จะเดินหน้าทำประชามติ เพื่อนำไปสู่การร่าง รธน.ฉบับใหม่ กลับเป็นการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญแทน ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเมื่อ 2 วันที่แล้ว (3 ต.ค.)
พริษฐ์ ระบุต่อว่า เขาไม่ติดใจถ้ารัฐบาลตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาศึกษาเพื่อความรอบคอบ แต่การศึกษา ควรศึกษาสิ่งที่ไม่เคยมีการศึกษามาก่อนแล้ว หรือสิ่งที่เคยถูกศึกษามาแล้ว แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
“ผมเลยมีความกังวลว่าคณะกรรมการศึกษาที่ท่านตั้งขึ้นมานั้น จะกลายเป็นกระบวนการศึกษาที่อาจจะเสียทั้งเวลาและงบประมาณเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น หรือหากจะโลกในแง่ร้าย ก็เสี่ยงที่จะถูกลบหลักการที่เคยเป็นข้อสรุปร่วมกันมาก่อนแล้ว” พริษฐ์ ระบุ
แนวทางแก้ไข รธน.ปี’60 ผ่าน 4 เหตุการณ์สำคัญ
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มีการศึกษา และถกเถียงร่วมกันมาโดยละเอียด ผ่านกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกันอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จนนำมาสู่ข้อสรุปที่หลายฝ่ายเคยเห็นตรงกันมาแล้ว โดยเขาขอฉายภาพว่า สังคมเคยได้ข้อสรุปอะไรกันแล้วบ้าง ผ่าน 4 เหตุการณ์
เหตุการณ์ที่ 1 โดยเริ่มจากในปี 2562 มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคในสภาฯ ณ เวลานั้น
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่ากรรมาธิการดังกล่าวใช้เวลา 8 เดือนในการศึกษาทุกมาตราของ รธน.ปี’60 โดยละเอียด และได้จัดทำสรุปออกมาเป็นรายงานจำนวนกว่า 500 หน้า โดยในหน้าที่ 122 มีการสนับสนุนการร่าง รธน.ใหม่ โดยผ่านระบบสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
ที่มา: ยูทูบ TP Channel
เหตุการณ์ที่ 2 เมื่อปี 2563-2564 สมาชิกรัฐสภาบางกลุ่มได้นำข้อสรุปจากรายงานของ กมธ.นั้น แปลออกมาเป็นการเสนอร่างแก้ไขของ รธน. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมี 2 ร่าง หรือ 2 ฉบับ ที่มีหลักการเดียวกัน คือมี สสร. ร่าง รธน.ฉบับใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 สมาชิกสภาฯ ได้รับหลักการทั้ง 2 ร่าง ด้วยคะแนนเห็นชอบ สูงถึง 88% และ 79% ตามลำดับ เมื่อเข้าสู่วาระที่ 2 สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เห็นชอบ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยพอดำเนินการโดยวาระที่ 3 เหตุผลที่ทำให้ร่าง รธน.ดังกล่าวตกไป ไม่ใช่เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ แต่เป็นเพราะสภา สว. เป็นผู้ปัดตก ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับหลักการ สสร. แต่เป็นเพราะไปอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ระบุว่าจะต้องจัดทำประชามติถามประชาชน ก่อนที่จะมีการเสนอร่างใดๆ เข้าสู่วาระที่ 1
ต่อมา เหตุการณ์ที่ 3 เมื่อร่าง สสร.ถูกปัดตก เพราะต้องทำประชามติก่อน เมื่อปี 2565 พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นญัตติเข้าสภาฯ เพื่อเสนอกลไก พ.ร.บ.จัดทำประชามติ เพื่อเสนอให้จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ด้วยคำถามที่ว่าเห็นชอบหรือไม่ ประเทศไทยควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
เมื่อมีการพิจารณาหรือลงมติข้อเสนอเกี่ยวกับคำถามประชามติดังกล่าวได้รับความ ‘เห็นชอบ’ เป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงจาก สส.ทุกพรรคที่เข้าประชุม และร่วมรัฐบาลอยู่ ณ เวลานี้ แม้ญัตติดังกล่าวถูกปัดตกไปเมื่อ 2566 แต่ก็ไม่มีคนหมดหวัง เพราะตามกลไกของ พ.ร.บ.ประชามติ เมื่อปี 2564 สว.สามารถปัดตกข้อเสนอประชามติที่เสนอโดย สส.ได้ แต่ สว.ไม่มีอำนาจปัดตกข้อเสนอประชามติ ที่เสนอโดย ครม.
