อพวช. ร่วมมือ มทส. พัฒนา “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช” แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของภาคอีสาน
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เปิดตัวแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช” ณ อุทยานการเรียนรู้สิรินธร เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เพื่อมุ่งเน้นการสร้างเสริมประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชน ในด้านอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการเรียนรู้ทักษะสู่อาชีพแห่งอนาคต โดยผ่านนิทรรศการสื่อสัมผัส และกิจกรรมที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย ชูเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนแห่งใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ และ โฆษกกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีนโยบายสร้างคนและบุคลากรในทุกช่วงวัย โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตในการใช้วิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต ส่วนสำคัญที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้เกิดขึ้นจริงคือ “เยาวชน” ดังนั้น เราในฐานะหน่วยงานภาครัฐต้องผลักดันศักยภาพของเยาวชนไทย โดยผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งให้ความรู้และความเข้าใจในด้านอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจ และพัฒนาทักษะให้กับเยาวชนสู่อาชีพสะเต็ม โดยการเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตามภูมิภาคทั่วประเทศ ที่พร้อมจะสร้างและพัฒนาคนที่มีคุณภาพสู่ศตวรรษที่ 21 รวมทั้งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและประชาชนเห็นถึงประโยชน์จากการวิจัย ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอด หรือ ประยุกต์ได้ โดยพร้อมที่จะปรับตัว และรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ทั้งยังแสดงถึงบทบาทของนักวิจัยไทยที่จะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนและสังคมในอนาคตอีกด้วย”
นายสุรวงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “อพวช. มีภารกิจในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย และเป็น แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เข้าชมสามารถมาเรียนรู้และค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง โดยปัจจุบันเราเปิดให้บริการ 4 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ที่ คลองห้า ปทุมธานี และ 2 แหล่งเรียนรู้ ได้แก่ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา” กรุงเทพฯ และ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถือเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อพวช. ยังได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่เยาวชนและประชาชน เดินหน้าขับเคลื่อนขยายโอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียนไปสู่ระดับภูมิภาคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและเข้าถึงเยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ จึงได้พัฒนาและเปิดแหล่งเรียนรู้ แห่งใหม่ ในชื่อ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช” ณ อุทยานการเรียนรู้สิรินธร เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ขึ้น”
สำหรับ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช” ถือเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชน ภายใต้แนวคิด Explore , Enjoy and Inspire โดยให้ผู้ชมเรียนรู้อาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจ พัฒนาทักษะสู่อาชีพแห่งอนาคต ผ่านนิทรรศการ สื่อสัมผัส และกิจกรรมที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย โดยในส่วนนิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 3 โซน ดังนี้
โซนที่ 1 Transportation and Logistics Technology
พบกับ 2 อาชีพ ที่ตอบสนองการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตด้านเทคโนโลยีการขนส่ง ถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจในการตอบสนองความต้องการของกระแสโลกที่หมุนไปเร็วขึ้นทุกวัน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่ง ของฟันเฟืองในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าพัฒนาประเทศ ได้แก่
1. วิศวกรระบบราง (Railway Systems Engineering)
2. วิศวกรโลจิสติกส์ (Logistics Engineering)
โซนที่ 2 Smart Farm Technology
มาเรียนรู้ 4 อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมในยุค 4.0 โดยการนำนวัตกรรมมาใช้ในการเกษตร การเพิ่มผลผลิต หรือแม้แต่พัฒนาคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่จะช่วยผลักดันประเทศให้เกิดการพัฒนามากขึ้นในการก้าวเข้าสู่เกษตร 4.0 ได้แก่
1. นักอนุกรมวิธาน (Taxonomist)
2. นักปรับปรุงพันธุ์ (Breeder)
3. วิศวกรการเกษตร (Agricultural Engineering)
4. นักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology Researcher)
โซนที่ 3 Biomedical Technology
เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การดูแลสุขภาพถือเป็นสิ่งที่สำคัญ พบกับ 3 อาชีพที่จะมารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตด้านการแพทย์ เพื่อตอบสนองนโยบายการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รองรับการขยายตัวของกลุ่มสินค้าและธุรกิจบริการสุขภาพ และถือเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศ รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ
1. วิศวกรชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering)
2. นักเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-Aging and Regenerative Medicine)
3. นักเวชศาสตร์เครื่องสำอาง (Cosmetic Science)
นอกจากนิทรรศการที่น่าสนใจ ยังมีส่วนกิจกรรมการทดลองแสนสนุกด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่
– กิจกรรม Inspire Lab พบกับการทดลองที่ผู้ทดลองจะได้เห็นผลด้วยตัวเองตามกระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยปลูกฝังกระบวนการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และฝึกทักษะพื้นฐานการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์
– กิจกรรม Innovation Space พื้นที่สำหรับสร้างสิ่งประดิษฐ์ด้วยตนเอง เน้นการแก้ปัญหาตามที่โจทย์กำหนด เรียนรู้จากการลงมือทำเพื่อเสริมสร้างทักษะการเป็นนักประดิษฐ์ สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ขั้นพื้นฐาน และพัฒนาต่อยอดความคิดไปสู่นวัตกรรมที่ พร้อมผ่านกระบวนการทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) ที่เชื่อมโยงกับอาชีพวิทยาศาสตร์
นายสุวรงค์ ฯ กล่าวเพิ่มเติม “อพวช. หวังว่าแหล่งเรียนรู้แห่งนี้จะช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาและ ลดความเหลื่อมล้ำให้กับเยาวชนในภูมิภาคของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปรียบเสมือนเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต รวมทั้งเป็นสถานที่ที่จะสร้างความสุขสนุกสนานให้กับทุก ๆ คนในครอบครัวในการได้เล่น เรียนรู้ และได้ใช้เวลาร่วมกันได้อย่างดี”
“จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช” เปิดให้บริการทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : NSMScienceSquareKorat และสอบถามหรือจองเข้าชม โทร. 0 4422 5098
นอกจากการเปิดแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่แล้ว อพวช. ยังได้ส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้แก่ชุมชนท้องถิ่นภาคอีสาน ในการร่วมกันอนุรักษ์และเห็นคุณค่าทรัพยากรท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น พร้อมเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนนำไปสู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จ.นครราชสีมา โดยมีนักวิชาการของ อพวช. ลงพื้นที่ไปยังสถานีวิจัยฯ สะแกราช เพื่อศึกษาและทำงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
หนึ่งในนักวิชาการของ อพวช. ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการ 8 กองวิชาการสัตววิทยา สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ผู้อยู่เบื้องหลังงานงานวิจัยที่สร้างผลงานโดดเด่นอย่างการค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกมามากมาย รวมถึงการค้นพบ “มดอาจารย์รวิน” ซึ่งถือเป็นการค้นพบมดชนิดใหม่ของโลก ที่นับเป็นสมบัติอันมีค่าของประเทศ บ่งชี้ถึงดัชนีของความอุดมสมบูรณ์บนผืนป่าในภาคอีสานของประเทศไทย ซึ่งได้ถูกค้นพบที่สถานีวิจัยฯ สะแกราช เผยว่า “ทีมนักวิจัยของ อพวช. ได้ทุ่มเทในการศึกษาวิจัยงานด้านธรรมชาติวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพมาอย่างจริงจัง ซึ่งมีเป้าหมายและแนวความคิดในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาใช้พัฒนา ต่อยอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ไปยังประชาชนในสังคมหวังจะสร้างสังคมให้มีตระหนักและความเข้าใจการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติต้องรู้จักอาศัยเกื้อกูลกันซึ่งและกัน ในการร่วมกันอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรของประเทศให้คงอยู่ได้อย่างยาวนาน ที่สำคัญยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายหลายชนิดที่เรายังไม่รู้จัก และกำลังจะสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะค้นพบ สืบเนื่องจากการที่ถิ่นอาศัยถูกคุกคามโดยกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ดังนั้น ก่อนที่พืชหรือสัตว์เหล่านี้จะสูญหายไปเราจำเป็นต้องช่วยกันศึกษาและรักษาทรัพยากรธรรมชาติของเราอย่างจริงจัง และงานวิจัยเหล่านี้จะสามารถเป็นจุดเปลี่ยนให้กับเยาวชน และประชาชนได้หันมาสนใจเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม และถือเป็นก้าวเล็กๆ ให้คนหันกลับมามองเห็นคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่นกันมากยิ่งขึ้น”
อพวช. จะมุ่งมั่นและผลักดันการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ว่ามีความสำคัญต่อการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และการคงอยู่ของโลกเรา ถือเป็นโมเดลสำคัญสู่ท้องถิ่นที่จะนำพาประเทศของเราไปสู่อนาคตอันยั่งยืนต่อไป