เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 18:28 น.
“…แม้ว่าดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมตามมติ ก.พ. แล้ว พบว่าเป็นความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ก็ย่อมไม่สามารถลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ เนื่องจากนางสาว ศ. ได้ออกจากราชการไปเกินสามปีแล้ว ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3)ฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษายังคงต้องดำเนินการตามมติ ก.พ. ดังกล่าวหรือไม่…”
นางสาว ศ. อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่ถูกลงโทษให้ปลดออกจากราชการไปแล้ว จากการลงนามในสัญญาจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษาตามโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง 2555 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และสัญญาจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษาตามโครงการจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 รวมจำนวน 21 ฉบับ โดยมีการกำหนดอัตราค่าปรับรายวันในสัญญาไว้แตกต่างกันแบ่งเป็นอัตราร้อยละ 0.2 จำนวน 6 ฉบับ และอัตราร้อยละ 0.02 จำนวน 15 ฉบับ ซึ่งเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุผล ไม่คำนึงถึงราคาและลักษณะของครุภัณฑ์ ทั้งที่เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์ในโครงการเดียวกันและในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
กำลังจะถูกสอบสวนความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตเพิ่ม แม้ว่าจะได้ออกจากราชการไปเกินสามปีแล้ว
หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นชี้ขาดทางกฎหมายว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ควรดำเนินการสอบสวนความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตเพิ่ม แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่ สนับสนุนข้อกล่าวหาในฐานความผิดดังกล่าวให้นางสาว ศ. ทราบและให้โอกาสในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยให้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และเมื่อได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.พ ต่อไป
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้มีหนังสือ ลับ ที่ ศธ 0304/260 ลงวันที่ 22 มกราคม 2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ดังนี้
1. อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 ได้มีมติให้ลงโทษปลดนางสาว ศ. อดีตข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา สังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ออกจากราชการ ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนในความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) ประกอบกับมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
ตามมูลกรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เนื่องจากได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษาตามโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง 2555 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และสัญญาจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษาตามโครงการจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 รวมจำนวน 21 ฉบับ โดยมีการกำหนดอัตราค่าปรับรายวันในสัญญาไว้แตกต่างกันแบ่งเป็นอัตราร้อยละ 0.2 จำนวน 6 ฉบับ และอัตราร้อยละ 0.02 จำนวน 15 ฉบับ ซึ่งเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุผล ไม่คำนึงถึงราคาและลักษณะของครุภัณฑ์ ทั้งที่เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์ในโครงการเดียวกันและในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
โดยข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าว ส่งผลให้เมื่อมีการเรียกค่าปรับในสัญญาจำนวน 4 ฉบับ ที่กำหนดค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.02 ทำให้มีความเสียหายในส่วนต่างเป็นเงินจำนวน 6,866,256.74 บาท
2. กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่ง ลับ ที่ สกศ. 74/2562 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ลงโทษปลดนางสาว ศ. ออกจากราชการ ในฐานความผิดดังกล่าว ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2557
3. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0301/668 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 หนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0301/1249 ลงวันที่ 26 เมษายน 2562 และหนังสือ ที่ ศธ 0301/3341 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ถึงสำนักงาน ก.พ. รายงานการลงโทษปลดนางสาว ศ. ออกจากราชการ ตามมติ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ ต่อ ก.พ. เพื่อพิจารณาตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ
4. สำนักงาน ก.พ. มีหนังสือ ลับ ที่ นร 1011/ล 192 ลงวันที่ 20 เมษายน 2566 ถึงสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สรุปความได้ว่า ก.พ. พิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของนางสาว ศ. ที่กำหนดอัตราค่าปรับในสัญญาแตกต่างกันโดยไม่ปรากฎเหตุผลใด ๆ อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่คู่สัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวจึงอาจเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ
แต่โดยที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่า นางสาว ศ. มีเหตุผลใดในการใช้ดุลพินิจกำหนดอัตราค่าปรับให้แตกต่างกันประกอบกับคณะกรรมการสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต
จึงเห็นควรให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่ สนับสนุนข้อกล่าวหาในฐานความผิดดังกล่าวให้นางสาว ศ. ทราบ และให้โอกาสในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยให้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและเมื่อได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.พ ต่อไป
5. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีหนังสือ ลับ ที่ ศธ 0304/3422 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ถึงสำนักงาน ก.พ. ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการในชั้นการพิจารณาของ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งมีความเห็นว่า หากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม และพบความผิดตามข้อกล่าวหา ย่อมไม่สามารถลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ ตามมาตรา 100แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เนื่องจากนางสาว ศ. ได้ออกจากราชการไปเกินสามปีแล้ว
6. สำนักงาน ก.พ. มีหนังสือ ลับ ที่ นร 1011/ล 736 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ถึงสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สรุปความได้ว่า ก.พ. พิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีการตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 103 เมื่อองค์กรตรวจสอบพิจารณามีมติเป็นประการใดแล้ว ผู้บังคับบัญชาก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น โดยกรณีนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 100
ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงต้องดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมตามมติ ก.พ. ดังกล่าวและเมื่อดำเนินการครบถ้วนแล้วให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.พ. ต่อไป
7. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติ ก.พ. ดังนี้
7.1 ในกรณีที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้ว่าดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมตามมติ ก.พ. แล้ว พบว่าเป็นความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ก็ย่อมไม่สามารถลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ เนื่องจากนางสาว ศ. ได้ออกจากราชการไปเกินสามปีแล้ว ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3)ฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษายังคงต้องดำเนินการตามมติ ก.พ. ดังกล่าวหรือไม่
