อัดกลับ‘วิโรจน์’ ‘สิริพงศ์’ซัดจ้องแต่ด้อยค่าการศึกษาไทย
วันศุกร์ ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2567, 20.22 น.
จ้องแต่ด้อยค่าการศึกษาไทย! “สิริพงศ์”อัดกลับ”วิโรจน์” เอาความจริงครึ่งเดียวมาอภิปรายงบฯปี 67 ยันจัดสรรตามศักยภาพจังหวัด ไม่เกี่ยวจำนวน”ส.ส.ภท.”
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อตอบโต้การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในสัดส่วนงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณให้กับสถานอาชีวะสถานศึกษา ที่นายวิโรจน์ กล่าวหาว่า มี 7 ใน 8 สถานศึกษาที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด เป็นสถานอาชีวะศึกษาที่มี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ว่า ตรงนี้สะท้อนความไม่เข้าใจในการจัดทำงบประมาณในภาพรวม เพราะกระทรวงศึกษาธิการ มีขั้นตอนการของบประมาณที่แตกต่าง โดยแต่ละสถานศึกษา จะต้องเสนองบประมาณผ่านคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ขึ้นมาก่อน และการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ ก็ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น พร้อมยกตัวอย่างบางพื้นที่ เช่นใน จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากจะมี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ก็มี ส.ส.พรรคก้าวไกล ด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา มีสถานอาชีวะศึกษาที่เข้มแข็งมาก มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจยานยนต์ มีการลงนาม MOU ร่วมกับบริษัทยานยนต์ชั้นนำ หรือ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีอาชีวะศึกษาระบบทวิภาคีที่เข้มแข็งมาก สามารถสอนนักศึกษาไปเป็นแอร์โฮสเตท หรือช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน และสถานอาชีวะศึกษาที่ได้รับงบประมาณมาก ก็เป็นจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมากทั้งสิ้น เช่น จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกนายวิโรจน์อภิปรายพาดพิง ก็มีประชาการกว่า 1,500,000 คน และโรงเรียนอาชีวะศึกษา ก็มีจำนวนตามสัดส่วนประชากรของจังหวัด
นายสิริพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิโรจน์อภิปรายถึงผลคะแนน PISA ของนักเรียนไทย ว่า การอภิปรายของนายวิโรจน์นั้น ก็ได้ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะคะแนนค่าเฉลี่ยที่นายวิโรจน์นำมาเทียบนั้น ได้นำคะแนนในกลุ่มโรงเรียนสาธิต มีคะแนนสูงกว่าสิงคโปร์ ซึ่งก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะนายวิโรจน์พยายามกล่าวอ้างว่า กลุ่มโรงเรียนสาธิตจัดการเรียนการสอนได้ดีกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงโรงเรียนในกลุ่มวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ หรือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ก็สามารถทำคะแนนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสิงคโปร์เช่นเดียวกัน
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า นายวิโรจน์พยายามด้อยค่าการศึกษาไทยด้วยการระบุว่า หลักสูตรล้าสมัย ก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะหลักสูตรแกนกลางนั้น ก็ล้วนเป็นวิชาที่มีความสำคัญในการเรียน แต่การล้าสมัย หรือไม่ล้าสมัย ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการเรียนการสอน ของแต่ละสถาบันการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดกว้างให้แต่ละสถานศึกษา สามารถจัดการเรียนการสอนของตนเองได้ ส่วนที่พาดพิงถึงโรงเรียน/สถานศึกษาขนาดเล็ก พร้อมกล่าวหาว่า เป็นภาระทางงบประมาณมีปัญหา จึงขอให้นายวิโรจน์ชี้แจงให้ชัดเจนว่า นายวิโรจน์มีแนวคิดจะยุบสถานศึกษาขาดเล็กหรือไม่ แต่กระทรวงศึกษาธิการ ในยุคของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เข้าใจดีกว่า แม้การยุบโรงเรียนขนาดเล็กจะช่วยลดภาระได้ แต่จะกระทบต่อชุมชนจำนวนมาก กระทรวงศึกษาธิการจึงพยายามเพิ่มโรงเรียนคุณภาพในระดับตำบล และอำเภอ เพื่อเปิดทางเลือก และเตรียมสถานศึกษาให้กับเยาวชนที่สมัครใจย้ายก่อน ดีกว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนไม่ทราบว่า จะต้องไปศึกษาต่อที่สถาบันใด
นายสิริพงศ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่นายวิโรจน์ อภิปรายโจมตีงบประมาณดำเนินงานและรายจ่ายอื่นๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ และยังนำไปเปรียบเทียบกับกระทรวงสาธารณสุขนั้น บริบททั้ง 2 กระทรวงมีความแตกต่างกัน จึงสะท้อนว่า ข้อมูลการอภิปรายยังคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงมากและขอวิงวอนให้นายวิโรจน์ นำข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนมาประกอบการทำหน้าที่พิจารณางบประมาณด้วย ส่วนที่กล่าวหากระทรวงศึกษาธิการในยุค พล.ต.อ.เพิ่มพูน แต่การศึกษากลับถดถอยว่า เรื่องดังกล่าว ไม่ได้สำคัญว่า รมว.ศึกษาธิการ จะชื่ออะไร แต่สิ่งสำคัญที่สามารถเห็นได้จากนโยบายทางการศึกษาของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน คือ รู้ปัญหาจริง และมีแนวคิดแก้ปัญหาการศึกษาอย่างยั่งยืนมากกว่า
– 006