พริษฐ์ ระบุต่อว่า เหตุการณ์ที่ 4 ช่วงการเลือกตั้ง 2566 หลายพรรค โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เลยประกาศว่า ถ้าเป็นรัฐบาล จะออกประชามติ และจัดทำเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทันที โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงของ สว.
พริษฐ์ กล่าวว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และมีอำนาจในการจัดทำประชามติ และนับหนึ่งไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่รัฐบาลกลับเลือกตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาก่อน
โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุ ที่ย้อนความมาทั้งหมด เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ต้องศึกษาแนวทางร่าง รธน.กันทั้งหมด แต่ทุกฝ่ายเคยได้ข้อสรุปรวมกันแล้ว ว่าต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราแทบทุกฝ่ายเคยเห็นตรงกันว่าต้องมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เราแทบทุกฝ่ายเคยได้สรุปกันมาแล้วว่า ต้องเริ่มต้นจากการทำประชามติ เราแทบทุกฝ่ายเคยได้ข้อสรุปเรื่องคำถามประชามติ ตอนนี้จึงไม่ใช่เวลาของการศึกษา แต่เป็นเวลาแห่งการตัดสินใจ ว่าท่านจะเดินหน้าต่ออย่างไร
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ขอถามชัดๆ ถึงรองนายกฯ ว่า ตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ เพื่ออะไร ศึกษาอะไร และอะไรจะยึดเป็นกรอบในการศึกษาหลักการของคณะกรรมการชุดนี้ ที่จะไม่ย้อนกลับไปศึกษารายละเอียดปลีกย่อยของข้อสรุปที่เคยมีข้อสรุปร่วมกันมาแล้ว
“แต่ท่านช่วยยืนยันได้หรือไม่ว่า ท่านไม่ได้ตั้งขึ้นมา เพราะว่าท่านไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าในจุดยืนเดิม แต่ท่านต้องการยืมมือคนอื่นมาสร้างความชอบธรรมให้ท่าน ในการยูเทิร์น อีกครั้งหนึ่ง เพื่อย้อนหลักการเดิมบางส่วนที่ท่านเคยยืนยัน และแทบทุกฝ่ายเคยได้ข้อสรุปร่วมกันไปแล้ว” พริษฐ์ กล่าว
‘ภูมิธรรม’ คาดแก้ รธน.สำเร็จใน 4 ปี
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการทำให้ปัญหาถูกดึงให้ล่าช้า แต่ต้องการทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้สำเร็จ ซึ่งจากการเสนอแก้ไขรัฐธรรรมนูญปี’60 ทั้ง 4 ครั้งและไม่สำเร็จ เนื่องจากคนในสังคมยังเห็นไม่ตรงกันโดยเฉพาะปัญหาสำคัญหลายเรื่อง
ภูมิธรรม ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญคาดว่าสำเร็จภายในระยะเวลา 4 ปี เราจะสามารถทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เกิดความเห็นชอบทุกฝ่ายทุกกลุ่มในสังคม
รองนายกรัฐมนตรี ระบุต่อว่า รัฐบาลคาดว่าจะทำได้ภายใน 3 ปีกว่า และแต่ละกระบวนการสามารถร่นระยะเวลาลงมาได้ อันนี้จะเป็นการหารือในคณะกรรมการศึกษาฯ จะต้องไปหาแนวทาง ทำยังไงที่จะให้การทำประชามติตามกฎหมายที่ว่าไว้ และตามข้อบังคับต่างๆ ที่มีอยู่ ให้เหลือน้อยที่สุด เพราะการทำประชามติครั้งหนึ่งต้องใช้เงิน 3-4 พันล้านบาท เพราะว่าการทำเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง ในเวลาอันใกล้ขนาดนี้ ไม่ควรจะต้องเสียเงินไปมากขนาดนั้น จึงพยายามหาลู่ทางว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากทำประชามติสัก 2 ครั้ง แต่ถ้าดูตาม กฎ ตามระเบียบ ตามที่พูด มันอาจจะต้องเป็น 3-4 ครั้งตามที่มีการตีความแตกต่างกัน รัฐบาลมุ่งมั่นอยากจะให้เสียค่าใช้จ่ายน้อย ทำประชามติให้ตอบสนอง มีส่วนร่วมจากทุกคน และแก้ไขความแตกต่าง
เราอยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำได้สำเร็จ ไม่เสนอขึ้นมา และตกไปเหมือน 4 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อต้องการทำให้สำเร็จ จึงต้องการจุดร่วมให้ดีที่สุด ในการทำให้เกิดประชาธิปไตยให้ดีที่สุด อันนี้เป็นเป้าหมายของรัฐบาล ในการทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
เว้นหมวด 1-2 อ้างประชาชนเห็นด้วยไม่ต้องแก้
ภูมิธรรม ระบุต่อว่า คิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญคือ ร่าง รธน.ใหม่ ยกเว้น หมวด 1-2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ คิดว่าประเด็นนี้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในสังคม จึงไม่คิดว่าต้องไปแตะต้อง และใช้เวลาที่เหลือพิจารณากฎข้อบังคับให้เป็นประชาธิปไตยใหม่ทั้งหมด ให้ได้ความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อ
ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม ระบุต่อว่า เรื่องการทำประชามติ เป็นไปได้จะทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะมีการทำอีกครั้ง ซึ่งต้องผ่านพรรคฝ่ายค้าน 20% ก็เราอยากให้รัฐธรรมนูญสำเร็จ อยากคุยกับฝ่ายค้านคุยกับพรรครัฐบาล คุยกับ สว. เพื่อให้ทั้งหมดได้ประสบความสำเร็จได้
ภูมิธรรม ยังระบุด้วยว่า ที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ก็เพราะการทำประชามติใหม่มีขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมาย เพื่อความรอบคอบจึงเสนอให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และได้มีความพยายามรวบรวมพรรคการเมืองทุกพรรคเข้ามาหาความเห็นแล้ว เสียดายที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เข้าร่วม แต่ก็เคารพในเหตุผลของพรรคก้าวไกล และแม้พรรคก้าวไกลจะยังไม่ได้เข้าร่วม แต่ก็จะยังมีการขอความเห็นจากพรรคก้าวไกล และนี่จะไม่ได้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดลง
‘พริษฐ์’ แจง 2 จุดยืนพรรค หวั่นเป็นตรายาง
ในรอบที่ 2 พริษฐ์ ชี้แจงเรื่องที่พรรคก้าวไกล ยังไม่ร่วมคณะกรรมการศึกษาฯ ในตอนนี้ เนื่องจากทางพรรคมี 2 จุดยืนที่ชัดเจนคือ การสนับสนุนการทำรัฐธรรมนูญใหม่แก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา และจัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชนทั้งหมด แม้จะเป็นกรอบกว้างๆ แต่มีความสำคัญกับการได้มาทั้งรัฐธรรมนูญ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย จึงขอยังไม่เข้าร่วม เนื่องจากเสี่ยงไปเป็นตรายางให้กับจุดยืนหลักของพรรคเรา แต่ทางพรรคยินดีมากที่จะให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอของพรรคต่อ คกก. ซึ่งเราเข้าใจการทำงานร่วมกัน
“เราเองก็เข้าใจความสำคัญของการทำงานร่วมกัน หากเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด แม้ว่าเราจะร่วมกันดีแค่ไหน ภาพตรงนั้นก็จะผิดเพี้ยนไป” พริษฐ์ กล่าว
พริษฐ์ กล่าวต่อว่าจะดีอย่างมากถ้ารองนายกฯ สามารถให้ความชัดเจนได้ใน 2 ประเด็นหลัก ที่ยังค้างคาใจอยู่ เราจะได้เดินหน้าผลักดันรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยร่วมกัน คือประเด็นแรก เว้นเรื่องหมวด 1 และ 2 แล้ว หมวดที่ 3 เป็นต้นไป จะเสนอแก้ไขได้ทั้งฉบับหรือไม่ โดยไม่มีการลดเป็นการแก้ไขรายมาตรา ยืนยันได้หรือไม่ว่าไม่มีการล็อกว่าประเทศนี้ต้องใช้ระบบรัฐสภาคู่ หรือสภาเดี่ยว ยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการล็อกจากองค์กรอิสระว่าแบบไหนทำได้หรือทำไม่ได้
