พัฒนาการจราจรอากาศยานไร้คนขับด้วยระบบจัดการอัจฉริยะ จากทีมนักวิจัยไทยในงานสัปดาห์อวกาศแห่งชาติ
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เมื่อวันที่ 26 ต.ค.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัด Focus Group ในเรื่อง “การพัฒนาระบบจัดการจราจรอากาศยานไร้คนขับ หรือ Development of Unmanned Aircraft Traffic Management System: UTM” ครั้งที่ 4 ภายในงานงานสัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ปี 2566 – Thailand Space Week 2023 ณ ห้อง M110C ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ GISTDA กล่าวว่า การเติบโตของตลาดอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle, UAV) หรือ โดรน (Drone) มีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษที่ผ่านมา ระบบสำหรับบริหารจัดการที่รองรับระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial System, UAS) ที่มีจำนวนมากขึ้น มีภารกิจที่หลากหลายและเข้าถึงกลุ่มบุคคลได้หลากหลายเนื่องจากราคาสามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเทคโนโลยีปัจจุบันในการพัฒนาระบบการจัดการจราจรระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System Traffic Management system: UTM) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีทิศทางเติบโตควบคู่ขึ้นมากับขีดความสามารถทางด้าน ระบบควบคุมอัตโนมัติ การควบคุมหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีอวกาศ ปัจจุบันจึงมีการศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นในกลุ่มประเทศชั้นนำในหลายประเทศเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งานโดรน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป และ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ได้แก่ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ไม่เพียงเท่านั้นปัจจุบันประเทศไทยมีการนำ UAS มาใช้สนับสนุนกิจการหลายด้านอย่างแพร่หลายมากขึ้น และในปัจจุบันราคาอยู่ในระดับประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีการออกหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานไร้คนขับจากหน่วยงานที่กำกับดูแล ก่อให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา วิจัยและพัฒนาระบบ UTM ของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการลงทะเบียน การขออนุญาตทำการบิน ติดตามอากาศยานไร้คนขับเพื่อทราบตำแหน่งขณะทำการบิน โดยจุดประสงค์ของโครงการ คือ 1) การพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนและควบคุมการจราจรทางอากาศในการปฏิบัติการบิน (Unmanned Aircraft System Traffic Management: UTM) ที่มีความพร้อมสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้จริง และ 2) ระบบต้นแบบของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสื่อสารการเดินอากาศ (Communication), การนำร่องช่วยเดินอากาศ (Navigation), และการติดตามอากาศยานไร้คนขับ (Surveillance) บนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular) และโครงข่ายการสื่อสารผ่านดาวเทียม (Satellite) ที่มีความพร้อมสามารถนำไปใช้งานจริงในพื้นที่ที่ต้องมีการกำกับดูแลการจราจรทางอากาศเป็นพิเศษ
ดร.สิทธิพร กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการจัด Focus group ในครั้งนี้เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยการพัฒนาระบบ UTM และ โครงสร้างพื้นฐานฯ มาหารือและรับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมรวมถึงเอกชนผู้ที่ใช้งาน เพื่อให้ได้ ความต้องการที่เหมาะสมกับการใช้งานของประเทศไทย และมีการจัดทำทดสอบระบบ (demonstration) หลังจากที่มีการพัฒนาเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ มีสาระสำคัญดังนี้ คือ 1.) สรุปแนวทางการศึกษาวิจัยระบบ UTM และข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามที่กล่าวข้างต้น GISTDA จะกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบ UTM หรือ AMETHYST เป็น 4 ระดับรวมถึงจะทำการออกแบบขั้นตอนการดำเนินงาน โดยปัจจุบัน GISTDA พัฒนาขีดความสามารถของระบบ UTM ให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่การลงทะเบียนโดรนและผู้บังคับโดรน การขออนุญาตทำการบินในกรณีต่างๆ รวมไปถึงการไม่อนุญาตในเขตห้ามบิน และสามารถติดตามการบินของโดรนเมื่อทำการบิน ระบบถูกออกแบบให้เป็นการลงทะเบียนแบบ one-stop-services เพื่ออำนวยความสะดวกหน่วยงานกำกับให้สามารถควบคุมและติดตามได้อย่างมีสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกให้กับ operator หรือ ผู้ใช้งานโดรนตั้งแต่การลงทะเบียนจนไปถึงการขออนุญาตทำการบิน ตามข้อบังคับที่ออกมาในปัจจุบัน และ 2.) การดำเนินการทดสอบระบบ UTM ตามขีดความสามารถที่กล่าวมา โดยให้ผู้เข้าร่วม Focus group ในครั้งนี้เป็นผู้ดำเนินการลงทะเบียนตั้งแต่การลงทะเบียน จนถึงการขออนุญาตทำการบิน ซึ่งผลการทดสอบระบบสามารถรองรับตามที่ได้ออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทดสอบในครั้งถัดๆไป จะมีการทดสอบโครงสร้างพื้นฐานฯ ผนวกเข้ากับระบบ UTM และ จำลองสถานการณ์โดยใช้ โดรนบินจริง เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบสามารถรองรับและใช้งานได้จริง ซึ่งการออกแบบ วางโครงสร้าง และพัฒนาระบบ UTM จะมีบทบาทสำคัญในการบูรณาการอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพของเครื่องบินไร้คนขับในน่านฟ้าของประเทศ ช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และรับประกันว่าโดรนจะปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับวางไว้ GISTDAและกระทรวง อว. มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนชับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยต่อไป