สมาคมแพทย์สตรีฯ – สสส. สานพลัง 10 จังหวัดท้องวัยรุ่น นำร่องลงนามเสริมสร้างความเข้มแข็งงานป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่น ถอดบทเรียนตัวอย่างความสำเร็จสู่คู่มือปฏิบัติจริง มุ่งเป้าลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นไม่เกิน 15 ต่อพันภายในปี 2570
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 10 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง กาญจนบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตาก นครนายก แม่ฮ่องสอน ราชบุรี สระแก้ว และอุทัยธานี ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นประเด็นที่ สสส. ให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เนื่องจากก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตัวแม่วัยรุ่น
- ด้านร่างกาย
- สุขภาพจิต
- ความสมบูรณ์ของทารก
- ครอบครัวแม่วัยรุ่น
- เรื่องการเลี้ยงดู
- เศรษฐกิจครอบครัว
อีกทั้งยังก่อให้เกิดการสูญเสีย หรือรายได้ที่ลดลงของแม่วัยรุ่น จากรายงานวิเคราะห์ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และวิธีการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย ของ TDRI เมื่อปี 2564 ที่เป็นการประเมินความแตกต่างของรายได้ตลอดช่วงชีวิตของแม่วัยรุ่น เทียบกับวัยรุ่นที่ไม่ได้ตั้งครรภ์และเรียนต่อจนจบระดับการศึกษาตามที่วางแผนไว้ ได้ผลต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อยู่ที่ประมาณ 8.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5.1% ของ GDP และต้นทุนนี้จะมากขึ้นในประชากรรุ่นต่อไปหากไม่มีการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
“เราต้องพยายามช่วยกันลดจำนวนแม่วัยรุ่น และทำให้วัยรุ่นอยู่ในระบบการศึกษาและได้เรียนจนจบตามระดับการศึกษาที่ได้ตั้งใจไว้ โดยหากเป็นวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้วก็ควรต้องได้กลับไปเรียนในโรงเรียนเดิมจนจบการศึกษา เพื่อให้มีโอกาสทำงานและมีรายได้ที่เหมาะสม การดำเนินงานที่ผ่านมา สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด อีกทั้งร่วมผลักดัน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ควบคู่กับการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง แม้อัตราการคลอดของวัยรุ่นไทยจะลดลงแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เห็นชอบปรับค่าเป้าหมายใหม่ในการลดอัตราการคลอดของวัยรุ่น อายุ 15 – 19 ปี จากไม่เกิน 25 เป็น ไม่เกิน 15 ต่อประชากรหญิงอายุ 15 – 19 ปี 1,000 คน ภายในปี 2570 ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องเร่งให้เกิดขึ้นตามแผน” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า อุปสรรคในการแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่น ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับโรงเรียนด้วยหรือไม่ ดร.ชาติวุฒิ เสริมว่า โรงเรียนต้องปรับมายด์เซ็ทให้เห็นว่า คุณภาพชีวิตของแม่ท้องในวัยเรียนไปต่อได้ ต้นทุนชีวิตไม่เสีย การให้แม่ท้องในวัยเรียนได้ศึกษาต่อในโรงเรียน จะทำให้เด็กคนอื่นเห็นว่า คนที่ท้องต้องดูแลตัวเองอย่างไร ทำกิจกรรมสนุก ๆ ไม่ได้ ชีวิตยากขึ้น การให้เด็กที่ท้องยังอยู่ในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่จะทำให้เด็กคนอื่นรู้จักป้องกันตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญ ต้องทำให้เด็กที่ท้องรู้ว่า เด็กไม่ได้อ้างว้าง มีคนที่ช่วยเหลือได้ แต่กลไกสนับสนุนต้องดีพอ
เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาท้องวัยรุ่น ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งผลักดันการส่งเสริมการมีบุตรนั้น ดร.ชาติวุฒิ ให้ความเห็นว่า ต้องดูแลแม่วัยรุ่นที่กำลังท้องอยู่ ให้มีตัวช่วยในการเลี้ยงดูลูกได้อย่างมีคุณภาพ เช่น มีศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ให้คำแนะนำ หรือมีฮอทไลน์ที่เข้าถึงได้ คอยให้คำปรึกษา
