เมื่อเร็วๆนี้ โครงการเพื่อสังคมจากโครงการพัฒน์ เพื่อแก้ปัญหา ปัจจัย 4+1 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และครูหรือบุคลากร ในโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ ของกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs กว่า 50 บริษัท ได้ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อแก้ปัญหาด้านการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา โดยโครงการเก็บเล็ก ผสานน้อย เป็นหนึ่งในโครงการของมูลนิธิดั่งพ่อสอน ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคม ที่ดูแลโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ มีนักเรียนไม่เกิน 40 คน ภายใต้การสนับสนุนปัจจัย 4+1ทั้ง เพื่อทำให้น้องๆ เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น โดยมีดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน
โดยดร.ภูธร กล่าวว่า ‘เก็บเล็ก ผสานน้อย” ว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาพบ และรับฟังโครงการจากความร่วมมือของกลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นโครงการ CSR ที่มีประโยชน์อย่างมาก ในฐานะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ดูแลรับผิดชอบโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้ง 5 โครงการที่กลุ่มภาคธุรกิจดำเนินการล้วนเป็นการช่วยเสริมการทำงานในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา ในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
“5โครงการ ในโครงการ เก็บเล็ก ผสานน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารกลางวัน ก่อร่างสร้างครัว เสื้อผ้า ตัดเสื้อน้องแต่พอตัว ยารักษาโรคที่มีการคืนห้องพยาบาลให้แก่นักเรียน ที่อยู่อาศัยการบูรณะอาคารเรียน และ และโครงการเกี่ยวกับครู ซึ่งเป็นปัจจัยที่ 5 ในการขับเคลื่อนทั้ง 4 ปัจจัย ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีการขาดแคลนครู โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนขยายโอกาส ที่มีประมาณ 4,000 กว่าโรง มีนักเรียน 1,700,000 กว่าคน และมีโรงเรียนขยายโอกาส 110 โรง ที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นโอกาสที่ดีด้านการศึกษาแก่เด็ก” ดร.ภูธร กล่าว
ด้านนายมนต์สุข ฐิตะฐาน เจ้าของแบรนด์ K.Smith & Partners ในฐานประธานโครงการ CSR เก็บเล็ก ผสานน้อย เล่าว่าโครงการCRS เก็บเล็ก ผสานน้อย เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs กว่า 50 บริษัท ที่ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็นหลักสำคัญในการดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งประกอบไปด้วย 5 โครงการCSR ย่อยที่ประกอบกันด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านอาหาร เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และครู บุคคลที่จะขับเคลื่อนปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน
หลังจากได้ดำเนินการมาหลายปี ได้มีการนำโมเดลต่างๆ ไปทดลองในโรงเรียน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่โรงเรียนในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต อย่าง ด้านอาหาร ‘โครงการก่อร่างสร้างครัว’ ซึ่งได้ใช้โมเดล ‘ปลูก ปรุง แปร แล้วเปลี่ยน’ ได้ร่วมกับโรงเรียนขนาดเล็กในการสร้างทดลองโมเดลดังกล่าว โดยให้นักเรียน คุณครู คนในชุมชน นักธุรกิจ และภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกัน และปีนี้ ได้ดำเนินโครงการ ‘เล่นได้ อร่อยด้วย’ สนับสนุนเรื่องอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มเติม