พริษฐ์ ระบุต่อว่า ต่อมาคือเรื่องของการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ในส่วนของการไม่แก้ไข หมวด 1 และ 2 รองนายกฯ เคยชี้แจงแล้วและยืนยันอีกครั้งแล้วว่าจะล็อกไม่ให้มีการแก้ไข เนื่องจากประชาชนไม่อยากแก้ไข ตนคงไม่ตั้งคำถามว่าพิสูจน์ได้อย่างไร แต่อยากถามว่า หากประชาชนหรือบุคคลที่ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ประสงค์อยากแก้ไขข้อความในหมวด 1 หรือ 2 ที่ไม่ได้ไปกระทบต่อรูปแบบของรัฐ หรือกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะตอบพวกเขาอย่างไร ที่ห้ามแม้กระทั่งไม่ให้มีการเสนอความเห็นของเขา หรือเสนอการแก้ไขบางข้อความ
‘ภูมิธรรม’ ย้ำตั้ง คกก.เป็นกระดุมเม็ดแรกที่ถูกต้อง
ภูมิธรรม ระบุต่อว่าอยากแสดงความคิดเห็นซึ่งอาจจะแตกต่าง มองว่าสิ่งที่ทำตอนนี้เป็น “การติดกระดุมเม็ดแรก” ที่ถูกต้องแล้ว เพราะกระดุมเม็ดแรกคือกระดุมที่พยายามดึงทุกส่วนมาคุยยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
รองนายกฯ ระบุว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่าน 4 ครั้งแรก อาจจะเป็นเพราะว่าเรายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และกระดุมเม็ดแรกคือการตั้งคณะกรรมการ และพยายามรับฟังทุกส่วนอีกครั้ง เพื่อสรุป และคาดว่าไม่ใช้เวลานาน วางไว้ประมาณ 3 เดือน เพื่อหารือกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
ยืนยัน คกก.ไม่เป็นตรายาง
ประเด็นที่ 2 จะรับปากได้หรือไม่ ว่าคณะทำงานนี้จะไม่ได้เป็นตรายาง รัฐบาลรับรองด้วยเกียรติ และต้องให้เกียรติตัวแทนจากหลายส่วน และล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นทั้งอดีต กกต. อดีตคณบดี ผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ หรือผู้แทนวิชาชีพต่างๆ ทุกคนเข้ามาเพื่อดูว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และรายละเอียดเกี่ยวกับเขาอย่างไร ผมอยากให้มองให้ภาพมันกว้างขึ้น ยอมรับในความเห็นที่แตกต่างกัน ผมคิดว่าการจะให้เรารับรองสิ่งที่ท่านคิด และต้องดำเนินการ
ภูมิธรรม ย้ำว่า สิ่งที่ต้องทำในเชิงหลักการคือ เราต้องทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องทำตามจุดยืน 2 ข้อที่พรรคก้าวไกลเสนอ สิ่งที่เรากำลังทำขณะนี้คือการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดูจากความเป็นจริง และหาทาง เราอยู่ในสภา มันต้องการตกลงและทำความเข้าใจ เพราะทุกคนต่างมาจากคนละวิชาชีพ และคนละส่วน การที่ทำให้ทุกส่วนมาคุยกันเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขอุปสรรคที่เป็นปัญหาของประเทศ โดยไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ และตนเสียใจที่พรรคก้าวไกล ไม่เข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาฯ ที่จัดตั้งขึ้น
ภูมิธรรม ระบุต่อว่า คณะกรรมการฯ ถูกตั้งขึ้นเพื่อความโปร่งใส การเข้ามาของพรรคก้าวไกล น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนไม่ขัดข้อง และเชิญพรรคก้าวไกล หรือพรรคเล็กๆ อื่นๆ เข้ามาร่วมหารือต่อไป รวมถึงสื่อมวลชน หรือองค์กรภาครัฐทั้งหมด เปิดช่องทางให้แสดงความคิดเห็น