“การเพิ่มประชากรเป็นโจทย์สำคัญ มีความจำเป็นที่ประเทศต้องมีประชากรเพิ่ม จึงต้องโฟกัสไปที่คุณแม่วัยรุ่นที่ท้องแล้วที่มีความพร้อม ให้ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีกระบวนการที่จะทำให้แม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ ส่งลูกเรียนได้ มีโภชนาการที่ดี กลับมาที่สวัสดิการสังคมที่ต้องเป็นมิตรกับคุณพ่อคุณแม่ที่ตั้งใจมีลูกเพื่อช่วยประเทศ แต่จะฝากความหวังที่การเพิ่มอย่างเดียวโดยไม่มีนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ ทุกหน่วยงานก็ต้องร่วมมือกัน” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
ด้าน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร อนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เสริมถึงปัญหาเด็กเกิดน้อยด้วยว่า ในเมื่อมีนโยบายที่รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย การยุติการตั้งครรภ์อาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะแนะนำ ขณะเดียวกันก็ต้องวิเคราะห์ปัญหาท้องวัยรุ่นด้วยว่า ทำไมเด็กจึงอยากยุติการตั้งครรภ์ แล้วแก้ปัญหา เช่น เด็กที่ท้องสามารถเรียนต่อได้ ไม่ต้องออกจากระบบการศึกษา มีสวัสดิการสังคมช่วยเหลือในการเลี้ยงลูก มีสวัสดิการดูแลทั้งแม่ทั้งลูกอย่างดี ส่งเสริมให้เด็กได้คลอดอย่างปลอดภัย มีการดูแล และเป็นกำลังสำคัญของประเทศได้
พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร ผู้รับผิดชอบโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศ ของสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรอิสระการกุศลจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตสตรี เด็กและผู้สูงอายุ มีสมาชิกแพทย์สตรีในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในปี 2559 สมาคมฯ ได้ทำโครงการจัดอบรมทักษะชีวิตและเพศวิถีศึกษาแนวใหม่ให้แก่นักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ร่วมกับสโมสรไลออนส์ และได้เข้าร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับจังหวัดนครสวรรค์ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นด้วยหลักคิด ‘วัยรุ่นต้องไม่ท้อง หากท้องต้องได้เรียน’ โดยมีฝ่ายการศึกษาเป็นผู้ประสานงานบูรณาการกับทุกภาคส่วน และ สสส. ให้การสนับสนุน
“จากการปรับเปลี่ยนเป้าหมายระดับชาติให้อัตราการคลอดของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เหลือ 15 ต่อ 1,000 ในปี 2570 เพื่อให้เป้าหมายที่ท้าทายอย่างมากนี้ประสบความสำเร็จ สสส. จึงสนับสนุนให้สมาคมฯ เข้ามามีบทบาทหนุนเสริมการทำงานของอนุกรรมการจังหวัด ในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศ โดยนำ Best practice ของจังหวัดต่าง ๆ ที่เคยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มาสรุปเป็นคู่มือปฏิบัติงาน สำหรับให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปปรับใช้เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งในการลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นในภาพรวมของประเทศโดยจะร่วมดำเนินการกับ 10 จังหวัดนำร่องท้องวัยรุ่นและได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้การตอบรับและร่วมลงนามความร่วมมือจึงเป็นที่มาของงานในวันนี้ หลังจากนี้จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อท้าทายในการทำงานของแต่ละจังหวัด เพื่อพัฒนาเป็นนโยบายและปฏิบัติการระดับพื้นที่ สื่อสารทำความเข้าใจ รวมทั้งนำคู่มือปฏิบัติงานไปเสริมเติมเต็มแผนปฏิบัติการ และแนวทางการหนุนเสริมจากสมาคมแพทย์สตรีฯ และหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักต่อไป” พญ.สมสิริ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรมอนามัยสอบถามแม่วัยรุ่น 16-17 ปี พบครึ่งหนึ่งตั้งใจปล่อยท้อง ส่วนสาเหตุต้องเก็บข้อมูลเพิ่ม!
ท้องในวัยรุ่น ‘ปัญหา’ ของวัยรุ่น หรือ ‘ปัญหา’ ของผู้ใหญ่?