ต่อมา ด้านเครื่องนุ่งห่ม ‘โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว’ ได้มีการดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ออมชุด แก่โรงเรียนขนาดเล็ก ภายใต้คอนเซปต์การจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชุดนักเรียนอย่างยั่งยืน อีกทั้งมีการสนับสนุนสหกรณ์ร้านค้า และสหกรณ์การผลิต สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายให้แก่โรงเรียน โดยทีมงานได้เข้าไปร่วมกับโรงเรียน 2 โรง
ส่วนด้านที่อยู่อาศัย ‘โครงการปลูกโรงเรียน ตามใจผู้อยู่’ ได้น้อมนำโครงการพระดาบส มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างโรงเรียน ‘ช่างคิดส์ ช่างทำ”’ เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับงานช่างในพื้นที่ ต่อยอดด้านอาชีพ และดูแลโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งเริ่มด้วยช่างไม้ ได้มีการทดลองโมเดลในโรงเรียน และปีนี้มีกิจกรรมสร้างโต๊ะ ซึ่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน ด้วยความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้เกิดอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่โรงเรียน
ขณะที่ด้านยารักษาโรค ‘โครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล’ โดยได้สืบสานจากโครงการโรงเรียนคุณธรรม ด้วยมีความมุ่งมั่นที่จะปลูกฝังเยาวชน ให้เห็นถึงความสำคัญวัฒนธรรมดีงาน และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนนำความรู้ความสามารถมาช่วยเหลือสังคม โดยสร้างเวทีสำหรับเยาวชนขึ้น และให้นำความรู้ความสามารถของนักเรียนมาถ่ายทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่เด็กและเยาวชนรุ่นต่อไป ขณะเดียวกันได้นำรายได้กลับมาช่วยเหลือพัฒนาห้องพยาบาล และสุขภาพของนักเรียนต่อไป
และสุดท้ายซึ่งถือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทั้ง 4 ด้าน คือ ครู ‘โครงการอยู่ดีมีครู’ ได้นำโมเดล ‘ศิลป์ สาน สร้าง’ มาทำให้เกิดการจัดจ้างครู โดยโมเดลนี้ได้มาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดสกลนคร ซึ่งมุ่งหวังให้ชาวบ้านได้นำภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมมาสร้างสรรค์เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้นมา และนำรายได้มาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งที่ผ่านมา ได้ไปทำในโรงเรียนในจังหวัดปราจีนบุรี เป็นโรงเรียนต้นแบบ
“ปัญหาด้านการศึกษาของประเทศไทยนั้น กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีนโนยบายแก้ไขปัญหาที่ดีอยู่แล้ว ทั้ง 5 โครงการที่ดำเนินการนั้น ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหาในส่วนเล็กๆ ที่ภาคเอกชน พอจะทำได้ ซึ่งทุกโครงการต้องใช้เวลาในการเดินหน้า เพื่อให้เกิดผลสำเร็จต่อไป อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการคงไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โครงการนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนเพื่อลูกหลาน เพื่อสังคมต่อไปในอนาคต”นายมนต์สุข กล่าว
ทพญ.ลลิตา รัชกิจประการ ตัวแทนโครงการอยู่ดีมีครู เล่าว่า โครงการอยู่ดีมีครู เกิดจาก SME 6 ธุรกิจมารวมกลุ่มกันแก้ปัญหาขาดแคลนครู เพิ่มจำนวนครูในพื้นที่ขาดแคลน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้น เป้าหมายของโครงการอยู่ดีมีครู ไม่ใช่การบริจาคเงินให้แก่โรงเรียน แต่เป็นการนำรายได้ที่มาจากการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน คืนสู่ชุมชน และนำมาจ้างครู โดย2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการแก้ปัญหาระยะสั้น ในเรื่องจำนวนครูไม่พอ ผ่านการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากคนในชุมชนสู่ความยั่งยืน และในปี 2567 จะมีการสานต่อจัดทำโปรเจคดีๆ แก่ครูต่อไป