ภูมิธรรม ระบุต่อว่า การทำงานคณะกรรมการฯ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งการช้าไปแค่ 3 เดือน แต่ได้ความเห็นที่กว้างขวางขึ้น ตนว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า และถ้าเราทำตามจุดยืนของพรรคก้าวไกล พรรคอื่นๆ ก็จะตั้งคำถาม และจะเกิดเป็นความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น การหาจุดร่วม และพยายามผลักดันร่วมกัน จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด นั่นคือกระดุมเม็ดแรกของเรา เราจะทำให้มันได้ผล และ 4 ปีนี้ได้ผล เสนอแล้วต้องผ่าน ไม่ใช่พิจารณาแล้วตกไปเหมือนที่ผ่านมา
ถาม สสร. จากเลือกตั้ง 100% หรือไม่
พริษฐ์ กล่าวต่อว่า ชี้แจงเร็วๆ 2 ประเด็น ประเด็นเรื่องความกังวลของผมไม่ใช่เรื่องกรอบเวลาของคณะกรรมการศึกษาฯ แต่ที่ห่วงกังวล และยังไม่ได้รับคำตอบคือกรอบคิด หรือหลักการที่คณะกรรมการศีกษาฯ ยึดถือ
ประเด็นที่สองที่อยากจะชี้แจงคือความเห็นของประชาชน ที่อาจจะเหมือน หรือแตกต่างกัน จุดยืนของผม และพรรคก้าวไกล นี่เป็นเรื่องปกติที่จะต้องสอบถามก่อนตอบตกลงเข้าคณะกรรมการใดคณะกรรมการหนึ่ง หรือท้ายสุดแล้ว กรอบการทำงานขั้นพื้นฐาน หรือแนวคิดการทำงานที่คณะกรรมการศึกษาฯ จะยึดถือนั้นคืออะไร ผมถือว่ากระบวนการนี้เป็นการสอบถามด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้เป็นการไม่ให้เกียรติแต่อย่างใด เพื่อประกอบการตัดสินใจของพรรคก้าวไกล
สุดท้าย คือเรื่องจุดยืนพรรคก้าวไกล ต้องมาจาก ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% เราไม่ต้องการให้ สสร.ถูกผูกขาดโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เป็นกระจกที่สะท้อนความหลากหลายในสังคม ผมคิดว่าวิธีที่ตีที่สุดคือ ไม่ควรมี สสร.ที่มาจากการแต่งตั้ง เนื่องจากอาจจะสุ่มเสี่ยงถูกแทรกแซงจากภายนอก แต่การเลือกตั้ง จะทำให้ได้ตัวแทนมาจากประชาชนทุกชุดกลุ่มความคิดที่มีอยู่ในสังคม ตามสัดส่วนที่มีอยู่ในสังคม
พริษฐ์ ระบุต่อว่า สำหรับคนที่กังวลประเด็นที่ว่า การเลือกตั้ง สสร.ให้มาจากการเลือกตั้ง 100% อาจทำให้ไม่มีที่ยืนของผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายเลยหรือไม่นั้น ขอตอบว่า สสร.มาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ สสร. สามารถเปิดพื้นที่ตั้ง กมธ. เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายนั้น ที่อาจจะไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง เข้ามาเป็น กมธ. ให้คำแนะนำ หรือช่วยยกร่างได้ แต่การตัดสินใจต้องมาจาก สสร. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน
คำถามสุดท้าย สสร. ยืนยันว่ามาจากการเลือกตั้ง 100 % หรือ คกก.ชุดนี้จะมีการหารือรายละเอียดปลีกย่อย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสมาชิก กรอบระยะเวลาทำงาน หรือรูปแบบวิธีการเลือกตั้ง หรือ คกก.ชุดนี้มีอำนาจในการพิจารณาลดทอน สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ที่เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาเคยสนับสนุนก่อนหน้านี้ ให้กลายเป็น สสร. ที่มีส่วนผสมของการแต่งตั้ง
รองนายกฯ ตอบไม่ชัด สสร. 100% หรือไม่
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบว่า คณะรัฐมนตรีมีจุดมุ่งหมายในการร่างให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งตรงนี้เป็นความปรารถนาของรัฐบาล และจะมีทุกวิชาชีพเข้ามาให้ความเห็น ตั้งแต่เกษตรกร สื่อมวลชน หรือสมาคมหลายภาคส่วน ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะทำ จะทำให้ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยที่สุด และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาจากข้อบังคับตามกฎหมายทั้งหมด เพื่อทำให้ประเทศหลุดออกจากกรอบปัญหารัฐธรรมนูญปี 2560