7.2 มาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ มีขอบเขตการบังคับใช้ครอบคลุมถึงกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า หากดำเนินการสอบสวนตามมติ ก.พ. แล้วก็ไม่สามารถลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่โดยที่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ สมควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการประชุมของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 และคณะที่ 2) เพื่อประชุมหารือร่วมกันเป็นพิเศษ
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.) และผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่ากรณีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยและการสั่งหรือการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามมติ ก.พ. อันเนื่องมาจากการตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาการสั่งลงโทษทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 100 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 หรือไม่ และมีความเห็นว่าในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการพลเรือนสามัญนั้น บทบัญญัติหมวด 7 การดำเนินการทางวินัย แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการพลเรือนสามัญในแต่ละขั้นตอนไว้ โดยมาตรา 100 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาเป็นการเฉพาะสำหรับการดำเนินการของผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัย
กรณีการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งออกจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตายก่อนมีคำสั่งลงโทษทางวินัย ซึ่งมาตรา 100 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาดำเนินการทางวินัยหรือสั่งลงโทษต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ โดยต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
แต่หากเป็นการกล่าวหาหลังจากที่ข้าราชการพลเรือนสามัญได้ออกจากราชการแล้ว ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
ส่วนมาตรา 103 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดขั้นตอนการรายงานและการตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยโดย อ.ก.พ. กระทรวงหรือ ก.พ. ในฐานะองค์กรตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัย ภายหลังจากผู้บังคับบัญชาได้สั่งลงโทษทางวินัย สั่งยุติเรื่อง หรือสั่งงดโทษแล้วซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยขององค์กรดังกล่าว รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้การตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยขององค์กรดังกล่าวและการสั่งหรือการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามมติ อ.ก.พ. กระทรวงหรือ ก.พ.ต้องอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 100 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ดังนั้น การตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยและการสั่งหรือการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ ก.พ. มีมติตามมาตรา 103 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับกรอบระยะเวลาการดำเนินการทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 100 วรรคหนึ่งและวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
เมื่อข้อเท็จจริงตามข้อหารือนี้ปรากฎว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รายงานการลงโทษปลดนางสาว ศ. อดีตข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา ออกจากราชการ ไปยัง ก.พ. เพื่อพิจารณาตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ และ ก.พ. ได้พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนางสาว ศ. อาจเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ
แต่โดยที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่า นางสาว ศ. มีเหตุผลใดในการใช้ดุลพินิจเพื่อกำหนดอัตราค่าปรับในสัญญาที่แตกต่างกัน
ประกอบกับคณะกรรมการสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต
จึงเห็นควรให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมโดยแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่ สนับสนุนข้อกล่าวหาในฐานความผิดดังกล่าวให้นางสาว ศ. ทราบและให้โอกาสในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยให้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และเมื่อได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.พ ต่อไป
กรณีจึงเห็นได้ว่า มติ ก.พ. ตามข้อหารือนี้ เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 103 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ในการตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยภายหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยตามมติ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อให้ ก.พ. มีข้อมูลที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาความถูกต้องและความเหมาะสมของการดำเนินการทางวินัยดังกล่าว อย่างครบถ้วน จึงเป็นคนละขั้นตอนกับการดำเนินการตามมาตรา 100 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ดังนั้น เมื่อมาตรา 103 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งลงโทษทางวินัยตามมติ อ.ก.พ. กระทรวง และรายงาน ก.พ. แล้ว หาก ก.พ. เห็นว่าการดำเนินการทางวินัยไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม กับมีมติเป็นประการใดแล้วผู้บังคับบัญชาต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปที่ ก.พ. มีมติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.พ. ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในการเผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายกรณีนี้ ของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้เปิดเผยชื่อเต็ม อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่ถูกลงโทษให้ปลดออกจากราชการไปแล้วดังกล่าว
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์
อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2562 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เคยเปิดเผยข้อมูลการปะชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประชุมได้พิจารณาการสอบสวนวินัยร้ายแรง น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กรณีถูก กล่าวหาว่าทำสัญญากำหนดค่าปรับในสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์อาชีวศึกษา โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ที่แตกต่างกัน โดยบางฉบับกำหนดค่าปรับร้อยละ 0.2 ขณะที่บางฉบับกำหนด 0.02 ทั้งที่เป็นการจัดซื้อในคราวเดียวกัน
โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาอย่างรอบด้านได้ข้อสรุปว่า น.ส.ศศิธาราไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและระเบียบของราชการ ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง จึงมีมติให้ปลด น.ส.ศศิธาราออกจากราชการ
ขณะที่ในการสอบสวนครั้งใหม่นี้ ยังไม่ได้มีการสรุปผลการสอบสวน ว่า น.ส.ศศิธารา เรื่องความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต น.ส.ศศิธารา ยังมีสิทธิ์ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้
ทั้งนี้ นอกจากกรณีนี้แล้ว น.ส.ศศิธารา ยังปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง (SP.2)ประจำปีงบประมาณ 2553-2555 พร้อมกับนางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพวก ด้วย
- อีก 2 ชื่อ! ‘สุทธิชัย’ ผช.เลขาฯ นริศรา-‘ศศิธารา’ เลขาฯ กอศ. โดนชี้มูลคดีไทยเข้มแข็งด้วย