เช่นเดียวกับ น.ส.อรนาฎ พัฒนะกุลพงศ์ ตัวแทนจากโครงการตัดเสื้อน้อง แต่พอตัว เล่าว่าจากการดำเนินงานมา 2 ปี เกี่ยวกับการจัดทำสหกรณ์ออมชุด โดยแนะนำให้ทางโรงเรียนจัดตั้ง และมีผู้ประกอบการเข้าไปช่วยในการวัดขนาด วัดไซต์เพื่อตัดเสื้อนักเรียนให้พอดีกับเด็ก อีกทั้งมีการจัดกิจกรรม life skill ให้น้องๆ ได้ออกแบบผลงาน โดยมีการสอนทักษะให้แก่นักเรียนได้สร้างผลิตภัณฑ์ของตนเอง และมีการทดลองจัดจำหน่ายในตลาดกล้าคิด ซึ่งสิ่งที่ทำทั้งหมด เป็นการปลูกฝังแนวคิดให้เด็กๆ รู้จักแสวงหาโอกาส ให้สามารถก้าวสู่เส้นทางต่อไปได้ ไม่ใช่เพียงรอคอยโอกาสเท่านั้น แต่สามารถต่อยอดทักษะของตัวเอง
น.ส.จามรี กุลชนานนท์ ตัวแทนจากโครงการ คบเด็กสร้างโรงพยาบาล เล่าว่าโครงการริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561-ปัจจุบัน เป็นการรวมตัวของนักธุรกิจจิตอาสาที่เล็งเห็นถึงปัญหาของสาธารณสุขท้องถิ่นที่กระทบต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยเป้าหมายของโครงการ คือ ต้องการให้เด็กรู้มีจิตสาธารณะในการให้ ผ่านการเปิดเวทีให้แสดงความสามารถ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำรายได้กลับไปพัฒนาห้องพยาบาลในโรงเรียน และแก้ปัญหาสาธารณสุขท้องถิ่น ที่ผ่านมาได้รวบรวมเงินสมทบทุนสร้างอาคารศูนย์อุบัติเหตุ และขณะนี้ได้มีการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนทำกิจกรรม เพื่อที่จะระดมทุน สร้างห้องปลูกถ่ายไขกระดูก รพ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งตอนใช้เงิน 14 ล้านบาท ดังนั้นในปีหน้าจะมีการสานต่อการสร้างห้องปลูกถ่ายไขกระดูกต่อไป
นายนรินทร์ ธิราช ตัวแทนโครงการ ก่อร่างสร้างครัว เล่าว่า โครงการดังกล่าวเกี่ยวกับอาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าจะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ จึงได้ทำโมเดล‘ปลูก ปรุง แปร แล้วเปลี่ยน’ และได้มีการขยายกิจกรรม เล่นได้ อร่อยด้วย ผ่านการทำครัว ทำขนมร่วมกับเด็กๆรวมถึงมีการจัดทำผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างแบรนด์ โมเดลสร้างห้องครัวให้แก่โรงเรียน อย่างคิทเช่น คิดส์ช่วย ซึ่งปีต่อไป ก็จะขยายผลไปสู่โรงเรียนเครือข่าย โรงเรียนต้นแบบทุกภูมิภาค และโรงเรียนเครือข่ายทุกภูมิภาค
ตบท้ายด้วย นายเกริกวุฒิ จันทร์จรัส ตัวแทนจากโครงการ ปลูกโรงเรียนตามใจผู้อยู่ เล่าว่าโครงการเป็นการปรับสภาวะแวดล้อม อาคารเรียนโดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยให้แก่นักเรียน สร้างความยั่งยืน ให้โรงเรียนพึ่งพาตนเองได้ โดยโมเดลในการแก้ปัญหาจะมาจากคนในชุมชนร่วมด้วย อย่าง การทำผลิตภัณฑ์จากไม้เป็นโต๊ะ ได้มีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น และให้โรงเรียน ชุมชนร่วมกันสร้างสรรค์ จัดการประกวด เพื่อนำรายได้ไปจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ช่างคิด ช่างทำ ให้แก่เด็ก และในปีถัดไปจะขยายไปสู่โรงเรียนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม โครงการทั้ง 5 โครงการ เป็นความร่วมมือของภาคธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ในการพัฒนาระบบการศึกษา เด็ก ครู โรงเรียน และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งโครงการดังกล่าวได้สร้างสรรค์โมเดลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้เป็นต้นแบบ นำร่องใน 5 โรงเรียนแรก ก่อนจะนำไปสู่การขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